เวที “อึด ฮึด ฟัง” เผยเสียงคนใต้ขอรักษาอัตลักษณ์
เวทีสันติประชาธิปไตยระดับชาติ ครั้งที่ 2 “อึด ฮึด ฟัง” เผย เสียงคนใต้ เห็นด้วยหยุดงาน “วันศุกร์” เพื่อให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้า -สอดคล้องตามหลักศาสนาและวิถีชีวิต ด้านจ.ยะลา เชื่อการปกครองตนเอง ช่วยแก้ปัญหาไฟใต้ได้ผล
วันที่ 27 ต.ค. สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมมือกับโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) และ USAID จัดเวทีสันติประชาธิปไตยระดับชาติ ครั้งที่ 2 “อึด ฮึด ฟัง” ที่โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งมีการนำเสนอรายงานการจัดเวทีประชาธิปไตยระดับภูมิภาค โดยตัวแทนของคณะทำงานโครงการสันติประชาธิปไตยใน 7 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ภาคอีสานตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน ภาคใต้ตอนล่าง และเวทีสานสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการจัดเวทีเสวนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ตัวแทนคณะทำงานภาคใต้นำเสนอว่า เสียงจากภาคใต้เน้นการรักษาอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เช่น การแต่งกายฮิญาบถือเป็นอัตลักษณ์ตามหลักศาสนา รัฐควรเป็นผู้นำในการส่งเสริม แต่ทุกวันนี้รัฐเป็นตัวขัดขวาง เห็นว่าการปฏิบัติศาสนกิจเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐ บางหน่วยงานไม่ให้คนแต่งฮิญาบ ขณะที่ภาคเอกชนบางส่วนก็ไม่ให้คนแต่งฮิญาบเข้าทำงาน
ส่วนประเด็นใหญ่เรื่อง “วันศุกร์” ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เสียงส่วนใหญ่ในเวทีเสวนาเห็นว่าควรจะหยุดทำงานในวันศุกร์เพื่อให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน รวมถึงโรงเรียนและสถานที่ราชการต่าง ๆ ด้วยเพื่อให้สอดคล้องตามหลักศาสนาและวิถีชีวิต ด้านจังหวัดยะลาต้องการให้มีการปกครองตนเอง ซึ่งน่าจะเป็นตัวช่วยแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้
สำหรับภาคใต้ตอนบนเน้นปรับปรุงโครงสร้างระบบการปกครองและแก้ไขระบบการเลือกตั้งให้เหมาะสมกับบริบทชุมชนท้องถิ่น คนยากจนเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมในคดีความต่าง ๆ เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเพียงพอ คนพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติ หรือแรงงานต่างด้าวต้องอยู่ในสังคมอย่างไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า การนำเสนอรายงานการเสวนารับฟังเสียงของประชาชนทางภาคเหนือมุ่งในเรื่องของจังหวัดจัดการตนเอง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพื่อจัดการในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา และชาติพันธุ์ ขณะที่เชียงใหม่กำลังผลักดันให้เกิดเชียงใหม่มหานคร
ด้านภาคอีสานเน้นเรื่องของการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนขององค์กรภาคประชาชนและเครือข่ายที่มีความเข้มแข็ง เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อคนในท้องถิ่นเป็นหลักมากกว่าประโยชน์ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงส่งเสริมด้านการศึกษาให้มีระบบทุนเรียนฟรีจนถึงปริญญาเอก
อย่างไรก็ตามในช่วงท้าย มีการวิพากษ์รายงานของเวทีระดับภูมิภาคโดยผู้เข้าร่วมประชุม นายฐิรวุฒิ เสนาคำ จากเครือข่ายเวทีสันติประชาธิปไตยจังหวัดนครศรีธรรมราช เสนอว่า ทุกภาคยังขาดการนำเสนอเรื่องยุทธศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตย ในประเด็นการแก้ปัญหาความขัดแย้ง การแก้รัฐธรรมนูญ และการปรองดอง จึงอยากให้การนำเสนอในเวทีการประชุมวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นไปผลักดันให้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประชาธิปไตย