ผู้บริโภคเสนอวิธีปลดหนี้พลังงาน ก่อนดินพอกหางหมูลุกลามเกินแก้
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดที่มาหนี้พลังงานนับหมื่นล้านบาท มาจากมติครม.ปี 2551 ชี้เงินกองทุนน้ำมันเหมือนมีไว้เพื่อโอบอุ้มธุรกิจปิโตรเคมี ได้ใช้ในราคาที่ถูก ขณะที่ ส.ว.รสนา ฝากถึง รมต.คนใหม่ ให้ธุรกิจปิโตรเคมีนำเข้าก๊าซแอลพีจีแล้วจ่ายเงินเอง
วานนี้ (26 ต.ค.) ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 17 นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา จัดเวทีเสวนา สานปัญญา สู้ปัญหาพลังงาน ตอน “รู้รักษ์พลังงานไทย”
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำเสนอข้อมูลปริมาณการใช้ก๊าซหุงต้ม หรือ LPG จากปี 2551-2554 ซึ่งผู้ใช้มี 4 กลุ่ม ได้แก่ ภาคปิโตรเคมี ภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม โดยภาคปิโตรเคมีใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยใช้ไป 1,188,919 ตัน คิดเป็น 62% ขณะที่ภาคครัวเรือนซึ่งก็คือคนไทยทั้งประเทศใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นรวมกัน 532,643 ตัน คิดเป็น 28% และภาคยานยนต์ที่ถูกอ้างว่าเป็นตัวทำให้เกิดการขาดแคลนแอลพีจี ก็ใช้เพิ่มขึ้นเพียง 144,288 ตัน โดยประเทศไทยเริ่มผลิตก๊าซแอลพีจีได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้และต้องนำเข้าตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยราคาส่วนต่าง
นายอิฐบูรณ์ กล่าวต่อว่า ที่มาของหนี้พลังงานนับหมื่นล้านบาทในทุกวันนี้ มีที่มาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2551 กำหนดให้ภาค ปิโตรเคมีใช้ก๊าซหุงต้มเป็นลำดับแรกเท่ากับภาคครัวเรือน ต่อเมื่อก๊าซที่ผลิตภายในประเทศเหลือจึงค่อยให้ภาคครัวเรือนกับยานยนต์ได้ใช้ หากไม่พอให้นำเข้าและให้ภาคยานยนต์รับผิดชอบโดยใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุน เงินกองทุนน้ำมันจึงเหมือนมีไว้เพื่อไปโอบอุ้มธุรกิจปิโตรเคมีซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.ปตท ให้ใช้แอลพีจีในการผลิตเม็ดพลาสติกได้ในราคาที่ถูก แล้วนำไปขายให้อุตสาหกรรมรถยนต์เพื่อผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ขณะที่รัฐบาลก็ออกมาตรการส่งเสริมรถคันแรก จึงเท่ากับได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
“โฆษณารวมพลังปลดดินพอกหางหมูของกระทรวงพลังงานพูดในทำนองที่หาว่าคนที่ใช้ก๊าซหุงต้มเป็นพวกเอารัดเอาเปรียบ แต่เขาไม่บอกเลยว่าที่จริงแล้วก๊าซหุงต้มจำนวนหนึ่งเป็นสมบัติของคนไทยทั้งประเทศ ในทางธุรกิจรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใน บมจ.ปตท.อยู่ 51% และนำเงินภาษีไปสนับสนุนโรงแยกก๊าซและระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ แต่ในทางกฎหมายต้องถือว่าคนไทยเป็นเจ้าของโรงแยกก๊าซทั้งหมด 100% และสิ่งที่โฆษณา นักการเมือง กระทรวงพลังงานไม่ค่อยพูดถึงเลยว่าคนที่ใช้ก๊าซหุงต้มอีกกลุ่มใหญ่ ๆ ก็คืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี นี่คือสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าแล้วเราจะรักษาพลังงานของเราได้อย่างไร” นายอิฐบูรณ์กล่าว
นางสาวรสนา โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวเสริมว่า จุดประสงค์ของโฆษณาชิ้นนี้เพื่อต้องการบอกว่าจำเป็นต้องขึ้นราคาก๊าซหุงต้มแล้ว เพื่อปลดหนี้ดินพอกหางหมูที่สะสมอยู่ ตอนนี้สิ่งที่กระทรวงพลังงานและบริษัทปตท.ต้องการมากที่สุดคือขอให้ขึ้นราคาแอลพีจีของภาคครัวเรือนอีกถังละ 100 บาท ขณะที่ได้ขึ้นราคาก๊าซในภาคอุตสาหกรรมเล็กไปแล้วเป็น 21 บาทต่อกิโลกรัมและมีเป้าหมายจะขึ้นให้ถึง 27 บาทต่อกิโลกรัม คาดว่าถ้าขึ้นราคาได้แล้ว ปตท.จะมีกำไรอีกปีละไม่ต่ำกว่าห้าหมื่นล้านบาท ดังนั้นภาคปิโตรเคมีที่เป็นผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีมากที่สุดควรนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศเอง เพราะภาคปิโตรเคมีไม่เคยเอาเงินมาลงในกองทุนน้ำมัน ซึ่งเป็นการเอาเปรียบ
“ต้องบอกกระทรวงพลังงาน รัฐมนตรีคนใหม่ที่กำลังจะมาว่าวิธีปลดดินพอกหางหมูที่ดีที่สุดและไม่เดือดร้อนชาวบ้านก็คือให้ธุรกิจปิโตรเคมีนำเข้าก๊าซแอลพีจีแล้วจ่ายเงินเอง เพราะดินพอกหางหมูที่เราต้องแบกอยู่ทุกวันนี้คือค่าใช้จ่ายของภาคปิโตรเคมีนั่นแหละ” น.ส.รสนากล่าว
นอกจากนี้เอกสารเผยแพร่ “พลังงานไทย พลังงานใคร?” ของคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้นำเสนอข้อมูลพลังงานน้ำมันด้วยว่า ปัจจุบันคนไทยต้องซื้อน้ำมันในราคาแพง ทั้งที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันสำเร็จรูปได้มากถึง 40% ของปริมาณการใช้ภายในประเทศ และเป็นเจ้าของบ่อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากกว่า 50 แหล่ง และหลุมผลิต 5,595 หลุม แต่ราคาน้ำมันถูกตั้งเสมือนว่านำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ทั้ง 100% ทั้ง ๆ ที่เรากลั่นเองในประเทศ รัฐบาลอนุญาตให้โรงกลั่นมีเสรีในการผูกขาด ราคาขายปลีกน้ำมันของไทยก็มักลงช้ากว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมาก
โฆษณารวมพลังปลดหนี้แก๊ส LPG
http://www.youtube.com/watch?v=6hVsBMzrWpo
ที่มาภาพ : http://bit.ly/S2Nxpw