พยาบาลจี้รบ. เร่งบรรจุขรก. แก้สมองไหล-แนะอัตราลื่นไหลลงท้องถิ่น
ปลัดสธ. ตั้งเป้าพัฒนารพ.สต. แก้ปัญหารพ. ใหญ่แออัด พยาบาลจี้รบ. บรรจุขรก. อัตราลื่นไหลกลับท้องถิ่น สผพท. จวกสปสช. โฆษณาเกินจริงรักษาทุกโรค จำกัดงบ-ยา ทำเกรดรักษาต่ำ
วันที่ 26 ต.ค. 55 สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) จัดสัมมนา ‘วิวัฒนาการระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย...ร่วมใจพัฒนา’ ณ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาระบบสาธารณสุขจะต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) มากขึ้น โดยเฉพาะการบริการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โดยหากขาดแคลนเครื่องมือ บุคลากร หรือสถานที่สามารถร้องขอได้ แต่ต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรให้เกิดประโยชน์สูงสุดก่อน
นางณภัสสร ประชุมทอง พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพัทลุง กล่าวถึงปัญหาในการประกอบวิชาชีพด้านการพยาบาลและสาธารณสุขว่า ปัจจุบันผู้รับบริการสามารถเลือกผู้ให้บริการหรือสถานพยาบาลเองได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักต้องการเลือกรักษาในสถานพยาบาลที่มีศักยภาพสูง ภาระจึงตกที่รพศ.และรพท. เมื่อได้รับบริการไม่ตรงความต้องการก็เกิดการฟ้องร้องสิทธิขึ้น ส่วนผู้ให้บริการได้ยึดหลักจรรยาบรรณวิชาชีพ แม้งานจะหนักและซับซ้อน ไม่เลือกชนชั้น หรือสิทธิบัตร แต่เมื่อมีผู้รับบริการมาก แต่บุคลากรแพทย์จำกัด จึงทำให้ศักยภาพการรักษาลดลง นอกจากนี้กรณีบุคลากรทางการแพทย์ถูกฟ้องร้องบ่อยครั้งทำให้หมดขวัญกำลังใจในการทำงานได้ ยังไม่นับรวมถึงปัญหาครอบครัวจากการเข้าเวร มีเวลาอยู่บ้านไม่แน่นอน จนบุตรไม่มีคนดูแล และตกเป็นปัญหาสังคมอีก
ด้านความก้าวหน้าทางวิชาชีพโดยบรรจุตำแหน่งเป็นข้าราชการของพยาบาลประจำยังมีความหวังไม่แน่นอน ทำให้เกิดความไม่มั่นคงในวิชาชีพ จึงเสี่ยงต่อสมองไหล และลาออกมากขึ้น อันมีผลต่อผู้ป่วยด้านมาตรฐานการรักษาที่ต้องเปลี่ยนพยาบาลดูแลบ่อยครั้ง นอกจากนี้เห็นว่ายังมีพยาบาลจำนวนมากเป็นคนท้องถิ่น ซึ่งต้องการกลับมาดูแลบ้านเกิด แต่กระทรวงไม่มีแผนบรรจุคนรองรับ อย่างไรก็ตาม เรียกร้องให้การปรับตำแหน่งของวิชาชีพพยาบาล ไม่ควรยึดติดกับขนาดโรงพยาบาล และจำนวนผู้รับบริการ ควรให้ลื่นไหลเหมือนวิชาชีพครู ที่มีการเลื่อนตำแหน่งได้โดยไม่ยึดขนาดของโรงเรียนและจำนวนนักเรียน
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลพัทลุง เรียกร้องอีกว่า ภาครัฐควรจัดสถานพยาบาลเป็นเครือข่ายสุขภาพใกล้ท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อป้องกันผู้ป่วยล้นรพท.และรพศ. รวมถึงให้จัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาล 3 กองทุนให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ทั้งระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบหลักประกันสังคม และระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่สำคัญต้องส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง โดยให้ปลูกผักปลอดสารพิษบริโภคเอง
ขณะที่พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสผพท. กล่าวถึงผลกระทบต่อการบริการสาธารณสุขจากระบบประกันสุขภาพว่า ปัญหาสำคัญเกิดจากการทำงานในระบบบริการสาธารณะขาดความเป็นเอกภาพ โดยคณะกรรมการสปสช. มีอำนาจในการบริหารกองทุน แต่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ม.18 (13) และอีกหลายกรณี เช่น การจัดสรรงบประมาณรายหัวให้โรงพยาบาล การจัดโครงการพิเศษซื้อยาและเครื่องมือแพทย์ ประกอบกับสปสช. โฆษณาเกินจริงว่า “30 บ.รักษาทุกโรค” แต่ความจริงกลับจำกัดงบประมาณเวชภัณฑ์และยาในการรักษา นอกจากนี้ยังขาดบุคลากร งบประมาณ เครื่องมือ และสถานที่ในการรองรับผู้ป่วยที่มากขึ้น
“คณะกรรมการสปสช. มีมากเกินไป แต่ไม่เข้าใจหน้าที่รับผิดชอบ ทำให้งบประมาณถูกใช้ไปอย่างไม่คุ้มค่า ซึ่งจะเห็นว่าองค์กรอิสระมีเงินใช้ฟุ่มเฟือย แต่โรงพยาบาลที่ต้องดูแลประชาชนไม่มีเงินจัดหายามารักษา”
อย่างไรก็ตามแม้ประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินในการรักษาสุขภาพ แต่กลับเสี่ยงอันตรายจากการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐาน ที่สำคัญไม่มีโอกาสรับทราบที่มาของยาว่าเหมาะสมที่สุดหรือไม่ ส่งผลให้มีอัตราป่วยและตายมากขึ้น เพราะได้ยามาตรฐานต่ำตามรายการในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่บอกว่ารักษาทุกโรค จึงตั้งข้อสังเกตว่าอาจต้องใช้ยาล้าหลังไปอีกหลายสิบปี ซึ่งกรณีนี้มักปล่อยให้บุคลากรทางการแพทย์รับผิด แต่สปสช.รับชอบฝ่ายเดียว.
ที่มาภาพ : http://www.healthfocus.in.th/sites/default/files/images/16%20oct%2055_Nurse_1.jpg