หวั่น"มาตรา21"ล้างผิดกระทบนิติรัฐ เร่งถอดบทเรียน-ตีกรอบ"เงื่อนไข ก.ม."
"การเปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิดกลับเป็นคนดี ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ความเจ็บปวดที่เขาสร้างขึ้นมามันก็ยังเจ็บอยู่ไม่หาย แม้จะได้รับการชดใช้จากภาครัฐก็ตาม ฉันเห็นว่าคนที่กระทำความผิดจริงๆ ควรจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนตามกฎหมายเพื่อรับโทษตามที่ก่อมากกว่าเข้าสู่มาตรา 21 เพียงแค่ 6 เดือนแล้วกลับมา แล้วใครจะยืนยันว่าคนเหล่านั้นจะไม่กลับไปกระทำผิดอีก บอกตรงๆ ว่ามาตรา 21 ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้ถูกกระทำเอาเสียเลย"
เป็นความเห็นจาก นางยิ้ม (นามสมมติ) ชาวบ้านจาก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี หลังจากได้ทราบข่าวดีของทางการเกี่ยวกับกระบวนการตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ซึ่งศาลจังหวัดนาทวีสั่งระงับการฟ้องคดีและให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในข้อหาอุกฉกรรจ์ชุดแรกจำนวน 2 คนเมื่อวันที่ 29 ต.ค.2555 เนื่องจากสำเร็จการอบรมเป็นเวลา 6 เดือนตามหลักสูตรที่กำหนดโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.)
เรื่องนี้ กอ.รมน.ภาค 4 มองว่าเป็นความสำเร็จทางจิตวิทยาที่จะส่งผลให้กลุ่มแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องการกลับใจหรือหันหลังให้กับขบวนการ ได้มีช่องทางกลับคืนสู่สังคมโดยไม่ต้องถูกดำเนินคดี และจะเป็นการเปิดช่องให้เลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องมาหลายปีด้วย
แต่เสียงสะท้อนจากนางยิ้ม ก็ชี้ชัดว่ายังมีข้อกังวลหลายประการจากประชาชนในพื้นที่เองที่เฝ้ามองกระบวนการตามมาตรา 21 โดยเฉพาะในแง่ของผลกระทบทางสังคม
สอดคล้องกับ นายสิทธิพงศ์ จันทรวิโรจน์ ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ที่บอกว่า มีความกังวลในหมู่นักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายในเรื่องผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมและชุมชน ผู้ที่ผ่านการอบรมตามมาตรา 21 แล้วสามารถกลับคืนสู่สังคมได้จริงหรือไม่ และกระบวนการนี้ทำให้การก่อความไม่สงบลดน้อยลงได้จริงหรือเปล่า
"บุคคลที่จะเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ได้ โดยหลักการตามกฎหมายแล้วจะต้องกระทำความผิดจริง และสำนึกผิดในความผิดที่เขาก่อ หรือทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถูกชักจูง ถูกล้างสมอง แต่บุคคลเหล่านี้ยังต้องมีสถานะเป็นแค่ผู้ต้องหา หากถูกฟ้องเป็นจำเลยไปแล้วจะไม่สามารถเข้ากระบวนการได้"
"สิ่งที่เราเป็นห่วงคือเมื่อมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่จับคนร้ายหลังเกิดเหตุทันทีไม่ได้ เมื่อเวลาผ่านไปก็จะไปจับกุมบุคคลที่มีรายชื่อในกลุ่มผู้ต้องสงสัยมาโดยใช้กฎหมายพิเศษ แล้วเจ้าหน้าที่อาจตั้งเงื่อนไขให้เขาเลือกว่าถ้าจะสู้คดีก็ต้องอยู่ในเรือนจำหรือหาหลักทรัพย์มาประกันตัว แต่ถ้าเลือกเข้ามาตรา 21 ใช้เวลาแค่ 6 เดือนก็จะพ้นผิด เราเกรงว่าจะมีการเข้ากระบวนการเพื่อแลกกับเวลาที่จะต้องไปพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลตามกระบวนการปกติซึ่งใช้เวลาหลายปี ลักษณะนี้ถ้าเกิดขึ้นจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรม" นายสิทธิพงศ์ ระบุ
