อธิบดีกรมชลฯ ย้ำชัดน้ำมีจำกัด เลี่ยงปลูกข้าวนาปรัง
อธิบดีกรมชลฯ เผยปริมาณน้ำในระบบชลประทานมีจำกัด เตรียมแจ้งชาวนารับทราบสถานการณ์ หวังลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ระบุ หากดื้อไม่ยอมทำตาม ต้องรับความเสี่ยงเอง
ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีแผนจะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ชาวนาลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนลง ประมาณ 500,000 ไร่ เนื่องจากเกรงว่าอาจประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนบน พื้นที่ปลายน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงจำเป็นต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคนั้น
วันที่ 26 ตุลาคม นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า คงไม่ได้เป็นการตั้งเป้าว่าจะต้องลดพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังให้ได้ถึง 500,000 ไร่ เพียงแต่ต้องการชี้แจงให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำได้รับทราบถึง ปริมาณน้ำในระบบชลประทาน ที่กรมชลฯ สามารถจัดส่งให้ได้เท่านั้น ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มผู้ใช้น้ำและชาวนามากขึ้น
“เรามีน้ำอยู่เท่านี้ อาจส่งไปไม่ถึงในทุกพื้นที่ ซึ่งก็จะได้ชี้แจ้งให้รับทราบกันต่อไปว่า มีน้ำอยู่เท่านี้นะ ไม่ใช่เราไม่อยากให้” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว และว่า แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่า ชาวนาที่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทานจะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก เนื่องจากที่ผ่านมากรมชลฯ และชาวนาในพื้นที่ดังกล่าวทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกัน ส่วนที่คาดว่าจะมีปัญหามากคือ พื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่อาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ซึ่งมีความไม่แน่นอนสูง แต่ทั้งนี้ กรมชลฯ ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำไว้ค่อยสนับสนุน หากได้รับการร้องขอเข้ามา
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา กรมชลฯ พยายามขยายเขตพื้นที่ชลประทาน แต่มีข้อติดขัดในเรื่องงบประมาณ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการขยายเขตพื้นที่ชลประทานได้ ฉะนั้น ในส่วนของพื้นที่นอกชลประทานคงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพดิน ฟ้า อากาศเป็นหลัก ความช่วยเหลือของกรมชลฯ คงจะสามารถทำได้ภายใต้ข้อจำกัดที่มีอยู่ ฉะนั้น หากชาวนาจะยังคงเดินหน้าทำนาต่อไป คงต้องยอมรับความเสี่ยงด้วยเช่นกัน