“บรรหาร”ควง"ปลัดใหม่”ตรวจกรมข้าว“เร่งส่งเสริมพันธุ์ใหม่ กข.49 ”
“บรรหาร”ควง"ปลัดกษ.ใหม่”เยี่ยมกรมการข้าว แนะเร่งพัฒนาเมล็ดพันธุ์สู้เอกชนก่อนเพื่อนบ้านแซงหน้า อธิบดีเผยต้นปีหน้าส่ง“กข.49”สู้เพลี้ย-เร่งพัฒนาข้าวหอมพันธุ์ใหม่นำหน้าหอมมะลิ
วันที่ 31 ต.ค. 55 ที่กรมการข้าว กรุงเทพฯ นายบรรหาร ศิลปะอาชา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯสหกรณ์ เดินทางตรวจเยี่ยมกรมการข้าวเพื่อติดตามงานด้านข้าว
นายชัยฤทธิ์ ดำรงเกียรติ อธิบดีกรมการข้าว รายงานผลการดำเนินงานเรื่องข้าวและสถานการณ์ข้าวไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าว 78 ล้านไร่ และเกษตรกรมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อการเพาะปลูกปีละ 6 แสนตันทั่วทั้งประเทศ โดยขณะนี้กรมฯมีพันธุ์ข้าวที่ผ่านการวิจัยและรับรองออกมาใหม่เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาการปลูกข้าวแก่เกษตรกรทั้งสิ้น 4 พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ขาวบ้านนา 432 ข้อดี คือ ให้ผลผลิตมากปลูกได้ดีในพื้นที่น้ำขัง พันธุ์ข้าวเหนียวดำลืมผัว มีคุณค่าทางโภชนาการสูง พันธุ์กข.47 ป้องกันเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้ดี และพันธุ์ กขผ.1 ซึ่งเป็นข้าวลูกผสมพันธุ์แรกของไทยที่ให้ผลผลิตมาก
โดยปัจจุบันกรมการข้าวมีศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าว 23 ศูนย์ทั่วประเทศที่ทำหน้าที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ และศูนย์วิจัยข้าว 27 แห่งทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว และมีนักวิจัย 176 คนทั่วประเทศซึ่งถือว่าขาดแคลนเมื่อเทียบกับอัตรานักวิจัยที่ต้องการ 250 คน
สำหรับแนวทางการลดต้นทุนในการผลิตข้าว กรมฯได้ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดี จัดทำบัญชีต้นทุนการผลิต ลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และสารเคมีลง รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวปีละ 2 ครั้ง งดการปลูกข้าวต่อเนื่องตามนโยบายการจัดระบบปลูกข้าวของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพดี สามารถบริหารจัดการน้ำในภาวะน้ำแล้งและน้ำท่วมได้อย่างมีระบบ และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชหลังนาและพืชปุ๋ยสดสลับกับการปลูกข้าวเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินด้วย
ทั้งนี้พบว่าการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับการทำนาเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาระบบการปลูกข้าว เนื่องจากประเทศไทยมีพื้นที่แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรเพียงร้อยละ 21 ขณะที่ประเทศเวียดนามมีพื้นที่แหล่งน้ำถึงร้อยละ 80 ทั้งนี้เกษตรกรควรฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของดินและเปลี่ยนใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดีขึ้นและผ่านการรับรองจากกรมการข้าวอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
นายชัยฤทธิ์กล่าวต่อว่า กรมฯมีแนวทางการพัฒนาข้าวไทยดังนี้ เร่งรัดการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าว โดยในอนาคตจะพัฒนาข้าวหอมที่คุณภาพดีกว่าข้าวหอมมะลิ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 10 ปี เพื่อให้ข้าวหอมไทยเป็นพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดในโลก นอกจากนี้จะเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการรวมทั้งพันธุ์ข้าวที่ปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย
โดยในเดือนมกราคม 2556 กรมฯจะรับรองพันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นใหม่ คือ พันธุ์กข.49 โดยใช้เวลาปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 10 ปี ซึ่งสามารถแก้ปัญหาเรื่องเพลี้ยกระโดดได้ดีกว่าพันธุ์กข.47 และให้ผลผลิตได้มาก โดยคาดว่าจะผลิตและกระจายสู่เกษตรกรได้ในเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 1 พันตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายบรรหาร ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวว่า การผลิตและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ข้าวเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับประเทศไทย ขณะที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพของกรมการข้าวกลับไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรทั่วประเทศที่ต้องการเมล็ดพันธุ์ปีละ 6 แสนตัน ตัวอย่างเช่น ข้าวพันธุ์กข.47 ที่สามารถแก้ปัญหาเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้นั้น กรมการข้าวสามารถผลิตออกมาได้เพียงปีละ 2,000 ตันเท่านัน ขณะที่ภาคเอกชนสามารถผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ดีไปยังเกษตรกรได้ปีละหลายแสนตัน
ทั้งนี้อาจเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรมการข้าวยังขาดแคลนนักวิจัยจำนวนมาก ประกอบกับรัฐบาลไทยมักไม่ให้ความสำคัญกับงานวิจัยพันธุ์ข้าวเท่าที่ควรทำให้งบประมาณเพื่อการวิจัยข้าวมีน้อยและส่งผลต่อคุณภาพการปลูกข้าว สวนทางกับประเทศข้างเคียงที่ให้ความสำคัญด้านงานวิจัยข้าวมากขึ้น
นายบรรหารกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าขณะนี้พันธุ์ข้าวของไทยจะมีคุณภาพมากที่สุด แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม ก็มีการพัฒนาด้านการปลูกข้าวอย่างต่อเนื่องด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพม่าซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า ดังนั้นประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการส่งเสริมการเพาะปลูกแก่เกษตรกรมากขึ้น
อย่างไรก็ต่อข้อถามถึงปัญหาเรื่องการจำนำข้าวที่อาจทำให้ไทยเสียแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ร่วงมาเป็นอันดับ 3 นั้น ยังไม่สามารถสรุปได้เนื่องจากต้องรอดูตัวเลขการขายข้าวปลายปีเสียก่อน โดยเชื่อว่าหากการส่งออกข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) เป็นไปตามคาดหมายไทยคงไม่เสียแชมป์ อย่างไรก็ดีเป็นเรื่องของกระทรวงพานิชย์ที่ต้องดูแล ส่วนปัญหาการทุจริตจำนำข้าวเชื่อว่ามีไม่มากและไม่ส่งผลกระทบร้ายแรง
ทั้งนี้ตัวเลขตามปกติในปีที่ผ่าน ๆมา ไทยสามารถส่งออกข้าวได้ปีละประมาณ 10 ล้านตัน เป็นข้าวหอมมะลิกว่า 2 ล้านตัน ข้าวเหนียว 8 แสนตัน และที่เหลือเป็นข้าวขาว(ทั้งที่เป็นข้าวเปลือกและข้าวนึ่ง)กว่า 7 แสนตัน