คนทำหนัง-เพลงชื่อดัง ตบเท้าสร้างสื่อต้านโกง หวังเพาะเมล็ดพันธุ์เยาวชนดี
บอย โกสิยพงษ์-จีทีเอช ร่วมโครงการโตไปไม่โกง ผลิตการ์ตูนแอนิเมชั่น-หนังสั้น-เพลง หวังปลูกฝังเด็กต้านโกง ด้านเยาวชนหวั่นนักการเมืองเบียดบังภาษีการศึกษา เข้ากระเป๋าตัวเอง
เมื่อเร็วๆ นี้ ภายในงาน โครงการกรุงเทพเมืองสีขาว "หลักสูตรโตไปไม่โกง" ที่จัดโดย กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย ณ อินฟินิซิตี้ฮอล์ พารากอนซีนีเพล็กซ์ สยามพารากอน ซึ่งจากเดิมเริ่มหลักสูตรมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อปลุกกระแสและปลูกฝังค่านิยมในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้แก่เด็กและเยาวชนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ขณะนี้ได้ขยายการปลูกฝังผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ ทั้งภาพยนตร์การ์ตูนแอนิเมชั่น ภาพยนตร์สั้นและบทเพลง โดยมีกลุ่มบริษัทดนตรีและภาพยนตร์ชื่อดังเข้าร่วมในโครงการคับคั่ง
นายชีวิน โกสิยพงษ์ หรือ "บอย โกสิยพงษ์" นักร้องและนักแต่งเพลงชื่อดังค่ายเลิฟอีส ในฐานะประธานคณะผู้บริหารด้านวิสัยทัศน์งานครีเอทีฟ บริษัทบี บอยด์ ซีจี จำกัด ในกลุ่มทรู กล่าวว่า ตนได้มาร่วมสร้างภาพยนตร์การ์ตูนกับโครงการโตไปไม่โกง ในแบบแอนิเมชั่น ชื่อเรื่อง "ป๊ะป๋าแพนด้า ครอบครัวตัวป่วน" ที่นอกเหนือจากความสนุกสนานที่เด็กๆ จะได้รับแล้ว ได้สอดแทรกข้อคิดที่ดี เปรียบเทียบให้เห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจนระหว่าง 'คนดี' และ 'คนโกง' พร้อมปลูกจิตสำนึกให้เป็นคนซื่อสัตย์ กล้าหาญและไม่นิ่งเฉยต่อความไม่ถูกต้องทั้งปวง ซึ่งจะนำเสนอทั้งเป็นเรื่องยาวสำหรับฉายในโรงภาพยนตร์และรูปแบบทีวีซีรีย์เพื่อเผยแพร่ในฟรีทีวีและเคเบิลทีวี
ในฐานะคนทำเพลง "บอย โกสิยพงษ์" มองว่า เพลง เป็นอาหารทางจิตวิญญาณ ฉะนั้น การที่นักดนตรี นักทำเพลงจะเข้ามาร่วมมือ หรือมีส่วนร่วมในงานต่อต้านคอร์รัปชั่นได้ก็ต้องผลิตอาหารทางจิตวิญญาณที่ทำให้คนฟังเพลงฟังแล้วได้แง่คิดและนำไปปฏิบัติตาม โดยที่การปลูกฝังกับเด็กๆ เป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้น ในโครงการโตไปไม่โกง ทั้งเพลงและสื่อที่ตนสามารถทำได้ จึงได้ดึงแก่นของหลักสูตรโตไปไม่โกงมาเติมความสนุกสนานและสอดแทรกความบันเทิง เพื่อให้เข้าถึงจิตใจของเด็กๆ ได้ง่ายขึ้น
"สิ่งที่คนทำเพลงหรือทำสื่อสามารถทำได้ คือ เป็นผู้ทำหน้าที่เสมือนคนพรวนดิน แล้วค่อยๆ หย่อนเมล็ดพันธุ์ที่ดี ครั้งนี้ได้แต่งเพลงโตไปไม่โกงที่ประกอบในการ์ตูนป๊ะป๋าแพนด้า ซึ่งมีเนื้อหาให้เด็กๆ ได้ให้คำสัญญาว่าไม่ว่าจะไม่โกงทั้งวันนี้และในอนาคต การสัญญาตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นหากไม่ทำตามที่สัญญาก็จะอายกับตัวเอง"
ขณะที่ฝั่งของคนทำภาพยนตร์ นายเมษ ธราธร หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์จากค่ายจีทีเอช ที่มาร่วมผลิตภาพยนตร์สั้นจากทั้งหมด 15 เรื่อง กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วการต่อต้านคอร์รัปชั่นที่สามารถทำได้กับตนเองและคนรอบตัว คืออย่าไปคิดว่าการอยากมี อยากได้แล้วใช้ทางลัดที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน แม้จะไม่ช่วยอะไรสังคมได้ไม่มากมาย แต่เริ่มต้นด้วยการไม่เอาเปรียบผู้อื่น
