มาตรฐาน“สรยุทธ” เทียบ“ทักษิณ” ด้อยกว่า“เสธ.หนั่น”และ…
".....ดังนั้นการที่นายสรยุทธใช้ความนิ่งสงบสยบเสียงเรียกร้องของผู้คนในสังคม (ยึดหลักสุขนิยม) เข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก ตีค่ามาตรฐานของตนเอง เสมอเทียบมาตรฐาน พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งอีกสถานะหนึ่งเป็นนักธุรกิจด้วยกันทั้งคู่..."
นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา นักเล่าข่าวชื่อดัง เจ้าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยังคงปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนต่อไปภายหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ว่าเขาในฐานะตัวบุคคลและบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ในฐานะนิติบุคคลมีความผิดฐานสนับสนุนพนักงาน บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ทุจริตเงินโฆษณาส่วนเกินของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 138 ล้านบาท
เท่ากับเมินกระแสเรียกร้องของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นและคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องการให้แสดงความรับผิดชอบต่อความคาดหวังในการสร้างบรรทัดฐานให้สังคม หยุดจัดรายการเรื่องเล่าเช้านี้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด
ในทัศนะของผู้เขียนถ้าเทียบ“มาตรฐาน”ของนายสรยุทธกับนักการเมืองคนดังที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลในอดีตต้องบอกว่า“มาตรฐาน”ของนายสรยุทธเทียบเคียง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มากที่สุดทั้งในเรื่อง“ข้อต่อสู้”ข้อกล่าวหา และ“เรื่องการตัดสินใจ”
กรณี“ข้อต่อสู้ข้อกล่าว”ที่ว่า นายสรยุทธได้ขอให้นางพิชชาภา เอี่ยมสอาด เจ้าหน้าที่ อสมท.ช่วยเหลือไม่ต้องรายงานเรื่องโฆษณาส่วนเกินเวลาของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยเสนอจ่ายเงินให้เป็นการตอบแทน นายสรยุทธปฏิเสธว่า การประสานงานเกี่ยวกับโฆษณาจะเป็นหน้าที่ของนางสาวมณฑา ธีระเดช ลูกน้องที่บริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีหน้าที่รับผิดชอบฝ่ายการตลาดของบริษัทไร่ส้ม และไม่เคยมอบหมายให้นางสาวมณฑาติดต่อกับนางพิชชาภา เอี่ยมสอาด หรือเจ้าหน้าที่คนใดของบริษัท อสมท เพื่อขอให้ช่วยเหลือไม่ต้องรายงานแจ้งเรื่องโฆษณาส่วนเกินและเสนอเงินตอบแทนใดๆ อีกทั้งในช่วงเวลาดังกล่าวนางสาวมณฑา ก็ไม่เคยแจ้งให้บริษัท ไร่ส้ม หรือนายสรยุทธหรือกรรมการของบริษัทฯคนอื่นๆ ทราบว่าได้มีการดำเนินการตามพฤติการณ์แห่งข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช.
