รบ.ยัน “เขื่อนแก่งเสือเต้น” คุ้มค่าลงทุน ช่วยป้องน้ำท่วม-แก้ภัยแล้งได้จริง
รบ.ยิ่งลักษณ์ ยัน “เขื่อนแก่งเสือเต้น” งบ 12,972 ลบ. คุ้มค่าลงทุน อ้างชาวบ้านเห็นด้วย มีแค่ NGO ที่ค้าน ชี้เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 7 แสนไร่ช่วยลดภัยแล้ง-ป้องกันน้ำท่วมได้จริง
ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 129 ตอนพิเศษ 132 ง ได้เผยแพร่ กระทู้ถามที่ 476 ร. เรื่อง โครงการก่อสร้างแก่งเสือเต้น โดยนายนิยม วรปัญญา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์มอบหมายให้นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกฯ และ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามาตอบแทน โดยให้ตอบคำถามลงในราชกิจจานุเบกษา
สำหรับคำถามของนายนิยม มีดังนี้
1.รัฐบาลมีความคืบหน้าและนโยบายโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่ ถ้ามีจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณใด ถ้าไม่มี เป็นเพราะสาเหตุใด ขอทราบรายละเอียด
2.หากรัฐบาลมีนโยบายดำเนินการโครงการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รัฐบาลได้เคยมีการตั้งคณะกรรมการหรือจ้างสถาบันทางวิชาการระดับประเทศเพื่อศึกษาวิจัยผลดีและผลเสียของการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือไม่ ผลสรุปของการศึกษาวิจัยเป็นอย่างไร ขอทราบรายละเอียด
3.รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นซึ่งจะกักเก็บน้ำได้เป็นปริมาณเท่าใดและเป็นพื้นที่กี่ตารางเมตร ขอทราบรายละเอียด
4.รัฐบาลมีนโยบายสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นซึ่งจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากน้อยเท่าใด ขอทราบรายละเอียด
5.ขอให้รัฐบาลศึกษาการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่แม่น้ำน่านและแม่น้ำยม อย่างน้อยแม่น้ำละหนึ่งอ่างเก็บน้ำเหนือแก่งเสือเต้น เพื่อให้น้ำในแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมถ่ายเทกันจะได้หรือไม่ ประการใด จะแล้วเสร็จเมื่อใด ขอทราบรายละเอียด เพราะแม่น้ำทั้ง 2 แควนี้มีความลาดชันมาก โดยขอให้รัฐบาลเร่งสั่งการกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำและกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันสำรวจออกแบบก่อสร้างให้จะได้หรือไม่ ประการใด ขอทราบรายละเอียด
ขณะที่คำตอบของนายชุมพล มีดังนี้
คำตอบข้อที่ 1
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบว่า โครงการแก่งเสือเต้นมีราคาโครงการรวมทั้งสิ้น 12,972 ล้านบาท แยกเป็นราคาค่าก่อสร้าง 6,174 ล้านบาท ราคาค่าดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม 6,798 ล้านบาท ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนาโครงการแก่งเสือเต้นที่สำคัญ ได้แก่ ด้านการเกษตรปีละ 2,056 ล้านบาท ด้านการบรรเทาอุทกภัยปีละ 484 ล้านบาท ด้านอุปโภค-บริโภคปีละ 68 ล้านบาท ผลการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจพบว่าโครงการมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 2,669 ล้านบาท ผลตอบแทนต่อค่าใช้จ่าย (B/C Ratio) เท่ากับ 1.31 ที่อัตราคิดลดร้อยละ 12.00 และมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) เท่ากับร้อยละ 15.65 ซึ่งเป็นโครงการที่มีความคุ้มค่ากับการลงทุน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขออนุมัติ ครม.เข้าดำเนินการตรวจสอบข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นและทำความเข้าใจกับราษฎรโดยทั่วไป ทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ และมีมติเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2550 โดย ครม.เห็นชอบให้มีการศึกษาวิเคราะห์ทั้งระบบลุ่มน้ำยม (การจัดการลุ่มน้ำยม) มิใช่เฉพาะแก่งเสือเต้นเท่านั้น และเห็นควรให้มีวิธีการดำเนินการโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการและมีส่วนร่วม รวมทั้งให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อทำหน้าที่ในการวางกรอบแนวทางในการศึกษา และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกรมชลประทานรับไปพิจารณากำหนดองค์ประกอบ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้มอบหมายให้คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำกรอบแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยม โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการที่คณะกรรมการฯได้วางกรอบ ไปรับฟังความคิดเห็นและดำเนินการศึกษา โดยมีสาระสำคัญของผลการศึกษา 2 ประเด็น ได้แก่ การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงกลยุทธ์ (SEA) และการใช้นโยบายสาธารณะแบบบูรณาการ เป็นกระบวนการที่ให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในกระบวนการศึกษา ผลจากการศึกษาสรุปได้ว่าทางเลือกในการจัดการในลุ่มน้ำยมมีด้วยกัน 4 ทางเลือกประกอบด้วย
- ทางเลือกที่ 1 มีการพัฒนาเฉพาะมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง และการปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทาน
- ทางเลือกที่ 2 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง และมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ทั้งอ่างเก็บน้ำ และฝาย ประตูระบายน้ำ ตามลำน้ำยม รวมถึงการพัฒนาและการจัดสรรน้ำในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก
- ทางเลือกที่ 3 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง และมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแม่น้ำยมและเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน
- ทางเลือกที่ 4 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง และมาตรการใช้สิ่งก่อสร้างทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น
ผลจากการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “ทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำ” ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนบนและลุ่มน้ำยมตอนล่าง รวม 9 จังหวัด ได้แก่ จ.พะเยา ลำปาง น่าน แพร่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร และนครสวรรค์ โดยจัดให้มีการประชุมรวมทั้งหมด จำนวน 9 ครั้ง โดยพื้นที่และกลุ่มประชาชนเป้าหมายของการประชุมในพื้นที่ลุ่มน้ำยมได้ครอบคลุมพื้นที่และกลุ่มประชากรเป้าหมายที่มาจากพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยทั้ง 11 ลุ่มน้ำดังกล่าวข้างต้น มีพื้นที่ครอบคลุม 16 ตำบล 31 อำเภอ 10 จังหวัด มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมถึง 6,313 คน
ซึ่งผลสรุปจากการมีส่วนร่วมในการจัดระดับความสำคัญของทางเลือกในการพัฒนาลุ่มน้ำยมพบว่า ผู้มีส่วนได้เสียส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ 4 รองลงมาได้แก่ ทางเลือกที่ 3 ทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 1 ตามลำดับ ยกเว้นกลุ่มองค์กรอิสระที่ให้ความสำคัญกับทางเลือกที่ 4 น้อยที่สุด
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน ได้นำส่งรายงานการศึกษาระบบการจัดการลุ่มน้ำยมโดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการไปยังกรมทรัพยากรน้ำเพื่อนำเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบและเสนอ ครม.เพื่อทราบและนำผลการศึกษาไปเป็นกรอบในการกำหนดแผนงาน โครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานต่อไป
คำตอบข้อที่ 2
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบว่า กรมชลประทานได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำยมโดยรอบด้าน เพื่อให้เกิดการยอมรับในการพัฒนาโครงการ เกิดผลกระทบต่อประชาชนให้น้อยที่สุด รวมทั้งสามารถลดปัญหาด้านน้ำในลุ่มน้ำให้ได้มากที่สุด สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนในลุ่มน้ำและแก้ปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การศึกษาล่าสุดของกรมชลประทาน จำนวน 2 โครงการ สรุปผลการศึกษาได้ ดังนี้
1.โครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษในลุ่มน้ำยมแบบบูรณาการ ที่คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแก้ไขปัญหาน้ำภาคเหนือให้ความเห็นในขั้นตอนแปรญัตติงบประมาณ พ.ศ. 2552 (การศึกษาเสร็จเดือน ก.ย.2553) มีผลสรุปดังนี้
การขยายตัวทางเศรษฐกิจและชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของพื้นที่การเกษตร การบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำลำธาร ทำให้ประชาชนในลุ่มน้ำยมประสบปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และคุณภาพน้ำทุกปี และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เนื่องจากปัจจุบันลุ่มน้ำยมยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ในลุ่มน้ำ มีเพียงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่มีความจุเก็บกักรวมกันเพียงร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยรายปีในลุ่มน้ำยม เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและอุทกภัยในฤดูฝน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างซึ่งมีสภาพเป็นพื้นที่ราบลุ่มเหมาะสำหรับการเกษตรกรรม การบรรเทาปัญหาด้านน้ำท่วม น้ำแล้ง ในลุ่มน้ำยม ควรแก้ไขปัญหาน้ำโดยดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นหัวงานตั้งอยู่ที่ตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีความจุเก็บกัก 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร(เหมาะสมในด้านค่าลงทุนและวิศวกรรม)
2.โครงการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยมโดยกระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการ (SEA) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ส.ค.2550 ศึกษาเสร็จแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2554