นายเมษ กล่าวต่อว่า สำหรับภาพยนตร์สั้นที่มีโอกาสมาร่วมกับโครงการโตไปไม่โกง ได้มาทำในสิ่งที่อยากจะพูดและอยากให้สังคมได้รับรู้ ออกมาคล้ายๆ สารคดี โดยได้เล่าเรื่องแบงค์ปลอมใบหนึ่ง และตั้งคำถามว่า หากคนเรามีแบงค์ปลอมอยู่ในมือจะใช้หรือไม่ใช้ ซึ่งตอนจบจะพาไปสู่การสอนให้เด็กที่ได้ดูเข้าใจว่าควรจะใช้หรือไม่ใช้แบงค์ปลอมใบนี้ เพราะอะไรและจะทำให้ใครเดือดร้อนบ้างหรือไม่
"ขณะนี้ผู้กำกับของจีทีเอชกำลังทยอยถ่ายทำภาพยนตร์สั้นทั้ง 15 เรื่อง และเมื่อเสร็จแล้วจะประชาสัมพันธ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ฟรีทีวีและนำไปฉายผ่านทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมในเครือจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเผยแพร่ไปยังกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชนได้มากขึ้น"
ในมุมมองเยาวชนของชาติ ด.ญ.กัญญาภัค ดุษฎีวัฒนะธรรม หรือ "น้องไอซ์" นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวัดปทุมวนาราม ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องของโครงการโตไปไม่โกง กล่าวว่า โครงการโตไปไม่โกง มีหลักสูตรที่หลากหลาย กิจกรรมที่โรงเรียนตอนเช้าจะมีเต้นประกอบเพลง มีหลักสูตรในชั่วโมงเรียนวิชาโตไปไม่โกง และมีสื่อการสอนทั้งการ์ตูนและหนัง ประกอบการสอนใน 5 ด้านของหลักสูตร ได้แก่ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ รักในความเป็นธรรม พอเพียงและทำเพื่อส่วนรวม
"น้องที่เรียนในหลักสูตรจะเป็นชั้นประถม และกำลังจะขยายหลักสูตรมาที่ชั้นมัธยม ตอนนี้เห็นน้องๆ ที่เรียนแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลง เมื่อเล่นกันรุนแรงหรือทะเลาะกันก็รู้จักขอโทษ เมื่อเก็บเงินได้ก็ไปประกาศเสียงตามสาย จะพบเห็นได้ทุกวัน แต่สิ่งที่อยากเห็นจากผู้ใหญ่ทั้งนักการเมืองและประชาชนทุกคน คือการรู้จักมีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคมและไม่คดโกงประเทศชาติ"
ด้านด.ญ.ภูวริญญ์ เกตุอุดม หรือ "น้องภู" กล่าวว่า เมื่อพูดถึงคำว่า 'โตไปไม่โกง' ในวัยนี้ที่สามารถทำได้ คือเวลาสอบจะตั้งใจอ่านหนังสือ ฝึกฝนทำข้อสอบ ไม่จดโพย ไม่ลอกเพื่อน แต่ถ้าพูดถึงการโกงในประเทศไทย คนกลุ่มแรกๆ ที่จะนึกถึง คือ นักการเมืองและข้าราชการ ซึ่งเป็นการโกงที่ส่งผลกระทบ และไม่ใช่เรื่องห่างไกลตัวเด็กและเยาวชน เพราะเงินภาษีที่พ่อแม่จ่ายไปเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศ แต่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด เข้ากระเป๋าตัวเอง เพื่อความสุขส่วนตัว เยาวชนและประชาชนทุกคนก็ได้ประโยชน์ไม่เต็มที่
"นักการเมืองและข้าราชการที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว น่าจะทำตัวเป็นแบบอย่างให้เด็กๆ รุ่นต่อไป เด็กบางคนยังมีความคิด มีจิตสำนึกที่ดีกว่าผู้ใหญ่บางคนที่มีพฤติกรรมโกง โดยเฉพาะการโกงเงินภาษีการศึกษาของเด็กไทย ที่กระทบทำให้การศึกษาของเด็กไทยไม่ดี นโยบายที่เยาวชนอยากได้ไม่ใช่เครื่องแท็บเล็ต ควรเน้นทักษะด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในอาเซียน"