โจทย์วัดใจ “หมอประดิษฐ์” : รมว.ใหม่ถอดด้าม ผู้อยู่เบื้องหลังบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพ
ฟ้าผ่ากลางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วิทยา บุรณศิริ เจ้ากระทรวงหลุดโผ “คณะรัฐมนตรี(ครม.)ปู” 3 นาทีสุดท้าย ปรากฏชื่อ นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์ รมว.สธ.ใหม่ถอดด้าม ... แม้ไม่คุ้นหน้า แต่หาใช่คนอื่นไกล
“นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์” มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี และใกล้ชิดกับ “เยาวภา วงศ์สวัสดิ์” ด้วยเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเดคคอร์มาร์ทจำกัด ผลิตเฟอร์นิเจอร์ให้กับบริษัทเครือเอสซีแอสเสท และเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เวนเจอร์ จำกัด เครือแสนสิริ
ทันทีที่ยิ่งลักษณ์ขึ้นครองอำนาจบริหาร เขาผงาดขึ้นตามเป็นแรงเงา ผลงานชัดเจนที่สุดคือการอยู่เบื้องหลังนโยบายบูรณาการ 3 กองทุนสุขภาพให้เป็นมาตรฐานเดียว
นพ.ประดิษฐ์ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) บอร์ดแพทย์แผนไทย และบอร์ดกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม รวมทั้งบอร์ดคณะกรรมการยา
แว่วมาว่าเขาได้รับความไว้วางใจจากยิ่งลักษณ์ ถึงขั้นให้เป็นผู้คัดกรอง-ชี้เป้า รายชื่อข้าราชการระดับสูงที่สมควรได้รับการแต่งตั้ง หรือถูกเด้งเข้ากรุ แม้แต่วิทยาในฐานะพี่เบิ้มกลุ่มส.ส.ภาคกลางของพรรคเพื่อไทย ยังไม่สามารถปฏิเสธข้อเสนอของนพ.ประดิษฐ์ได้
นอกจากนี้ นพ.ประดิษฐ์ ยังมีความสนิทสนมกับ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ เจ้าของโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนอีกด้วย ดังนั้นแม้จะยังไม่ได้เริ่มบริหารงานในฐานะเจ้ากระทรวงสาธารณสุข แต่ก็มีผู้ตั้งข้อเคลือบแคลงไว้แล้ว โดยเฉพาะข้อครหาความเชื่อมโยงกับ “แพทย์พาณิชย์” และการบริหารที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มธุรกิจเอกชน
ฝ่ายการเมืองที่เข้ามาครองอำนาจบริหารกระทรวง แน่นอนว่ามีภาคประชาชนเป็นไม้เบื่อไม้เมา กรณีของนพ.ประดิษฐ์ ที่มีภาพชัดเจนอย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น แน่นอนว่าจากนี้ไปแรงเสียดทานจะมีสูง
“ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน” สอบถามตัวแทนภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ส่วนใหญ่ให้โอกาสให้เวลาและให้ผลงานเป็นเครื่องพิสูจน์รัฐมนตรีใหม่ แต่ก็มีการบ้านซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขเร่งด่วนฝากให้สะสางด้วยเช่นกัน
นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ อยากให้รัฐมนตรีใหม่ผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากระบบริการสาธาณสุข ผ่านสภา แม้กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความไม่พอใจกลุ่มทุนและโรงพยาบาลเอกชน เธอมีความหวังอีกครั้งเมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรี เนื่องจากได้ผลักดันตั้งแต่รัฐบาลประชาธิปัตย์และรัฐบาลเพื่อไทยชุดแรก แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ
ผศ.ดร.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานสร้างกลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) บอกว่านโยบายแห่งชาติด้านยาที่เพิ่งประกาศเมื่อปีที่ผ่านมา มีแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติและแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจน แต่น่วยงานต่างๆกลับไม่ได้นำไปประกอบการทำงานที่ชัดเจน อยากฝากให้ นพ.ประดิษฐ์ ประสานให้นำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ 4 ด้าน 1.การมียาดีมีคุณภาพในประเทศ ระบบการควบคุมยาที่มีความเข้มแข็ง การขึ้นทะเบียนตำรับยา ระบบทบทวนทะเบียนตำรับยา รวมถึงการคัดเลือกยาในบัญชียาหลักที่มีความเที่ยงตรงตามหลักวิชาการ ไม่ถูกบิดเบือนหรือบีบคั้นจากนักการเมืองหรือล็อบบี้ของบริษัทยา
2.การเข้าถึงยาและลดปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าถึงยา โดยเฉพาะระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่มีผลกระทบ เช่น ระบบสิทธิบัตรยาและราคายาที่ไม่มีระบบการควบคุมหรือต่อรองที่ดีพอ จนทำให้ยามีราคาแพงเกินจำเป็น ตลอดจนการทำ FTA กับประเทศต่างๆ รัฐบาลต้องไม่เอาชีวิตประชาชนและสาธารณสุขประเทศไปแลกกับการได้กำไรของธุรกิจบางกลุ่ม ต้องประกาศให้ชัดว่าจะไม่รับข้อตกลงที่เกินกว่าทริปส์ หรือ ทริปส์พลัส
