'ทีดีอาร์ไอ' ชี้ทางออกอนาคตข้าวไทย เร่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่
ชี้ทางออกอนาคตข้าวไทย เร่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่-ขยายขนาดฟาร์มให้ใหญ่ขึ้น ระบุ 'ข้าวขาว' ความหวังตลาดส่งออกข้าวไทย
เมื่อเร็วๆ นี้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวนำเสนอเรื่อง “ภาพอนาคตข้าวไทยจะเป็นอย่างไร” โดยระบุถึงภาพรวมและแนวโน้มระบบเศรษฐกิจข้าวไทย ใน 3 ด้านคือ 1.การบริโภคข้าว พบว่าการบริโภคข้าวต่อหัวทั่วโลกมีแนวโน้มที่ลดลง โดยเฉพาะชาวเอเชีย พบว่าหันไปบริโภคอาหารอื่นแทนข้าวมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยนั้น การบริโภคข้าวก็มีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ในปี 2554 คนเมืองบริโภคข้าวเพียง 84 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เทียบกับปี 2545 การบริโภคข้าวอยู่ที่ 93 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ขณะที่คนชนบทนั้น ปี 2554 บริโภคข้าวอยู่ที่ 99 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ลดลงจากปี 2545 ที่การบริโภคอยู่ที่ 114 กิโลกรัมต่อคนต่อปี
“2.ด้านการผลิต จากข้อมูลสถิติการผลิตข้าว พบว่า ข้าวนาปี มีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 24% ต่อปี และข้าวนาปรังอยู่ที่ 3.58% ต่อปี โดยสาเหตุสำคัญของการเพิ่มผลผลิตตลอดระยะกว่า 50 ปีที่ผ่านมาคือ การเพิ่มของผลผลิตต่อไร่ เพิ่มพื้นที่ เพิ่มรอบการเพาะปลูก และการปรับเปลี่ยนเวลาในการเพาะปลูก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่ออนาคตการผลิตคือ ราคาข้าวในตลาด”
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า 3.การส่งออกในตลาดโลก พบว่า ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา อินเดีย มีส่วนแบ่งในตลาดถึง 80% ขณะที่การส่งออกข้าวยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเวียดนามส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นจาก 13% เป็น 21% ของปริมาณข้าวส่งออกทั้งหมดในตลาดโลก และปากีสถานส่งออกข้าวเพิ่มจาก 6% เป็น 12.8% ของปริมาณส่งออกทั้งหมดในตลาดโลก ขณะที่ปริมาณการส่งออกของไทยลดลงจาก 32.2% เป็น 27.3% ของปริมาณข้าวส่งออกในตลาดโลก
“ทั้งนี้ สำหรับข้าวไทยที่มีการส่งออกเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ข้าวขาว อยู่ที่ 44.3% รองลงมาคือข้าวนึ่ง 31.8% และข้าวหักหอมมะลิ 7.3% เพราะฉะนั้น จากข้อมูลดังกล่าวพอจะมองเห็นว่า การส่งออกข้าวขาวใน 15 ปีข้างหน้าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ข้าวหอมและข้าวนึ่งที่มีราคาสูงและคุณภาพดี จะยังคงมีแนวโน้มการส่งออกที่ดีอยู่”
ดร.นิพนธ์ กล่าวต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายและอาจทำให้การส่งออกข้าวขาวของไทยประสบภาวะขาดทุน อาจเกิดขึ้นจากสาเหตุ 2 ประการคือ 1.ต้นทุนส่งออกต่ำกว่าราคาส่งออก เนื่องจากราคาที่พ่อค้าซื้อข้าวจากชาวนาหลังจากหักค่าใช้จ่ายทุกประเภทต่ำกว่าต้นทุนของชาวนา และ 2.ในอนาคตราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง เพราะการบริโภคลดลง แต่การผลิตต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่า ทางเลือกของเกษตรกร ชาวนาไทยและผู้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับข้าวในอนาคต มี 3 ทางเลือกคือ
