ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ชงศาลปกครองระงับโครงการจำนำข้าว
“เครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว” ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบโครงการจำนำข้าวรัฐบาล ชี้ขัด รธน.-ส่อทุจริต-แจงยิบ 12 ประเด็นสร้างวิกฤติข้าว-ทำร้ายระบบเศรษฐกิจไทยรุนแรง
วันที่ 1 พ.ย.55 นายวรา จันทร์มณี ผู้นำเครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว ยื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดินผ่าน นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และส่อว่าจะมีการทุจริตประพฤติมิชอบ
นายวรา กล่าวว่ามติหรือการดำเนินโครงการดังกล่าวมิชอบ ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 84(1) ที่บัญญัติให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน แต่การรับจำนำข้าวเปลือกในราคาที่สูงกว่าตลาด ขัดหลักการรับจำนำทั่วไป ทำลายระบบเศรษฐกิจการค้าเสรีที่อาศัยกลไกตลาด ไม่สนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจในตลาดการเกษตรข้าวอย่างยั่งยืน และรัฐกลายเป็นผู้ผูกขาดตลาดการรับซื้อและขายข้าวเปลือกรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 43 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพด้วย อีกทั้งยังส่อมีการทุจริตคอรัปชั่นไม่โปร่งใส ตรวจสอบยาก
ผู้นำเครือข่ายหยุดผูกขาดตลาดข้าว ยังสรุปความเสียหายโครงการรับจำนำข้าวที่จะนำไปสู่วิกฤตข้าวไทยและสร้างภาระการเงินการคลังของประเทศ จนส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง 12 ประเด็น เช่น ทำให้กลไกตลาดในการแยกแยะคุณภาพข้าวล้มเหลว เกษตรกรขาดแรงจูงใจผลิตข้าวคุณภาพดี คุณภาพข้าวลดลงเนื่องจากการเก็บสต๊อกข้าวจำนวนมาก การกำหนดราคาจำนำสูงทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวเกินศักยภาพ นำไปสู่การบิดเบือนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตร
ซึ่งมีรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) 28 ธ.ค. 52 ระบุความผิดพลาดในการกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดว่าเมื่อหมดระยะเวลารับจำนำ ราคาผลผลิตไม่สูงขึ้น ทำให้เกษตรกรไม่ไถ่ถอนผลผลิตคืน สร้างความไม่เป็นธรรมให้เกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดอื่น ทำลายโครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยที่มีการพัฒนามาเป็นอย่างดี ทำให้ประเทศไทยขาดความสามารถในการแข่งขันในตลาดค้าข้าวโลก ชาวนาระดับล่างไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงนอกจากนี้ยังทำให้รัฐก่อหนี้สาธารณะจำนวนมาก เจ้าหน้าที่และองค์กรของรัฐมีพฤติกรรมส่อทุจริต เช่น ร่วมมือกับเกษตรกรจดทะเบียนพื้นที่เพาะปลูกว่ามีมากกว่าที่เกษตรกรมีจริง เพื่อนำข้าวสวมสิทธิ์มาจำนำร่วมมือกับโรงสีเจ้าของโกดังในการจัดส่งข้าวจำนวนต่ำกว่าจำนวนที่ต้องส่งจริง
ซึ่งหากรัฐยังคงดำเนินโครงการในลักษณะนี้จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนและประเทศชาติ จึงขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบ หากเห็นว่า กฎ คำสั่ง หรือการกระทำของเจ้าหน้าที่ หน่วยงาน เป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ และหากมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมาย ก็ขอให้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวว่าผู้ตรวจฯ จะพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ และหากพบเป็นความบกพร่องในการปฏิบัติหรือละเลยปฏิบัติ ก็จะเสนอแนะไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไข แต่หากเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็จะเสนอศาลพิจารณาต่อไป ซึ่งการจะดำเนินการโดยเร็วเพราะเข้าใจดีว่าประชาชนให้ความสนใจ แต่ทั้งนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการทุจริตคงเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.
ที่มาภาพ ::: ทีนิวส์ http://bit.ly/Sz5aRa