เขากล่าวต่อว่า บุคคลที่จะเข้ากระบวนการตามมาตรา 21 ต้องมีหลักฐานแสดงต่อศาลชัดแจ้งพอสมควรถึงการกระทำผิดของผู้ต้องหา และศาลต้องทำการไต่สวน ไม่ใช่ฟังเพียงคำรับสารภาพของผู้ต้องหา เพราะตามหลักของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ไม่ให้ศาลรับฟังคำสารภาพในชั้นสอบสวนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจเป็นการรับสารภาพในสภาพที่ถูกบีบบังคับได้ ตรงนี้ถือว่ายังเป็นปัญหาอยู่ และทางศูนย์ทนายความมุสลิมยังอยากเห็นหลักสูตรการอบรมด้วยว่าเป็นอย่างไร
"การพิจารณาน่าจะมีการถ่วงดุลกัน แต่กระบวนการที่ทำอยู่คือ คนที่มีอำนาจลงนามรับรองเพื่อส่งศาลให้สั่งผู้ต้องหาเข้าอบรมเป็น ผอ.รมน. เมื่อศาลสั่งให้อบรม ก็ส่งให้ ผอ.รมน.อีก วงจรทุกอย่างจึงอยู่ที่เดียวกันหมด ฉะนั้นน่าจะสร้างระบบถ่วงดุลและชี้แจงเรื่องหลักสูตรการอบรมให้ชัดเจน โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นมีส่วนร่วมด้วย"
ประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวด้วยว่า แม้กฎหมายจะกำหนดให้สิทธิในการฟ้องคดีอาญากับผู้ต้องหาที่เข้ารับการอบรมเป็นเวลา 6 เดือนเป็นอันระงับไป แต่นั่นเป็นสิทธิเฉพาะของรัฐที่จะฟ้องผ่านอัยการเท่านั้น สำหรับผู้เสียหายจากการกระทำของผู้ต้องหายังมีสิทธิยื่นฟ้องได้ด้วยตนเอง
ข้อกังวลทั้งหมดดังกล่าว ยังสอดรับกับรายงานของ คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล หรือ ไอซีเจ (International Commission of Jurists: ICJ) ที่ได้จัดทำเอกสารวิเคราะห์และให้ความเห็นต่อกระบวนการตามมาตรา 21 ของฝ่ายความมั่นคงไทยเมื่อปีที่แล้ว (2554) โดยเฉพาะการกำหนดฐานความผิดอย่างครอบคลุมกว้างขวางทั้งกบฏ ก่อการร้าย ซ่องโจร ฆ่า วางเพลิง หรือแม้แต่ความผิดเกี่ยวกับวัตถุระเบิด ล้วนอยู่ในข่ายเข้าสู่กระบวนการตามมาตรา 21 ได้ทั้งสิ้น (ตามประกาศกำหนดลักษณะความผิดอันมีผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามมาตรา 21 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 30 พ.ย.2554)
รายงานของไอซีเจ ระบุตอนหนึ่งว่า ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่งที่บุคคลผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดอาญาร้ายแรงเช่นนี้จะได้รับยกเว้นจากการถูกดำเนินคดีอาญาหากยินยอมเข้ารับการอบรม นอกจากนั้น ไอซีเจ ยังแสดงความเป็นห่วงเรื่องการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง หลักประกันเรื่องความสมัครใจเข้าสู่กระบวนการโดยไม่ถูกกดดัน การกล่าวหาล่วงหน้าว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดจริง พร้อมเรียกร้องให้เปิดหลักฐานกระบวนการคัดกรองบุคคลเข้าสู่มาตรา 21 ตลอดจนหลักสูตรการฝึกอบรม โดยเสนอแนะให้ตั้งองค์กรอิสระขึ้นตรวจสอบด้วย