1.เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น โดยการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยพันธุ์ข้าวที่มีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้
2.เพิ่มผลผลิตต่อชาวนา (รายได้ต่อหัว) เกษตรกรไทยยังมีแรงงานส่วนเกินเป็นจำนวนมาก ในหลายประเทศที่มีที่ดินน้อยกลับมีผลผลิตต่อชาวนาและพื้นที่เพาะปลูกสูง เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ขณะที่ประเทศไทยยังมี
ผลผลิตต่อเกษตรกรต่ำ ดังนั้นเห็นว่า ควรมีการโยกย้ายแรงงานในภาคเกษตร ที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 40% ออกจากภาคเกษตร ควรมีการเพิ่มขนาดฟาร์มเหมือนประเทศแถบยุโรป อเมริกา และใช้เครื่องจักรมากขึ้น
3.เพิ่มมูลค่าข้าว ราคาข้าว โดยปรับปรุงพันธุ์ข้าวหอมที่ได้รับความนิยมในตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณภาพในการแข่งขันมากขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรอาจแปรรูปข้าวเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่ากับวัตถุดิบที่มีอยู่ (value-added)
จากนั้นมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อระดมสมองวิเคราะห์อนาคตและทิศทางอุตสาหกรรมข้าวไทย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวและตัวแทนเกษตรกร โดยตัวแทนจากสมาคมโรงสีรายหนึ่ง กล่าวถึงประเด็นหลักในการหารือครั้งนี้ว่า ส่วนใหญ่เน้นในเรื่องการผลิตข้าวไทยในอนาคตว่าควรจะให้ความสำคัญกับเรื่องปริมาณ หรือคุณภาพ ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า การตั้งสมมุติฐานเช่นนี้เป็นการชี้นำ ให้เลือกระหว่างขาวกับดำ ซึ่งคนส่วนใหญ่คงต้องมีความเห็นออกมาในแนวทางที่ว่าให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพมากกว่า เพราะนั่นย่อมเป็นคำตอบที่ถูกใจคน ถูกใจสังคม แต่โดยส่วนตัวกลับมองเป็นการหลอกตัวเอง เพราะเอาเข้าจริงบ้านเรามีปัญหาในเรื่องปริมาณข้าวที่มีมากเกินไป จนต้องมีโครงการรับจำนำขึ้นมาดูดซับส่วนเกิน และอีก 5-10 ปีข้างหน้าคนไทยก็ยังคงจะต้องปลูกข้าวต่อไปอยู่ จะให้เลิกคงเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นจึงเห็นว่า ในเรื่องงคุณภาพและปริมาณคงต้องทำควบคู่กันไป ไม่สามารถเลือกได้ระหว่างขาวหรือดำ
ด้านนายวิรุทธิ์ กลัดจันดา ตัวแทนเกษตรกรและเหรัญญิกศูนย์ส่งเสริมและผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชนตำบลห้วยขมิ้น อ.หนองแค จ.สระบุรี กล่าวถึงภาพอนาคตข้าวไทยว่า หากจะสามารถเน้นในเรื่องคุณภาพได้นั้น คงจะต้องตั้งต้นกันที่การติดอาวุธทางปัญญาให้กับชาวนา ลดต้นทุนการผลิตอย่างไรให้ได้กำไร โดยเฉพาะในกลุ่มชาวนาที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีลงมา เนื่องจากจะมีการเปิดรับความรู้ วิธีการใหม่มากกว่าชาวนากลุ่มที่มีอายุมากๆ ขณะที่การกำหนดราคาก็เป็นตัวแปรที่สำคัญ หากข้าวที่มีคุณภาพ ข้าวอินทรีย์ขายได้ราคาเท่ากับข้าวคุณภาพต่ำ ก็ไม่เกิดแรงจูงใจให้เกษตรกรผลิตข้าวที่มีคุณภาพ เพราะสุดท้ายแล้วจะปลูกข้าวอายุสั้นหรือยาวก็ได้ราคาเท่ากัน จำนำแล้วก็ไปกองที่เดียวกัน