เสนอผ่าทางตัน “แพทย์ครอบครัว” ผลิตเพิ่มแก้ปัญหาสุขภาพรากหญ้า
เตรียมเสนอ คกก.กำลังคนด้านสุขภาพ ผ่าทางตัน “แพทย์ครอบครัว” เหตุคนเรียนน้อย-เงินเดือนต่ำ-ไม่ก้าวหน้า ตั้งเป้าสร้าง 6 พันจากเดิม 300 คน ช่วยพัฒนาระบบสุขภาพแดนกันดาร
เร็วๆนี้ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จัดเสวนา "แพทย์ครอบครัว สู่ภาพพึงประสงค์ของระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ” โดย นพ.นิทัศน์ รายยวา รองปลัด สธ.กล่าวว่า สธ.มีนโยบายส่งเสริมบุคลากรที่เป็น "แพทย์ครอบครัว"ให้ครอบคลุมประชากรโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลในเมืองและชนบท เพื่อตอบสนองบริการสาธารณสุขปฐมภูมิที่เน้นไปยังตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน ขณะนี้มี 14,956 คนดูแลประชากร 55 ล้านคน (ไม่รวม กทม.) อนาคตจะวางระบบพัฒนากำลังคนใหม่เพื่อให้มีแพทย์ครอบครัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับแพทย์รักษาโรคโดยทั่วไป
ทั้งนี้สอดคล้องกับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2552 ที่ให้รัฐส่งเสริมการให้บริการสาธารณสุขปฐมภูมิโดยบุคลากรสาธารณสุขประจำครอบครัว เพื่อให้บริการครอบคลุมทั่วถึงทั้งเมืองและชนบท ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนร่วมกับท้องถิ่น ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเชื่อต่อกับระบบบริการสาธารณสุขอื่นๆโดยมีระบบส่งต่อที่มีประสิทธิภาพ
พญ.สายพิณ หัตถีรัตน์ จากเครือข่ายร่วมพัฒนาศักยภาพผู้นำการสร้างสุขภาวะแนวใหม่ กล่าวถึงการผลิตแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวในไทยว่า อัตราการเพิ่มของแพทย์ครอบครัวอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วงเนื่องจากเป็นสาขาที่ไม่ได้รับความนิยมจากแพทย์รุ่นใหม่ แต่ละปีมีผู้สมัครเรียนประมาณ 20 คน การเรียนเวชศาสตร์ครอบครัวเคยได้รับความนิยมในช่วงแรกๆของการประกาศนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะบทบาทแพทย์ครอบครัวที่กลับไปงานในโรงพยาบาลไม่ชัดเจน และไม่ได้รับการยอมรับเหมือนแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ จนถึงปัจจุบันมีแพทย์ครอบครัวที่ได้รับวุฒิบัตร 309 คน แต่ครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ยังปฏิบัติหน้าที่แพทย์ครอบครัว ที่เหลือเปลี่ยนไปเรียนแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น
“ปัญหาคือไม่มีนโยบายสนับสนุนการผลิตแพทย์กลุ่มนี้จริงๆ และจำนวนครูผู้สอนไม่เพียงพอ เมื่อแพทย์เรียนจบแล้วทำงานได้ไม่นานก็ลาออก จนถึงขณะนี้มีชมรมเครือข่ายเวชศาสตร์ครอบครัวอยู่ไม่เกิน 150 คนที่อยู่ในระบบและยังปฏิบัติการอยู่" พญ.สายพิณกล่าว
