สภาอุตฯ 70 จว.นัดรวมพลยื่นเลื่อนปรับค่าแรง 300บ.เป็นปี 58
ส.อ.ท.นัดรวมพลสภาอุตฯ 70 จว. ยื่นนายกฯ ชะลอขึ้นค่าแรง 300 บาทออกไป ธ.ค.58 ยืนยันเอสเอ็มอีกระทบหนัก วอนชดเชยเหมือนอุ้มสินค้าเกษตร ส.ผู้ส่งออกฯขอบีโอไอผ่อนผันใช้แรงงานต่างด้าว
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสายงานอุตสาหกรรมจังหวัด ว่าประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 70 จังหวัด เตรียมนัดรวมตัวยื่นหนังสือและขอพบน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยืนยันว่าผู้ประกอบการได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทในวันที่ 1 ม.ค.55 และไม่ได้เห็นด้วยกับที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.ระบุว่าเอกชนไม่ได้รับผลและขอถอนเรื่องออก โดยอ้างว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขอยกวาระออกไปหารือนอกรอบ
"ภาคเอกชนจึงต้องชี้แจงกับนายกฯ เพื่อทบทวนเรื่องนี้ หากนายพยุงศักดิ์ไม่เห็นด้วย ก็ต้องถามนายพยุงศักดิ์ว่าจะยังเป็นผู้นำของภาคเอกชนต่อไปได้หรือไม่" นายทวีกิจ กล่าว
รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวอีกว่าสภาอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 70 แห่งต้องการให้นายกฯรับทราบความเดือดร้อนและหามาตรการช่วยเหลือชดเชยเยียวยาเช่นเดียวกับนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร เช่น นโยบายรับจำนำข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา เพราะภาคอุตสาหกรรมก็มีความสำคัญ ดังนั้นอาจออกมาตรการช่วยในระยะแรก เช่น จ่ายค่าแรงส่วนต่างให้กับภาคเอกชน เพื่อลดผลกระทบโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วนถึง 90% ยังไม่มีความพร้อมที่จะปรับขึ้นค่าแรง แต่ปัจจุบันที่ยังเปิดกิจการอยู่ได้ เพราะพยายามประคองกิจการในลักษณะหลังชนฝา
รายงานข่าวจาก ส.อ.ท.เปิดเผยว่าประธานอุตสาหกรรมจังหวัดไม่พอใจมากที่ไม่มีการเสนอให้ทบทวนการขึ้นค่าแรง 300 บาท ในที่ประชุม กรอ.ที่เกาะสมุย ทั้งที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แต่มีการดึงเรื่องออกก่อนประชุม 2 ชั่วโมงโดยอ้างว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จำเป็นต้องหารือนอกรอบ ซึ่งสศช.ได้สอบถามความเห็นนายพยุงศักดิ์ก็เห็นด้วย แต่ไม่ได้เป็นความเห็นของสมาชิกส่วนใหญ่
สำหรับข้อเสนอต่อนายกฯ ได้แก่ 1.ต้องการให้รัฐบาลคงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2558 และหากเศรษฐกิจผันผวนรุนแรงจนกระทบต่อค่าครองชีพของลูกจ้าง คณะกรรมการค่าจ้างสามารถพิจารณาทบทวนได้ตามความเหมาะสม 2.ต้องการให้มติการขึ้นค่าจ้างปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง 3.ลูกจ้างต้องจบการศึกษาขั้นต่ำชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 มีใบประกาศหรือเอกสารรับรอง 4.หลังวันที่ 31 ธ.ค.2558 ให้ยกเลิกค่าจ้างขั้นต่ำและปล่อยลอยตัวตามกลไกตลาด 5.รัฐบาลต้องมีโครงการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม
ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่าภาคเอกชนเห็นว่าการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท/วันทั่วประเทศ เดือน ม.ค.ปีหน้าเป็นอุปสรรคต่อเอสเอ็มอีในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน แต่หากไม่สามารถชะลอการปรับขึ้นได้ รัฐบาลจะต้องมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาให้กับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างจริงจัง แต่ในบางอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ผ่อนผันการใช้แรงงานต่างด้าว ในโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนออกไปอีก 2 ปี จากเดิมที่ต้องมีการต่ออายุทุก 6 เดือน ซึ่งในขณะนี้ได้มีการใช้แรงงานอยู่ 150,000 คน และในอนาคตอาจปรับเพิ่มขึ้นเป็น 500,000 คน .
ที่มาภาพ : http://www.rsunews.net/userfiles/images/labour%2014.jpg