‘อนุสรณ์’ หนุน ขึ้นค่าแรง 300 บาท ชี้กระทบเอสเอ็มอี รัฐต้องช่วยดูแล
นักวิชาการหวั่นเปิดเสรีอาเซียน กระทบจ้างงานภายในประเทศ แนะแรงงานเก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมี “ความสามารถในการถูกจ้าง” ด้วย
วานนี้ (31 ต.ค.) กระทรวงแรงงาน สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และมูลนิธินิคม จันทรวิทูร ครั้งที่ 10 ประจำปี 2555 หัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจและแรงงานไทยภายใต้ประชาคมอาเซียน" เพื่อวิเคราะห์และวิจารณ์ถึงแนวความคิด ทิศทางระบบเศรษฐกิจไทย และผลกระทบของการดำเนินการทางเศรษฐกิจต่อการประกอบการ ในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งมิติการทำงานและคุณภาพชีวิตแรงงาน โดยมีการแสดงปาฐกถา และการอภิปรายเชิงนโยบาย
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณะบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวในปาฐกถานำตอนหนึ่งว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะทำให้เกิดการขยายตัวของการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจในภาพรวม นโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเดินหน้า แม้จะมีเสียงคัดค้านจากธุรกิจอุตสาหกรรมว่าจะทำให้เกิดปัญหาปิดกิจการหรือปัญหาเลิกจ้าง และอาจจะมีผลกระทบกับเอสเอ็มอีหรือธุรกิจขนาดเล็กในจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่นี่ไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่เดินหน้านโยบายนี้ ส่วนกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ รัฐต้องมีมาตรการเข้ามาดูแลเพิ่มเติม ถ้าหากไม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานบางส่วนอาจไม่อยากทำงาน และบางส่วนอาจกลับประเทศ เพราะค่าจ้างไม่ดึงดูดให้มาทำงานที่ประเทศไทย ทำให้ในบางกิจการหรือบางอุตสาหกรรมอาจเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน โรงงานที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งหลายอาจย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านบ้าง แต่ในทางทฤษฎี ในที่สุดค่าแรงของประเทศเพื่อนบ้านก็จะต้องปรับสูงขึ้น
“ที่สำคัญนโยบายด้านแรงงานเช่นนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการกระจายรายได้และปัญหาความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจให้ลดน้อยลง ดังนั้นควรจะรีบทำเสียตั้งแต่ตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตดีและอัตราว่างงานต่ำ แต่ต้องดำเนินการผ่านไตรภาคีเพื่อร่วมกันแก้ไขผลกระทบอันไม่พึงประสงค์ต่อเศรษฐกิจ” ดร.อนุสรณ์กล่าว
ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า ในภาพรวม ความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ คือ ความเสี่ยงของระบบการเมือง ที่วิกฤตทางการเมืองยังไม่สามารถได้รับการจัดการให้เกิดสภาวะปกติขึ้นได้ จึงกระทบต่อความสามารถต่าง ๆ ของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และลดทอนศักยภาพของประเทศไทยในการเป็นผู้นำประชาคมอาเซียน
นายยุทธนา สุระสมบัติพัฒนา ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงผลกระทบด้านแรงงานไทยเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ว่า นอกจากผลกระทบการเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มฝีมือ ทั้ง 7 อาชีพแล้วนั้น ผลกระทบทางอ้อมในระยะยาว กลุ่มสินค้า บริการ การลงทุน และเงินทุน ก็น่าจะส่งผลกระทบต่อแรงงานมากขึ้น เนื่องจากการเปิดเสรีใน 4 สาขา จะส่งผลให้รูปแบบการประกอบการในอาเซียนเปลี่ยนไป เช่น การเคลื่อนย้ายสินค้าเสรี ซึ่งจะส่งผลให้ภาษีนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศลดลงจนถึงขั้นไม่เก็บภาษี ทำให้ ผู้ประกอบการที่เคยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ เปลี่ยนไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศที่ราคาวัตถุดิบที่มีราคาถูกกว่าแทน ซึ่งจะส่งผล กระทบต่อการจ้างงานภายในประเทศ
ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายทรัพยากรบุคคลและพัฒนาองค์กรธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึง การพัฒนาศักยภาพแรงงานไทยว่า แรงงานไทยต้องมีความสามารถด้านภาษาเพิ่มขึ้น นอกจากศักยภาพในการทำงาน แล้ว ยังต้องมีความสามารถในการถูกจ้าง (employability) ด้วย คือ ความสามารถที่จะถูกจ้างไปทำงานและสามารถรักษาการถูกจ้างไว้ได้ ไม่ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกถ้ามีการลดขนาดองค์กรในอนาคต หรือสามารถถูกย้ายไปทำงานที่อื่นได้ เช่น คนที่ไม่มีภาระทางครอบครัวต้องดูแล จะมีความสามารถในการถูกจ้างสูงกว่า มีความคล่องตัวกว่าเมื่อต้องย้ายสถานที่ทำงาน