อย่าให้คนเสียงดัง ส่วนน้อยพูดฝ่ายเดียว “วุฒิสาร” แนะคนกลางๆ มีเสียงบ้าง !
เวที อึด ฮึด ฟัง มองแนวทางสู่สันติประชาธิปไตย 'คนกลางๆ' ต้องส่งเสียงบ้าง ชี้ผู้นำขั้วการเมืองต้องสร้างบรรยากาศ หาข้อยุติร่วมกัน ฉะสื่ออย่าเร่งปฏิกิริยาความขัดแย้งในสังคม
วันที่ 28 ตุลาคม สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดเวทีสันติประชาธิปไตย ระดับชาติ ครั้งที่ 2 (อึด ฮึด ฟัง) วันที่ 2 ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา กรุงเทพฯ ภายในงานมีการอภิปรายนำ "แนวทางการปรองดองสู่สันติประชาธิปไตย" โดยมี นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม และดร.โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล ร่วมอภิปราย
นายวุฒิสาร กล่าวว่า แม้สังคมขณะนี้จะมองทางออกโดยเน้นที่การปรองดอง แต่เห็นว่าสิ่งสำคัญกว่า คือการสร้างสังคมสันติประชาธิปไตยที่อยู่กันอย่างเคารพกัน เพราะสังคมเสื้อสีและการแบ่งแยกที่เป็นอยู่นี้ไม่ใช่สภาวะที่ทุกคนอยากเห็นอยากได้ แต่เป็นสภาวะที่ถูกลากจูงเข้าไป เป็นความอ่อนด้อยในสังคมไทย ไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งสังคมที่มีความเห็นขัดแย้งในประชาธิปไตยและแน่นแฟ้นในการเป็นปฏิปักษ์กับอีกฝั่งเช่นนี้ คนที่ "อยู่กลางๆ" ต้องออกมามีเสียงบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้สังคมเป็นของคนที่เสียงดัง แต่ไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ของประเทศมีเสียงอยู่เพียงฝ่ายเดียว
"สังคมไทยขณะนี้กลายเป็นว่า เมื่อมีคนออกมาแสดงความเห็นก็ถูกผลักไปอยู่ข้างใดข้างหนึ่ง ข้อมูลของคณะกรรมการอิสระอย่างสถาบันพระปกเกล้า หรือ คอป.เมื่อรายงานออกมาก็ถูกวิจารณ์ ถูกตัดสินโดยผู้ที่ไม่ได้อ่าน เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่ด่ากันไปโดยไม่รู้ข้อมูล ใช้ความรู้น้อยกว่าความรู้สึก"
นายวุฒิสาร กล่าวถึงบทเรียนจากต่างประเทศสามารถพาสังคมที่ขัดแย้งกลับมาสู่ความยั่งยืนได้ โดยกระบวนการสำคัญ คือ สานเสวนา เพื่อให้เกิดความเข้าใจและเห็นร่วมกัน แต่ต้องพูดคุยระยะยาวจากเรื่องที่เห็นร่วมกันมากที่สุดก่อน ทั้งนี้ การค้นหาความจริงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้ได้คำอธิบายเหตุการณ์อย่างเป็นกลาง เยียวยาคนบางกลุ่ม ซึ่งการเยียวยามีทั้งกล่าวขอโทษไป ชดเชยเป็นตัวเงิน ให้โอกาสกลับมาอยู่ในสังคม พัฒนาอาชีพ การให้เกียรติสร้างอนุสรณ์สถาน และปฏิรูปโครงสร้างระยะยาวเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานของสังคม แต่ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ เจตจำนงที่ชัดเจนของผู้นำการเมืองในการปรองดอง สังคมโดยรวมต้องยอมรับผิด ให้อภัยและพูดถึงอนาคตร่วมกัน
