ปปง. เปิดเส้นทาง 'โพยก๊วน' ธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ทิ้งร่องรอย
พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ สร้างความเข้าใจเรื่องรูปแบบวิธีการฟอกเงินประเภทโพยก๊วน ย้ำชัดเป็นธุรกรรมที่เป็นการปกปิด อำพราง ที่ไม่ทิ้งร่องรอยแห่งพยานหลักฐานให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้
วันที่ ๒๖ ตุลาคม พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เลขาธิการ ปปง.) แถลงผลการดำเนินงานที่สาคัญของสำนักงาน ปปง. ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะความคืบหน้าของร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่....) พ.ศ. .... และร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฉบับใหม่ ด้วยคะแนนเสียง ๓๗๑ เสียง ต่อ ๐ หลังจากนี้จะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาต่อไป
จากนั้น เลขาธิการ ปปง. กล่าวถึงรูปแบบวิธีการฟอกเงินนอกระบบประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการไซฟ่อนเงิน (Syphon หรือ siphon) นั่นคือ โพยก๊วน นั้น เป็นการทำธุรกรรมนอกระบบอีกประเภทหนึ่งที่นิยมใช้ในการโอนเงินเข้าออกนอกประเทศโดยไม่ผ่านสถาบันการเงิน และการใช้โพยก๊วนเป็นธุรกรรมทางการเงินที่ไม่ทิ้งร่องรอยแห่งพยานหลักฐานให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ หรือเรียกว่า Paperless Transaction
"การใช้โพยก๊วนภาษาอังกฤษใช้ศัพท์ว่า Underground Banking หรือระบบธนาคารใต้ดิน โดยการทำธุรกรรมทางการเงินโดยใช้โพยก๊วน อาศัยหลักการพื้นฐานที่สาคัญ คือ ต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คนหนึ่งคนสามารถใช้กระดาษธรรมดาเปล่า ๆ เพียงใบเดียวเพื่อเบิกจ่ายเงินจานวนหลายล้านได้ หรือการชำระราคาที่สำเร็จเสร็จสิ้นได้โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายเงินทุนหรือทองรูปพรรณ เป็นต้น จึงทำให้องค์กรอาชญากรรมที่ประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ค้ายาเสพติด การหลีกเลี่ยงภาษี การโอนเงินเข้าออกนอกประเทศ ฯลฯ หันมาใช้วิธีการโอนเงินทางธนาคารใต้ดินหรือโพยก๊วน เพื่อหลบหลีกการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ได้"
และเนื่องจากยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายใด ๆ ที่เข้ามาตรวจสอบดูแลการเงินนอกระบบประเภทนี้ พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า จึงกลายเป็นช่องว่างให้ธุรกิจเกี่ยวกับโพยก๊วน เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และเอื้ออำนวยต่อการเคลื่อนย้ายเงินขององค์กรอาชญากรรมเพื่อการฟอกเงินได้เป็นอย่างดี จึงมีการศึกษาหาวิธีการป้องกันและปราบปรามการใช้โพยก๊วน โดยผ่านการประชุมหน่วยงานเฉพาะกิจระหว่างประเทศในหลายภูมิภาคของโลก ได้แก่ OECD:Financial Action Task Force on Money Laundering (FATF) ในภูมิภาคยุโรป กลุ่ม Caribbean Finacial Action Task Force (CFATF) ในแถบทะเลแคริบเบียน เป็นต้น นอกจากนั้น ยังกำหนดมาตรการผ่านหน่วยงานกลางภายในประเทศเพื่อปราบปรามการฟอกเงินที่มีชื่อเสียง เช่น FinCEN ในสหรัฐอเมริกา AUSTRAC ในออสเตรเลีย ฯลฯ
"สำหรับโพยก๊วนที่นิยมใช้กัน ได้แก่ Chops มีลักษณะเป็นตราประทับ Seal อาจทำจาก ตะกั่ว ไม้ หิน หรือวัตถุมีค่าอื่น ๆ ที่มีหมึกป้ายเป็นตัวอักษรแสดงมูลค่า ใช้แทนเงินสด พกพาสะดวก ไม่ต้องทำรายการบัญชีทางการเงินให้ยุ่งยาก ซึ่งได้กล่าวเป็นแบบอย่างของการใช้โพยก๊วนระบบ Underground Banking" เลขาธิการ ปปง. กล่าว และว่า ในปัจจุบัน มีการใช้ Chop ข้ามทวีป ผ่านเครือข่ายของธนาคารใต้ดิน โดยมีการแยกบัญชีธุรกรรมออกเป็นสอบบัญชี บัญชีหนึ่งเป็นบัญชีปกติที่ทำไว้รายงานต่อรัฐบาล และอีกบัญชีหนึ่งเป็นบัญชีลับ ที่กระทำผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ที่แยกเครือข่ายออกมาจากธนาคารในระบบ หน่วยธุรกิจเหล่านี้ล้วนใช้วิธีการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างกันโดยใช้โพยก๊วนทั้งสิ้น และพบว่าร้านทองบางแห่งที่อยู่ในกรุงเทพฯ ฮ่องกง และ Los Angelis ในอเมริกา มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนย้ายเงินที่ได้จากกระบวนการค้ายาเสพติด
อีกประเภทที่นิยมคือ Hawala เป็นโพยก๊วนที่ไม่ต้องใช้กระดาษเป็นตัวโพยแต่ใช้วาจาของบุคคลเป็นโพยแทน จะใช้ในการโอนเงินเพื่อการสนับสนุนทางการเมืองหรือเพื่อการคอรัปชั่น องค์กรก่อการร้ายข้ามชาติที่มีโครงสร้างในการดำเนินงานเป็นองค์กรการกุศลทางศาสนาบางองค์กรก็ใช้โพยก๊วนประเภทนี้เป็นสื่อในการโอนเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรในเครือข่ายเดียวกัน
สำหรับการใช้โพยก๊วนของไทยนั้น พันตำรวจเอก สีหนาท กล่าวว่า จะมีลักษณะผสมผสาน เพราะในอดีตคนจีนที่เข้ามาทางานในไทยต้องใช้โพยก๊วนในการส่งเงินกลับไปเลี้ยงครอบครัวที่ประเทศจีน ต่อมาคนชาติอินเดียหรือประเทศอื่นในแถบเอเชียใช้และประเทศในตะวันออกกลางเข้ามาทำธุรกิจการค้าในประเทศไทย จึงในวิธีการโอนเงินข้ามประเทศเช่นกัน
"มาตรการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นมาตรการที่สามารถเข้าไปควบคุมมิให้มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินในสถาบันการเงิน โดยมาตรการตามพระราชบัญญัตินี้ได้แก่ การเรียกให้สถาบันการเงินที่น่าสงสัยว่าจะกระทำการฟอกเงินหรือเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินมาสอบถามเพื่อตรวจสอบว่าธุรกรรมที่กระทำในสถาบันการเงินแต่ละรายการเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหรือไม่ มาตรการในการเรียกให้สถาบันการการเงินระงับการทำธุรกรรมที่เป็นการฟอกเงินตามมาตรา ๓๔ และมาตรการในการบังคับเอากับทรัพย์สินทางแพ่ง ซึ่งได้แก่การยึดอายัดและริบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด ในส่วนของการใช้โพยก๊วน ถือได้ว่าเป็นธุรกรรมที่เป็นการปกปิด อำพราง หรือแปลงสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการฟอกเงิน เป็นรูปแบบของการเคลื่อนย้ายเงินระหว่างประเทศที่หลีกเลี่ยงการรายงานธุรกรรมทางการเงินนั่นเอง"