ดังนั้นหากนางสาวมณฑาได้กระทำการตามพฤติการณ์ข้อกล่าวหาจริง ก็ต้องถือว่าเป็นการปฏิบัตินอกเหนือจากขอบเขตอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทฯและเป็นการกระทำที่นายสรยุทธไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ส่วนกรณีจ่ายเช็ค 7 ใบให้พนักงาน อสมท ก็เชื่อโดยสุจริตว่าเป็นการจ่ายค่าคอมมิชชันให้แก่บุคคลที่ช่วยหาโฆษณาให้แก่นางสาวมณฑา ไม่ใช่จ่ายค่าตอบแทนให้นางพิชชาภา
ขณะที่การต่อสู้ข้อกล่าวหาของ พ.ต.ท.ทักษิณในคดีซุกหุ้นภาคแรกในชื่อแม่บ้าน คนขับรถ และยาม มูลค่าหลายพันล้านบา พ.ต.ท.ทักษิณชี้แจงในชั้น ป.ป.ช.ว่าทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่ไม่แจ้ง ป.ป.ช. เพราะเป็นความผิดพลาดของเลขานุการส่วนตัวไม่เข้าใจการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน เป็นความบกพร่องโดยสุจริต
กรณีการตัดสินใจหลังถูกป.ป.ช.ชี้มูล นายสรยุทธชี้แจงผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2555 ว่า พร้อมพิสูจน์ข้อเท็จจริงและต่อสู้เรื่องนี้ไปตามกระบวนการ เคารพคำตัดสินของ ป.ป.ช. แต่ก็จะใช้สิทธิต่อสู้ในชั้นอัยการและศาลต่อไป
ขณะที่การตัดสินใจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ภายหลังจาก ป.ป.ช. มีมติ 8 ต่อ 1 เสียง วันที่ 26 ธันวาคม 2543 ว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิด ผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณจำนวนหนึ่งอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินหน้าทางการเมืองต่อไป แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยเรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณแสดงสปิริตทางการเมือง ทว่า พ.ต.ท.ทักษิณประกาศต่อสาธารณชนว่ากระบวนการพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุดจะขอสู้คดีในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ
เห็นได้ว่า ทั้งสองคน“โยนความผิด”ให้ลูกน้องในกรณีถ้ากระทำผิด และ “ไม่ลาออก” ด้วยกันทั้งคู่
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบ นายสรยุทธ กับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ คดีเงินกู้ 45 ล้านบาท แม้ข้อต่อสู้ข้อกล่าวหาแตกต่างกัน ผู้เขียนมีความเห็นว่า “มาตรฐาน”ของ พล.ต.สนั่นเหนือกว่า
นั่นเพราะว่า ภายหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ 9 เสียง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2543 เห็นว่า พล.ต.สนั่นจงใจยื่นบัญชีเอกสารและหลักฐานและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 รุ่งขึ้น 29 มีนาคม 2543 พล.ต.สนั่น แถลงลาออกโดยให้เหตุผลส่วนหนึ่งว่า
“เพื่อให้กระบวนการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการ ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญดำเนินไปอย่างอิสระ มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และเพื่อเป็นการพิสูจน์และยืนยันความบริสุทธิ์ใจของผมที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ โดยปลอดจากตำแหน่งหน้าที่และอำนาจใดๆทั้งสิ้น ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2543 เป็นต้นไป”
และถ้าเทียบมาตรฐานในการตัดสินใจของนายสรยุทธ กับ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลคดีจัดซื้อรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร และ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ (เจ้าของฉายามือปราบหูดำ) อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน) ซึ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูล (ป.ป.ช.ชี้มูล พล.ต.วิชัย วันเดียวกับคดีไร่ส้ม) เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 กับพวก ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต จับกุมผู้กล่าวหา แล้วบีบบังคับให้ใช้หนี้พนันบอล 10 ล้านบาท
ทั้งนายอภิรักษ์ และ พล.ต.ต.วิชัย ตัดสินใจลาออกในเวลาต่อมาและทันที
แน่นอนไม่ต้องเทียบการตัดสินใจลุกจากเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของนายวิทยา แก้วภราดัย กรณีคนใกล้ชิดถูกกล่าวหาในเรื่องงบฯในกระทรวง สธ. และ การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ของนายวิฑูรย์ นามบุตร กรณีปลากระป๋องเน่า ทั้งๆที่ยังไม่มีการชี้มูลจาก ป.ป.ช.
ดังนั้นการที่นายสรยุทธใช้ความนิ่งสงบสยบเสียงเรียกร้องของผู้คนในสังคม (ยึดหลักสุขนิยม) เข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจาก ตีค่ามาตรฐานของตนเอง เสมอเทียบมาตรฐาน พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งอีกสถานะหนึ่งเป็นนักธุรกิจด้วยกันทั้งคู่
กระนั้น สิ่งที่นายสรยุทธกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่เหมือนกันในชั่วเวลานี้ก็คือ คนหนึ่งถูกตัดสินว่าคอร์รัปชั่นไปล่วงหน้า อีกคนหนึ่งยังรอลุ้น?
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียน มิใช่ความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช.