ลงนามตั้งสมาพันธ์ข้าวอาเซียน “สมพร” ชี้สวนทาง AEC เห็นผลได้ยาก
นักวิชาการ มอง รบ.ตั้งสมาพันธ์ข้าวอาเซียน หวังผูกขาดการค้า-ยกระดับราคา ชี้ทำยาก ไม่ยั่งยืน สวนทาง AEC พร้อมห่วงเวียดนามยึดตลาด เศรษฐกิจไทยอ่วม
ภายหลังที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "รัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน" ว่า การเดินทางไปเวียดนามเป็นประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) ร่วม ไทย-เวียดนาม อย่างไม่เป็นทางการที่ผ่านมานั้น ได้มีการหารือกัน 3 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองและความมั่นคง โดยเรื่องเศรษฐกิจ ได้หารือเพื่อเห็นชอบในการเพิ่มเป้าหมายการค้าระหว่างกัน และร่วมลงนามประเทศผู้ผลิตข้าวอาเซียน 5 ประเทศ จัดตั้งสมาพันธ์โรงสีข้าวอาเซียน
ศ.ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีความตกลงเรื่องจัดตั้งสมาพันธ์โรงสีข้าวอาเซียนดังกล่าวว่า การที่รัฐบาลไปเจรจาและมีความพยายามจะจัดตั้งสมาพันธ์โรงสี และสมาพันธ์ผู้ส่งออกข้าว (Organisation of Rice Exporting Countries:OREC) พยายามรวมกลุ่มผู้ส่งออกข้าว (Cartel) ที่จะเป็นศูนย์กลางผูกขาดตลาดข้าว และมีข้อตกลงว่า จะไม่ตัดราคากันนั้น ตนเห็นว่า หากเป็นการรวมกลุ่มทางการค้า คงเป็นเรื่องยากมากที่จะประสบความสำเร็จในระยะสั้นๆ
"ใน 1 ปีอาจจะมีการกระเพื่อมได้บ้าง แต่ในระยะยาวแล้วการพยายามรวมกลุ่มผู้ส่งออกข้าวจะไม่ยั่งยืน การรวมกลุ่มอาจเกิดขึ้น แต่ผลจากการรวมกลุ่มอาจไม่เกิดขึ้น อย่างในปีที่แล้วนายกรัฐมนตรีเวียดนามไปที่ฟิลิปปินส์ ก็พูดว่า จะเข้าร่วมในสมาพันธ์ดังกล่าวนี้เช่นกัน แต่ในทางปฏิบัติจะยึดกลไกตลาดในการบริหารข้าวและส่งออก"
ศ.ดร.สมพร กล่าวต่อว่า หากเป็นการรวมสหพันธ์ข้าวเพื่อความช่วยเหลือภาวะวิกฤติหรือภาวะขาดแคลนอาหารก็เป็นเหตุผลที่ฟังได้และเป็นเหตุผลที่ดี แต่ถ้ารวมเพื่อสร้างตลาดผูกขาดการค้าข้าวหรือยกระดับราคา ตนคิดว่า เป็นการกระทำที่สวนทางกับการขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
"การที่รัฐบาลไทยตัดสินใจและเลือกดำเนินการเช่นนี้ เหมือนรัฐบาลมี 2 ใจ ในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนพูดอย่างหนึ่ง พอออกมาก็พูดอีกอย่างหนึ่ง เหมือนแต่ละวันโกหกไปเรื่อยๆ แต่ระยะยาวแล้ว คงยากที่จะเห็นผลจริงๆ"
ศ.ดร.สมพร กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พม่า เขมร และลาวต่างมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะขยายการผลิตข้าว ในอีก 2 ปีข้างหน้า ปริมาณข้าวในตลาดอาเซียนจะเพิ่มมากขึ้น รวมประมาณ 15 ล้านตันที่เป็นข้าวส่วนเกินของตลาด ที่ต้องพยายามผลักดันไปสู่ตลาดนอกอาเซียน นี่เป็นปัญหาที่หนักและใหญ่กว่าการจะตั้งกลุ่มผู้ส่งออกข้าวด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลก็เสริมให้มีข้าวส่วนเกินมากอยู่แล้ว จึงยิ่งเป็นไปได้ยากมากที่จะสร้างความสำเร็จเรื่องการสร้างกลุ่มผู้ส่งออกข้าว
"รัฐบาลตั้งสมมติฐานไว้ว่าการรวมกลุ่มสมาพันธ์ครั้งนี้จะสามารถยกระดับข้าวขึ้นมาได้ และเมื่อรวมตัวกันแล้วจะสามารถแบ่งตลาดในแต่ละระดับกันได้ แต่ผมมองว่า ตอนนี้เวียดนามครองตลาดข้าวระดับล่างได้หมดแล้ว ทั้งข้าว 5% และข้าว 25% ขณะที่ตลาดข้าวระดับบนเวียดนามก็มีความสามารถส่งออกข้าวกลุ่มนี้ได้ไม่แพ้ไทย เมื่อเป็นเช่นนี้จะกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ โรงสีข้าวที่สีข้าว 5% และข้าว 25% จะส่งออกข้าวไม่ได้"