สรุปผลได้ว่าจากการเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในทุกขั้นตอนของกระบวนการศึกษา เริ่มตั้งแต่การแสดงความคิดเห็นต่อกรอบการศึกษา บทบาทของการใช้ประโยชน์และการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมอย่างยั่งยืนการจัดลำดับความสำคัญของทางเลือกในการจัดการลุ่มน้ำยม และการปรึกษาสาธารณะของแผนทางเลือก รวมทั้งสิ้น 119 เวที จำนวนผู้มีส่วนได้เสีย 6,313 คน ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแผนการแก้ไขปัญหาลุ่มน้ำยมตามแนวทางของโครงการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น โครงการพัฒนาพื้นที่พิเศษในลุ่มน้ำยมแบบบูรณาการ ในส่วนของโครงการใหญ่ ราษฎรส่วนใหญ่เห็นว่าการพัฒนาโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมีความสำคัญในการพัฒนามากกว่าเขื่อนแม่น้ำยมตอนบนและเขื่อนแม่น้ำยม
คำตอบข้อที่ 3
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นปิดกั้นแม่น้ำยมเหนือจุดบรรจบแม่น้ำงาวกับแม่น้ำยมประมาณ 7 กิโลเมตร ในเขต ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำฝน 3,583 ตารางกิโลเมตร มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย ณ ที่ตั้งหัวงานปีละ 978 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเขื่อนเป็นชนิดเขื่อนหินถมดาดคอนกรีต (Concrete Faced Rockfill Dam : CFRD) ระดับเก็บกักปกติ ที่ + 258.00 เมตรระดับน้ำทะเลกลาง (รทก.) ระดับสันเขื่อน + 261.00 เมตร รทก. ความจุอ่างเก็บน้ำที่ระดับเก็บกักปกติ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร ความสูงเขื่อนประมาณ 69.00 เมตร ความยาวสันเขื่อน 540.00 เมตร มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ 66.78 ตารางกิโลเมตร หรือ 41,738 ไร่ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 774,200 ไร่ ลดน้ำหลากของลุ่มน้ำยม ได้ร้อยละ 13-25 ลดภัยแล้งได้ร้อยละ 27.20 ของความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง
คำตอบข้อที่ 4
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบว่า ครม.มีมติเมื่อวันที่ 2 ก.ย.2523 อนุมัติในหลักการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยศึกษาความเหมาะสมโครงการผันน้ำปิง-ยม-น่าน ซึ่ง “โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น” เป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงการนี้ ลักษณะเป็นโครงการอเนกประสงค์ มีความจุเก็บกัก 2,250 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจากมีผลกระทบต่อราษฎรจำนวนมาก จึงปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์โครงการโดยเน้นเพื่อการเกษตรเป็นหลัก พร้อมกับลดระดับความสูงของเขื่อนลง และโอนงานให้กรมชลประทานรับผิดชอบแทนตั้งแต่ พ.ศ.2528
คำตอบข้อที่ 5
ขอเรียนว่า จากข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบว่า กรมชลประทานมีแนวทางในการบริหารจัดการน้ำของลุ่มน้ำยมและน่าน ดังนี้
1.โดยธรรมชาติของลุ่มน้ำยมและน่านในตอนล่าง มีระบบคลองธรรมชาติที่เชื่อมต่อกัน ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำร่วมกันได้ ส่วนพื้นที่ตอนบนเป็นภูเขาสูงแบ่งพื้นที่รับน้ำแยกจากกัน ไม่มีลำน้ำเชื่อมต่อกัน
2.ในลุ่มน้ำยมจำเป็นต้องพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เพื่อเก็บกักน้ำส่วนเกินในลุ่มน้ำเองบางส่วน และใช้เป็นน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่เกษตรของลุ่มน้ำยมรวมทั้งพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในลำน้ำสาขา เช่น อ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อ.เชียงม่วน จ.พะเยา อ่างเก็บน้ำแม่ตีบ อ.งาว จ.ลำปาง เป็นต้น ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำในลำน้ำสาขาของแม่น้ำยมทางตอนบนของลุ่มน้ำ
3.พัฒนาอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำน่านตอนบนเหนือเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อลดปริมาณน้ำหลากที่ไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ในช่วงฤดูฝน เพื่อให้เขื่อนสิริกิติ์สามารถประกันการพร่องน้ำในช่วงต้นฤดูฝนใช้รับน้ำหลากช่วงกลางและปลายฝนได้อย่างมั่นใจได้ว่าในปีที่มีน้ำน้อยจะยังมีนํ้าต้นทุนเสริมจากอ่างเก็บน้ำที่พัฒนาไว้ตอนบนได้ ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้ทำการศึกษาพบว่าสามารถพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลางซึ่งผ่านการดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมเบื้องต้นแล้ว แต่ยังจำเป็นต้องศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมก่อน จำนวนอย่างน้อย 4 โครงการ ได้แก่
1) อ่างเก็บน้ำน้ำกอน บ้านผาน้ำย้อย ต.พญาแก้ว อ.เชียงกลาง จ.น่าน
2) อ่างเก็บน้ำน้ำริมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านฮวก ต.แสนทอง อ.ท่าวังผา จ.น่าน
3) อ่างเก็บน้ำน้ำกุ๋ย บ้านสบกุ๋ย ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จ.น่าน
4) อ่างเก็บน้ำน้ำยาว (ตะวันออก) บ้านดอนน้ำยาว ต.อวน อ.ปัว จ.น่าน ความจุเก็บกักรวมประมาณ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร
4.พัฒนาอ่างเก็บน้ำในลำน้ำสาขาลำน้ำน่าน เพื่อลดปริมาณน้ำหลากและจัดการทางเดินของน้ำไม่ให้ไหลลงแม่น้ำน่านในเวลาเดียวกัน
5.การพร่องน้ำในเขื่อนสิริกิติ์ในข้อ 3 เพื่อรับน้ำหลาก ประกอบกับการบริหารจัดการน้ำให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านด้านล่างมีระดับไม่สูงนัก จะสามารถช่วยรองรับน้ำหลากจากแม่น้ำยมได้บางส่วน