ชาวสะเอียบ เมินรับผ้าห่มกันหนาว หวั่นถูกหลอกเซ็นชื่อหนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น
ชาวสะเอียบไม่รับแจกผ้าห่มกันหนาว หวั่นราชการหลอกล่าลายเซ็นหนุนเขื่อนแก่งเสือเต้น-แม่ยม ติงรัฐอย่าผลาญงบ 1.4 หมื่นล้านซ้ำเติมน้ำท่วมกรุง เสนอจัดการน้ำโดยชุมชนทางออกแก้น้ำท่วม-แล้งยั่งยืน
วันที่ 3 พ.ย.55 ชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนชัยหมู่ 1, บ้านดอนชัยสักทองหมู่ 9, บ้านแม่เต้นหมู่ 5, บ้านดอนแก้วหมู่ 6 มีมติไม่รับผ้าห่มกันหนาวที่หน่วยงานราชการนำมาแจกเป็นประจำทุกปี เพราะต้องลงชื่อกำกับลายเซ็นและเลขประจำตัวประชาชน ซึ่งชาวบ้านเกรงว่าหน่วยงานรัฐอาจนำไปอ้างสนับสนุนเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ชาวบ้านคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง โดยนายสอนชัย อยู่สุข ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทองวัย 62 ปีกล่าวว่าช่วงนี้มีหน่วยงานต่างๆเข้ามาในชุมชน ชาวบ้านต้องช่วยกันตรวจสอบ เพราะได้ประกาศแล้วว่าห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนเข้าพื้นที่
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมาอย่างเขื่อนปากมูล หน่วยงานราชการหลอกเอารายชื่อลายเซ็นชาวบ้านไปอ้างสนับสนุนเขื่อน หรือกรณีของยายไฮเขื่อนห้วยละห้า ก็ยังมีลายเซ็นยายไฮยกที่ให้สร้างเขื่อน ทั้งที่ยายไฮเขียนหนังสือไม่เป็น หน่วยงานราชการยังปลอมแปลงไปให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจผิดๆได้”
นายสุดารัตน์ ชัยมงคล ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัยหมู่ 1 กล่าวว่าชาวบ้านต่อสู้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ปกป้องป่าสักทองมายาวนาน ถึงแม้จะแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็น 2 เขื่อน คือเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง น้ำก็จะท่วมป่าสักทอง ท่วมที่ทำกินของชาวบ้านเกือบทั้งหมด แล้วชาวบ้านจะทำมาหากินอะไร ก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ทำกิน ไม่มีป่า ชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องต่อสู้คัดค้านต่อไปจนถึงที่สุด
นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่าเมื่อมติของชาวบ้านไม่รับผ้าห่มกันหนาวตนก็จะได้แจ้งไปทางอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะนำไปแจกให้กับชาวบ้านหมู่อื่นๆต่อไป ทั้งนี้ชาวสะเอียบเสนอให้รัฐยุติผลักดันสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง โดยใช้แนวทางจัดการน้ำชุมชน พร้อมเสนอทางออกแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม 12 ข้อ ดังนี้
1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่มวลมนุษยชาติ 2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น
3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะในเมือง สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า 4.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน5.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ
6.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า 7.ทำแก้มลิงไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า 8.พัฒนาหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ 9.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่
10.กระจายอำนาจและงบประมาณให้ชุมชนท้องถิ่นวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน สนับสนุนงบฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น ให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ 11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู 12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม
“เราไม่ควรเอางบประมาณแผ่นดิน 12,000 - 14,000 ล้านบาทไปผลาญกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ปล่อยน้ำท่วมกรุงเทพฯ จุดที่สร้างเขื่อน แก่งเสือเต้นและเขื่อนแม่ยมยังตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม 1 ใน 13 รอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่มีอยู่ในไทย เขื่อนแก่งเสือเต้น สูง 72 เมตร จากท้องน้ำแม่ยม หากเขื่อนแตก คงไม่ตายเฉพาะคนเมืองสอง แต่ตายทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร” กำนันเส็ง กล่าว .
ที่มาภาพ : http://farm9.staticflickr.com/8461/7944022130_62d31d38a6.jpg