เตือนผู้นำประเทศ พูดเรื่องปรับตัวรับอาเซียนได้ แต่อย่าตื่น
‘นักธุรกิจ’ แนะผู้นำประเทศ พูดเรื่องปรับตัวรับอาเซียนได้ แต่อย่าตื่น ระบุเพดานภาษีเป็นศูนย์ ต้องรอถึงปี ’63 ด้านคนข่าว จี้สื่อมวลชนพัฒนาภาษาอังกฤษ เลิกรายงานข่าวเพื่อนบ้านแบบเหยียดหยาม
วันที่ 27 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. จัดงานสัมมนาเนื่องในโอกาสครบรอบ 58 ปี วันสถาปนาคณะฯ หัวข้อ "ทิศทางของประเทศไทย ในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" Asean Economic Community / AEC
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวถึงประชาคมอาเซียนในมุมมองของนักบริหารว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบทั้งหมด ซึ่งจุดนี้เองทำให้ประเทศไทยต้องสร้างทุกอย่างใหม่ทั้งหมด และการมองในเรื่องของเศรษฐกิจนั้น จะต้องเชื่อมโยงกับมิติด้านสังคม การเมืองควบคู่กันไปด้วย
“ประเทศไทย ถือว่ามีความได้เปรียบ สามารถชนะทุกประเทศได้อยู่แล้วในขณะนี้ เพียงแต่จะต้องมีความชัดเจน รู้ตัวว่าเราจะอยู่จุดไหน ตรงไหนในเวทีอาเซียน บริษัทใหญ่ต้องให้ความช่วยเหลือบริษัทขนาดเล็ก จะเก่งคนเดียวไม่ได้อีกต่อไป ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องเก่งขึ้นด้วย” นายพรศิลป์ กล่าว และว่า สำหรับพื้นที่เออีซีนั้น เหมาะที่จะเป็นพื้นที่ลงทุนมากกว่าเป็นพื้นที่ค้าขาย ซึ่งเชื่อว่า การลงทุนจะเข้ามามากขึ้นกว่าเดิม 10-20 เท่า เรื่องนี้จึงเป็นการบ้านที่เราต้องคิดว่าจะปรับตัวอย่างไร เพื่อรองรับในเรื่องเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นำ ผู้ที่ดูแลนโยบายของประเทศชาติ จะต้องมีความเข้าใจที่ตรงกันในเรื่องเออีซีก็คือ เมื่อก้าวเข้าสู่เออีซีใน 2558 แล้ว จะไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใด โดยเฉพาะในเรื่องแนวโน้มภาษีเป็นศูนย์นั้น เชื่อว่าจะเกิดขึ้นจริงในปี 2563
ทั้งนี้ นายพรศิลป์ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งย่อมมีความเจ็บปวด แต่ถ้าไม่มีการปรับตัว นักธุรกิจก็มีโอกาสตายได้เช่นกัน
นางธนิฎฐา เศวตศิลา มณีโชติ รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวถึงรายได้จากการท่องเที่ยว ภายหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียนว่า หากไม่มีเหตุการณ์อุทกภัย การชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อ การก่อการร้าย หรือโรคระบาด คาดการณ์ว่า ในปี 2558 ภาคการท่องเที่ยวจะสร้างมูลค่าได้ถึง 2 ล้านล้านบาท
“ประเทศไทยเป็นขุมทองด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ราคาถูก ชาวต่างชาติจึงนิยมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว และจากการเก็บข้อมูลพบว่านักท่องเที่ยว 65% มักเป็นนักท่องเที่ยวรายเดิม บางคนมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว 2-3 ครั้ง ฉะนั้น หากภาคธุรกิจท่องเที่ยวปรับตัว เตรียมความพร้อมได้ การเปิดอาเซียนก็จะเป็นโอกาสที่สำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม การเปิดอาเซียนก็ทำให้ 32 ตำแหน่งงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะภาคโรงแรม สามารถเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี ทางกระทรวงท่องเที่ยวฯ จึงได้มีการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานอาชีพเหล่านี้ขึ้น ให้มีมาตรฐานที่สูงกว่ามาตรฐานของอาเซียน เพื่อให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปโดยง่าย และขณะนี้หลักสูตรดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้ว 2 หลักสูตร คาดว่ากลางปี 2556 จะดำเนินการในส่วนที่เหลือแล้วเสร็จ”