พญ.สุพัตรา ศรีวณิชชากร ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน กล่าวว่าปัจจุบันมีการพัฒนาแพทย์ครอบครัวโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ทุนเรียนแบบ in service ผ่านการสอนและฝึกปฏิบัติในศูนย์การเรียนรู้เวชศาสตร์ครอบครัว ซึ่งเพิ่มมากขึ้นจากปี 2552 ที่มีเพียง 4 แห่งเป็น 18 แห่งทั่วประเทศในพื้นที่หลักๆ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ นครราชสีมา ทำให้ปัจจุบันมีแพทย์ครอบครัวกระจายอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน รพ.สต. สถานบริการสาธารณสุขชุมชน สำนักอนามัย กทม. เป็นต้น ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้ป่วยในครอบครัว บริการเยี่ยมตามบ้าน ให้ความรู้ในการป้องกันโรคต่างๆ ช่วยให้การบริการของโรงพยาบาลระดับพื้นที่ดีขึ้น เป็นการสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ แต่ปัญหาคือแพทย์ครอบครัวเหล่านี้ถูกใช้ทำงานที่หลากหลายไม่ตรงกับสาขาที่เรียนมา ผู้บริหารโรงพยาบาลยังไม่เข้าใจในความสามารถเฉพาะทาง และเงินเดือนค่อนข้างต่ำเทียบกับสาขาอื่นๆ ทำให้ลาออกไปศึกษาต่อ 30-40%
นพ.กสิวัฒน์ ศรีประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา หนึ่งในศูนย์การเรียนรู้เวชศาสตร์ครอบครัว กล่าวว่าโรงพยาบาลอยู่ห่างจากตัวจังหวัด 12 กิโลเมตร จึงเหมาะกับการให้บริการสาธารณสุขปฐมภูมิ ปัจจุบันมีแพทย์ครอบครัว 3 คนดูแลพื้นที่มีประชากร 5 หมื่นคน ได้รับการตอบดีมากจากประชาชน และสามารถเติมเต็มการทำงานของโรงพยาบาลให้สมบูรณ์แบบมากขึ้นเพราะแพทย์ครอบครัวติดตามผู้ป่วยที่กลับไปรักษาตัวที่บ้านอย่างต่อเนื่องเป็นรายกรณี ทำให้การดูแลรักษาครบวงจร
อย่างไรก็ตามภาครัฐจำเป็นต้องสร้างแรงดึงดูดใจให้เกิดการศึกษาด้านเวชศาสตร์ครอบครัวมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันนักศึกษานิยมเรียนแพทย์เฉพาะทางมากกว่า เพราะรายได้ดีกว่าและมีความก้าวหน้าทางอาชีพเหนือกว่าชัดเจน เสนอให้หาแพทย์ครอบครัวตัวอย่าง(ไอดอล) ของแพทย์ที่ประสบความสำเร็จในสาขานี้ เพื่อเป็นแรงจูงใจที่เป็นรูปธรรมให้แพทย์รุ่นใหม่ๆ และควรสนับสนุนบุคลากรในท้องถิ่นเข้ามาศึกษาและฝึกอบรมเป็นแพทย์ครอบครัวให้มากขึ้น เพราะจะมีความต่อเนื่องในการทำงานในพื้นที่
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข เลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงข้อสรุปของที่ประชุมซึ่งจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ 29 ต.ค. ได้แก่ เสนอให้มีนโยบายระดับชาติสนับสนุนบริการปฐมภูมิชัดเจน มีทีมบุคลากรสาธารณสุขที่ประกอบด้วยหลากหลายวิชาชีพ มีแนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม หากใช้เป้าหมายแพทย์ครอบครัว 1 คนดูแลประชาชน 10,000 คน แบบที่ สปสช.วางไว้ จะต้องมีกำลังคนแพทย์ครอบครัวอย่างน้อย 6,000 คน นอกจากนี้บทบาทหน้าที่แพทย์ครอบครัวต้องชัดเจน ทั้งการให้บริการ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของสถานบริการ และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุขประจำครอบครัวของโรงพยาบาลและสถานบริการชุมชนอื่นๆ เช่น รพ.สต. ตลอดจนต้องมีนโยบายและแรงจูงใจเพื่อรักษาแพทย์ครอบครัวไว้ในระบบ .