อย่างไรก็ดี ในความเห็นของผู้รับผิดชอบจากภาครัฐอย่าง นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานอนุกรรมการบังคับใช้กฎหมายและบริหารงานยุติธรรม ในคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) เขามองในมุมที่ต่างออกไปว่า ไอซีเจมีวิธีคิดแบบหนึ่ง เป็นข้อพิจารณาตามหลักกฎหมายทั่วไป แต่สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ไม่ได้ดูแค่กฎหมายหรือหลักทั่วไปเท่านั้น แน่นอนว่าความผิดฐานชีวิตและร่างกายไม่ควรระงับการฟ้องคดี แต่ถ้าพูดในแง่ของการปรองดองสมานฉันท์ ต้องใช้อีกหลักหนึ่งซึ่งเป็นหลักสากลเหมือนกับที่ไอซีเจอ้างเช่นกัน
นายชาญเชาวน์ บอกว่า อนุกรรมการฯ กำลังวางนโยบายการบังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ชายแดนใต้ทั้งระบบ ไม่ใช่เฉพาะมาตรา 21 แต่เงื่อนไขการใช้มาตรา 21 ก็จะเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่หยิบมาพิจารณาด้วย
"โจทย์ในขณะนี้คือดูภาพรวมทิศทางของการปฏิบัติกรณีมีผู้เห็นต่างจากรัฐต้องการแสดงตัวหรือออกจากขบวนการ ว่าจะทำอย่างไร และต้องมีเงื่อนไขทางกฎหมายอะไรบ้าง เช่น จะบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มไหน การดำเนินคดีหรือระงับการดำเนินคดีจะทำอย่างไร ซึ่งจะต้องชัดเจนและอยู่ในกรอบแนวทางหลักคือกระบวนการสันติภาพตามที่กำหนดในนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้"
"สำหรับเงื่อนไขการเข้าสู่มาตรา 21 ก็ต้องนำมาพิจารณาใหม่ด้วย โดยจะครอบคลุมไปถึงกระบวนการคัดกรองและกำหนดฐานความผิด ส่วนกรณีผู้ที่ผ่านการอบรม 2 คนแรกที่ศาลสั่งให้ปล่อยตัว ทางอนุกรรมการฯ ก็จะนำมาถอดบทเรียนสรุปข้อดีข้อด้อย พร้อมปรับกระบวนการให้สมบูรณ์ต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือสังคมต้องมีความเข้าใจ เหยื่อหรือผู้เสียหายต้องได้รับการเยียวยาทุกด้าน และผู้ต้องหาหรือผู้กระทำผิดต้องกลับสู่สังคมได้อย่างแท้จริง"
ขณะที่ นายวิชช์ จีระแพทย์ จากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเคยเป็นคณะทำงานร่วมกำหนดฐานความผิดที่เข้าข่ายมาตรา 21 กล่าวว่า หลักการตามกฎหมายความมั่นคงคือต้องทำลายเงื่อนไขการก่อความไม่สงบให้หมด กรณีความขัดแย้งทั่วโลกหลายกรณีก็มีการใช้กฎหมายแบบนี้เป็นเครื่องมือ เช่น ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งมีปัญหาการก่อความไม่สงบมาหลายสิบปีและสามารถยุติความขัดแย้งได้ในที่สุด
"เราต้องลดเงื่อนไขเพื่อให้คนเหล่านี้เลิกฆ่าคนอื่น ไม่อย่างนั้นก็ฆ่ากันไม่สิ้นสุด มันเป็นเรื่องของการซื้อใจกัน ถ้ามอบตัวแล้วต้องติดคุกใครจะออกมามอบตัว หลักการแบบเดียวกันนี้เคยใช้มาแล้วสมัย 66/23 เพื่อแก้ไขปัญหาคอมมิวนิสต์" นายวิชช์ กล่าว พร้อมยกตัวอย่างทิ้งท้าย...
เหมือนองคุลีมาล ถ้าเข้าใจเรื่ององคุลิมาลก็จะเข้าใจหลักคิดนี้!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สองผู้สำเร็จการอบรมรับประกาศนียบัตรจากแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา (แต่งภาพโดยฝ่ายศิลป์ ทีมข่าวอิศรา)