ด้านนายสมยศ รุจิรวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท บ้านปู จำกัด กล่าวถึงธุรกิจไทยที่จะขยายฐานการผลิตไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนว่า ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในประเทศนั้นๆ จะเติบโตได้ดี จะต้องอยู่ร่วมกับชุมชนได้ มีธรรมาภิบาล มีความโปร่งใส มีการบริหารจัดการที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก
โอกาสของสื่อไทยในอาเซียน
ขณะที่นายเทพชัย หย่อง ผู้บริหารเครือเนชั่น กรุ๊ป กล่าวถึงโอกาสของสื่อไทยในอาเซียนว่า สามารถมองได้ใน 2 มิติคือ 1.โอกาสในเชิงธุรกิจ และ 2.เชิงวิชาชีพ ซึ่งในส่วนของธุรกิจนั้น มองว่าสื่อของไทย สามารถขยายเข้าไปในประเทศอื่นๆ ได้ เช่น ในประเทศพม่า ที่พึ่งเปิดประเทศเมื่อเร็วนี้ แต่จะต้องไม่ไปแตะในเรื่องที่มีความอ่อนไหว เช่นเรื่องสังคม การเมือง และจุดที่เห็นโอกาสมากที่สุดคือเรื่องของบันเทิง เนื่องจากสื่อของไทยมีความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตรายการโทรทัศน์มีเทคโนโลยีและประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก และขณะนี้ช่อง 3 ก็เริ่มขยับแล้ว อนาคตอันใกล้จะได้เห็นละครไทย ภาษาประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น
นายเทพชัย กล่าวต่อว่า แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้น้ำหนักคือเรื่องวิชาชีพ สื่อไทยถือเป็นแบบอย่างของสื่อในการมีอิสระที่จะรายงานข่าวในเชิงตรวจสอบ ซึ่งหากต่อไปสื่อไทยให้น้ำหนักกับการรายงานข่าวเกี่ยวกับอาเซียน ในลักษณะถมช่องว่างการรับรู้ ให้ความสำคัญกับการเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่นประเด็นเรื่องข้าวในขณะนี้ ถ้าสื่อเข้าไปดูไปรายงานความเป็นอยู่ของชาวนาในประเทศเวียดนามว่า มีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายคลึงหรือแตกต่างจากชาวนาไทยอย่างไร มีวิธีจัดการบริหารจัดการอย่างไรไม่ให้โรงสีโกง หรือกรณีเรื่องการคอร์รัปชั่น ประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ มีกลไกอย่างไรที่ทำให้คนในสังคมรังเกียจ ภาคประชาชนเข้ามามีบทบาทในเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ เป็นแม่แบบที่ดีได้ในหลายเรื่อง
ส่วนนายสุระ เกนทะนะศีล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสิ่งที่สื่อไทยต้องปรับตัวว่า สื่อมวลชนจะต้องปรับตัวอย่างมากในเรื่องภาษาอังกฤษ ขณะเดียวกันจะต้องไม่ทำสื่อ ที่ไปดูหมิ่นเหยียดหยามประเทศเพื่อนบ้าน ในทางกลับกัน จะต้องทำสื่อที่ทำให้ทุกคนมีสิทธิมีเสียง มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน
ปิดท้ายที่ นางอ่อนอุสา ลำเลียงพล สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าวว่าโอกาสการธุรกิจโฆษณา และสื่อสารการตลาดที่จะขยายฐานเข้าไปยังประเทศต่างๆ ในอาเซียนว่า โอกาสที่โฆษณาจะเข้าไปในประเทศมาเลเซียเป็นเรื่องยาก เพราะโฆษณาถือเป็นเป็นธุรกิจหลักของประเทศนี้ อีกทั้งยังมีมาตรการในการคุมสื่อโฆษณา ที่หากใช้ดารา แบรนด์จากต่างประเทศจะต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่าหลายเท่าตัว แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าในประเทศสมาชิกเหลือ ค่อนข้างจะเป็นโอกาสของไทย เพราะการแข่งขันในเรื่องโฆษณานั้นวัดกันที่ความคิดสร้างสรรค์ แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้างในเรื่องเทคโนโลยี 3 จีวันนี้ บ้านเรายังเคลียร์ไม่เสร็จสรรพ ขณะที่เพื่อนบ้านกำลังพูดถึง 4 จีเจริญก้าวหน้าไปไกลแล้ว