3.ใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล มีระบบติดตามตรวจสอบการใช้และสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการของแพทย์ผู้สั่งยา และควบคุมการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายยา 4.ใช้มาตรการทางการเงินการคลังผ่าน 3 ระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมเรื่องสิทธิประโยชน์ด้านยา 5.ความอยู่รอดของประเทศ การพึ่งตนเองและความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมยาในประเทศ การใช้สมุนไพรไทย ระบบการถ่ายทอดเทคโนโลยี และกองทุนสนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนายา
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ อยากเสนอคือ 1.เร่งพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิได้อย่างไม่มีอุปสรรค โดยเฉพาะให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตผู้พิการ 2.ขยายเวลาให้บริการ มีแพทย์ประจำที่ให้บริการได้โดยไม่จำกัดเฉพาะเวลาราชการ พัฒนาระบบให้มีความละเอียดอ่อนในการให้บริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ จัดบริการป้องกันดูแลรักษาฟื้นฟูเด็กหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือบาดเจ็บทุพลภาพจากการยุติการตั้งครรภ์
3.ให้มีกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการและผู้สูงอายุระดับจังหวัด ให้ครอบคลุมทุกจังหวัด พัฒนากองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นให้เป็นกลไกหลักส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค นอกจากนี้ให้กำหนดให้กรุงเทพฯมีกองทุนสุขภาพท้องถิ่นเช่นเดียวกับภูมิภาค
“อีกหนึ่งข้อคือให้ขยายการครอบคลุมของสิทธิบัตรทองไปยังผู้ใช้สิทธิข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาตรา 9 และ10 โดยสร้างระบบบริหารจัดการกองทุนสุขภาพเป็นระบบเดียวกัน ใช้อัตราวิธีการจ่ายค่าบริการมาตรฐานเดียว”
นิมิตร์ ยังเสนอให้เร่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข และการดำเนินนโยบายสุขภาพใด ต้องตระหนักถึงผลด้านลบต่อประชาชน อาทิ นโยบายศูนย์กลางทางการแพทย์(เมดิคัลฮับ) การทำข้อตกลงการค้าเสรี และต้องมีนโยบายด้านกำลังคนโดยให้ภาคเอกชนรับภาระผลิตบุคลากรทางการแพทย์ด้วยตนเอง
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท วิพากษ์รัฐมนตรีคนใหม่ว่าแม้ นพ.ประดิษฐ์จะมีภาพเป็นนักธุรกิจและเข้ามาพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านของบอร์ดสปสช.โดยเข้ามาพร้อมกับแพทย์พาณิชย์ แต่ตลอดเวลาที่เข้ามาเป็นบอร์ดสปสช.กลับไม่มีทีท่าว่าจะเข้ามากอบโกยใดๆ
“ผมมองว่านพ.ประดิษฐ์ไม่มีปัญหาใดๆ ประวัติก็ไม่ด่างพล้อย แต่ด้วยความเชื่อมโยงส่วนตัวกับกลุ่มทุนและแพทย์พาณิชย์ จึงอยากฝากว่าอย่าทำอะไรเอื้อประโยชน์เอกชน เพราะสังคมเฝ้าจับตาอยู่”
ประธานแพทย์ชนบท บอกอีกว่า มี 4 เรื่องสำคัญที่นพ.ประดิษฐ์ต้องสะสาง ได้แก่ 1.สะสางงานเก่าจาก รมว.สาธารณสุขคนเก่า โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการผลักดันงบประมาณเงินกู้ดีพีแอลเพื่อแก้ปัญหาโรงพยาบาลขาดแคลนเครื่องมือ 2.ปัจจุบันได้กลิ่นไม่ชอบมาพากลในการตั้งงบก้อนใหญ่เพื่อใช้ลงทุนคู่ขนานกับโครงการเงินกู้ดีพีแอล จึงฝากให้นพ.ประดิษฐ์ดูแลอย่างใกล้ชิด
3.นพ.ประดิษฐ์ใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี มีสายสัมพันธ์อันดีกับ รมว.คลัง จึงอยากให้ผลักดันงบประมาณค่าเหมาจ่ายรายหัวของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากไม่เพิ่มขึ้นก็ไม่ควรมีทีท่าว่าจะลดอย่างที่ผ่านมา เนื่องจากปัจจุบันโรงพยาบาลแบกภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของลูกจ้างทั้งเงินเดือนแรกเข้า 1.5 หมื่นบาท ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท 4.เร่งแก้ปัญหาระบบบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะการบรรจุพนักงานลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นข้าราชการ
…………………………….
นาทีนี้“นพ.ประดิษฐ์ สินธวณรงค์” ยังไม่ได้เหยียบกระทรวงสาธารณสุข แต่การบ้านกองมหึมารอต้อนรับอยู่ ท่ามกลางความคาดหวังของสังคมต่อรัฐมนตรีใหม่ถอดด้าม บทพิสูจน์กำลังจะเริ่มต้นว่าเขาสามารถก้าวข้ามผ่านข้อครหาด้านสายสัมพันธ์ลึกซึ้งทางการเมืองและแพทย์พาณิชย์ ได้หรือไม่? .