สำหรับสังคมไทย นายวุฒิสาร กล่าวว่า การพยายามสร้างบรรยากาศให้เกิดความปรองดองเป็นสิ่งสำคัญ โดยการพูดคุย 3 ระดับ 1.ผู้นำการเมือง ต้องยอมรับซึ่งกันและกัน หาข้อยุติในบางเรื่อง 2.สื่อ มีส่วนสำคัญในการสร้างบรรยากาศที่ดีและเร่งปฏิกิริยาความขัดแย้ง สื่อต้องไม่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่ใช้ความอ่อนด้อยของสังคมที่เชื่อโดยไม่ค้นหาความจริงมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา อันจะทำให้สังคมแย่ไปกว่านี้ 3.ภาคประชาชน ควรเริ่มต้นพูดคุยกันที่เรื่องอนาคตของประเทศไทย มากกว่าเรื่องอดีตและความขัดแย้งที่เคยมีมา หรือพูดคุยเพื่อหาคนผิด ซึ่งจะยิ่งทำให้สังคมตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งต่อไป
"ในส่วนเรื่องกฎหมายเน้นย้ำว่าควรจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องท้ายๆ ของความปรองดอง ต้องออกหลังจากสังคมเห็นพ้องกันพอสมควร และอาจมีความจำเป็นต้องปฏิรูปสิ่งที่คนส่วนมากเห็นว่าไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในรัฐธรรมนูญบางข้อ เช่น การยุบพรรค"
ชี้คนไทยยังไม่ก้าวข้ามความขัดแย้ง
ขณะที่นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า จากนี้ไปสังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้ความขัดแย้งพูดคุยกันแค่ในกลุ่มที่ขัดแย้งกันเท่านั้น เหตุที่คนไทยยังไม่ก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ เนื่องจากไม่ยอมรับในข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระ ในขณะที่ต่างประเทศเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาต้องยุติความขัดแย้งแล้วให้คณะกรรมการอิสระมาหาทางออกให้และปฏิบัติตาม แต่ประเทศไทยกลับใช้ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเฉพาะที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ฉะนั้น ไม่ว่าข้อเสนอของคณะกรรมการชุดใดก็จะถูกลากดึงไปอยู่แต่ละฝ่าย เป็นปัญหาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นในสังคมที่ยังไม่ใช่ปัญญาในการแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า ยังมีความจำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมให้ดีที่สุด หากนำข้อเท็จจริงไป "แห่" ที่ท้องถนนปัญหาคงไม่จบ การเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยที่ผ่านมาได้นำไปสู่สังคมที่ดีขึ้นหรือไม่ มีการตรวจสอบที่ดีขึ้นหรือไม่ หรือเป็นประชาธิปไตยแบบพวกมากลากไป แล้วดึงองค์กรหรือสถาบันต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง
"ปัญหาของสังคมไทยอยู่ที่ความไม่เชื่อถือศรัทธาในกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งเรื่องสื่อเลือกข้างและคนเลือกสื่อ คนที่ใช้ประโยชน์จากสื่อเป็นต้นเหตุของปัญหามากที่สุด ในยุคที่คนเลือกเสพสื่อได้ จะทำให้เกิดการแบ่งแยกขั้วอำนาจ ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่มาก ที่ต้องข้ามผ่านไปให้ได้"
สุดท้าย ดร.โคทม กล่าวว่า หลายข้อเสนอที่นำมากล่าวถึงกันในสังคมขณะนี้ เป็นข้อเสนอที่นำไปสู่ความขัดแย้งใหม่ๆ ความรุนแรงรอบใหม่ และไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้ง อีกทั้ง คนในสังคมมีตรรกะแค่ 2 ทาง สุดโต่งของความขัดแย้งแต่ละด้าน โดยคิดว่าไม่มีทางเลือกอื่น ทั้งที่ยังมีอีกหลายทางเลือกที่จะก้าวข้ามความขัดแย้งไปด้วยกันได้ ต้องศึกษาความขัดแย้งเพื่อความเห็นใจ ศึกษาสันติวิธีและศึกษาการคืนดีกัน