จี้เร่งใช้ผังเมืองตวอ.ก่อนอุตฯรุกพื้นที่สีเขียว-ชุมชน
ประชาชนภาคตะวันออกทวงสัญญานายกฯ เร่งประกาศใช้ผังเมืองรวม 7 จังหวัดคุ้มครองแหล่งอาหาร กันทุนต่างชาติ-อุตสาหกรรมรุกพื้นที่เกษตร ลั่นเคลื่อนไหวใหญ่หาก 1 เดือนไม่คืบหน้า
วันที่ 30 ต.ค. 55 ที่ทำเนียบรัฐบาล ภาคีเครือข่ายเพื่อนตะวันออกวาระเปลี่ยนตะวันออกกว่า 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ดำเนินการเร่งรัดการบังคับใช้ผังเมืองรวมใน 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรีและตราด
โดยหนังสือเรียกร้องมีใจความว่า สืบเนื่องจากวันที่ 13 ธ.ค. 2554 กลุ่มประชาชนภาคตะวันออกจากจังหวัดระยอง สระบุรี และปราจีนบุรี ประมาณ 500 คน เดินทางมาร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งรัดการประกาศใช้ผังเมืองรวมในจังหวัดดังกล่าวข้างต้นโดยเร็ว เนื่องจากความล่าช้าได้ก่อให้เกิดช่องว่างของกฎหมายในการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่ โดยมีนายแพทย์ประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มารับหนังสือร้องเรียนแทนและสัญญาว่าจะเร่งรัดให้มีการประกาศใช้ผังเมืองโดยเร็วภายในเวลา 45 วัน นับตั้งแต่วันที่รับหนังสือ แต่การดำเนินการล่าช้าเกินสมควรกระทั่งปัจจุบันยังไม่มีการประกาศใช้ผังเมืองแต่อย่างใด ซึ่งระหว่างรอประกาศผังเมืองได้เกิดปัญหาความเดือดร้อนขึ้นในพื้นที่อย่างมากมาย อาทิเช่น การกว้านซื้อที่ดินแปลงขนาดใหญ่ และยื่นขอจัดตั้งนิคมอุสาหกรรม เขตอุตสาหกรรม ท่าเรือ และโรงงานในพื้นที่เกษตรกรรมทั่วไปทั้งในจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี สระแก้ว และตราด
ทั้งนี้ภาคีเครือข่ายประชาชน ในนาม เครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ได้พยายามติดตามการประกาศใช้ผังเมืองรวมในแต่ละจังหวัดมาโดยตลอด และทราบว่าการดำเนินการของจังหวัดต่างๆอยู่ในขั้นตอนท้ายๆที่ใกล้จะประกาศใช้ผังเมืองได้แล้ว โดยจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และจันทบุรี อยู่ในขั้นตอนที่ 23 (จาก 24 ขั้นตอน) คือ รอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามในประกาศกฎกระทรวงฯ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น, จังหวัดตราด อยู่ในขั้นตอนที่ 21 คือ คณะกรรมการกฤษฎีกาส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทย ,และจังหวัดสระแก้ว ชลบุรี และระยอง อยู่ในขั้นตอนที่ 20 คือ กรมโยธาธิการและผังเมืองจัดทำร่างกฎกระทรวงฯ
ดังนั้นจึงขอให้เร่งรัดและประกาศบังคับใช้ผังเมืองรวมของจังหวัดปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราและจันทบุรีซึ่งอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายโดยเร็ว รวมทั้งเร่งรัดขั้นตอนการประกาศใช้ผังเมืองรวมของจังหวัดตราด สระแก้ว ชลบุรี และระยองด้วย เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิของประชาชนในพื้นที่ตามเจตนารมณ์ของการพัฒนาอย่างยั่งยืนสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่11 ทั้งนี้หากภายในวันที่ 30 พ.ย. 2555 ยังไม่มีการดำเนินการใดๆที่เป็นรูปธรรม เครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯจะมีมาตรการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้นต่อไป
ดร.สมนึก จงมีวศิน ผู้ประสานงานภาคีเครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ กล่าวว่า กระบวนการประกาศใช้ผังเมืองรวมใช้เวลายาวนานเกินสมควรนับตั้งแต่เริ่มจัดทำขึ้นในปี 2547 โดยปัจจุบันผ่านมา 8 ปี แต่มีจังหวัดที่ประกาศใช้ผังเมืองรวมไม่ถึง 10 จังหวัดเท่านั้น ทำให้ปัจจุบันผังเมืองส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผังเมืองที่ไม่มีสีและใครจะทำอะไรในพื้นที่ก็ได้ ขณะนี้พื้นที่อนุรักษ์เพื่อการเกษตรและพื้นที่ชุมชนหลายจังหวัดในภาคตะวันออกถูกรุกรานจากการบุกรุกของกลุ่มทุนทั้งไทยและต่างชาติมากขึ้น นำไปสู่การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง
ตัวอย่างเช่น การขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมอมตะและการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมซีพีแลนด์ในจ.ชลบุรี หรือ ในจ.ปราจีนบุรี มีการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมเมโทรอินดัสเตรียลปาร์ค มีการกว้านซื้อที่ดินเพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ยูคาลิปตัส การผุดขึ้นของฟาร์มปศุสัตว์ขนาดใหญ่จำนวนมากบนแหล่งต้นน้ำ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดภาวะน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมไหลลงแม่น้ำปราจีนบุรีและลุกลามไปยังแม่น้ำบางปะกงในจ.ฉะเชิงเทราด้วย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชน เศรษฐกิจชุมชนล่มสลายและชาวบ้านต้องกลายเป็นแรงงานในโรงงาน
“การบุกรุกของนายทุนทำให้พื้นที่เกษตรในภาคตะวันออกหายไป เราจึงต้องคุ้มครองแหล่งอาหารของภาคตะวันออกไว้” ดร.สมนึกกล่าว
อย่างไรก็ดีมีความเป็นกังวลว่ากลัวว่าเมื่อมีการประกาศใช้ผังเมืองแล้ว โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่อาศัยช่องว่างของกฎหมายระหว่างที่ยังไม่มีการประกาศผังเมืองมาก่อตั้งและขยายพื้นที่จะไม่ยอมรื้อถอนออกไป และอาจส่งผลให้ผังเมืองจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโดยลดพื้นที่สีเขียวเพื่อการเกษตรลงและเพิ่มพื้นที่สีม่วงในส่วนของภาคอุตสาหกรรมแทน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นอาจมีการเรียกร้องต่อสู้ต่อไป
ด้านนายจรูญ สวยดี นักวิชาการอิสระ ภาคีเครือข่ายเพื่อนตะวันออกฯ กล่าวว่า “ปัญหาทุกวันนี้คือการที่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ถูกนำไปใช้ในภาคเศรษฐกิจ เมื่อยังไม่ประกาศใช้ผังเมืองพื้นที่ในภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้หลากหลายเพราะติดชายฝั่งทะเลและน้ำไม่ท่วมจึงกลายเป็นเหยื่อของทุนและต่างชาติ จนปัจจุบันพบว่าที่ดินในภาคตะวันออกอยู่ในมือของคนต่างชาติมากกว่าร้อยละ 60 โดยคนภาคตะวันออกเองถือครองอยู่เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น”
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องเรื่องดังกล่าวนายพันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมารับหนังสือแทนนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวว่าจะรีบนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงมหาดไทยทันที พร้อมทั้งจะรายงานข้อเท็จจริงและปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ทราบด้วย โดยคาดว่าจะสามารถแจ้งขั้นตอนความคืบหน้าต่างๆได้ภายใน 7 วัน
ภาพประกอบข่าว :::