‘วีระศักดิ์ โค้วสุรัตน์’ ชี้ไทยหาจุดยืนในโกลบอลเทรนด์ ถ่วงดุลพลังงาน-อาหาร
สถานการณ์เศรษฐกิจสังคมโลกที่ระส่ำระส่าย มหาอำนาจเก่ากำลังเผชิญวิกฤต ขั้วอำนาจใหม่กำลังชิงชัยทรัพยากร ‘ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์’ นักวิชาการการเมือง มองว่า “ไทยต้องเร่งก้าวให้ทันโกลบอลเทรนด์”
'โกลบอลเทรนด์' (Global Trend) หรือ แนวโน้มทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นเรื่องสำคัญที่กำลังได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง การรู้จักอดีต ปัจจุบันและรู้แนวทางในอนาคตว่าโลกกำลังมุ่งไปทางไหน แล้วตั้งใบเรือของเราให้ถูกทิศ เรือจะแล่นต่อไปได้สะดวกและลดความขัดแย้งให้น้อยลง เพราะมีกระแสจากโลกทั้งโลกที่ไม่ใช่เพียงโลกตะวันตก..ที่ช่วยนำพาไป”
นี่คือคำอธิบายง่ายๆ ของดร.วีระศักดิ์ อดีตผอ.สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา และอดีตรมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถึงเหตุผลที่คนไทยต้องรู้ทัน ‘โกลบอลเทรนด์’
ม่านมหาอำนาจเปลี่ยน-การปรากฏขึ้นของบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน
ดร.วีระศักด์ กล่าวว่า โกลบอลเทรนด์เริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าเมื่อ 15 ปีที่ผ่านมา จากการที่โลกการเงินได้รับการสั่นสะเทือนรุนแรง นับจาก‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ในไทยปี 2540 กระทั่ง‘วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์’ หรือ วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์ ที่เกิดขึ้นในประเทศศูนย์กลางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2550 สร้างความเสียหายไล่ลามไปยังสหภาพยุโรปเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้มหาอำนาจเก่าอย่าง อเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่นวันนี้เสื่อมอำนาจลง
“โลกการเงินที่เคยเข้มแข็งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาถูกกระทบด้วยตัวเลขและความเชื่อของมันเอง เมื่อเกิดปัญหาด้านจริยธรรม คือ การตรวจสอบสถาบันการเงินและบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯเป็นไปโดยไม่โปร่งใส มีการปกปิดหนี้เสียและทำหนี้ต่อหนี้มากขึ้นเรื่อยๆ วันหนึ่งเมื่อความแตก ผ้าม่านผืนใหญ่ที่มหาอำนาจเคยขึงกันไว้ไม่ให้โลกเห็นใครอื่นนอกจากตัวเองจึงหลุดเองโดยไม่มีใครไปโจมตี โลกวันนี้จึงได้เห็นผ้าม่านผืนใหม่ที่หนาและใหญ่กว่าที่เคยคาดคิดได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ปรากฏตัวขึ้น ทั้งที่ความเป็นจริงประเทศเหล่านี้ปรากฏตัวมานานแล้ว แต่ถูกม่านผืนใหญ่ของมหาอำนาจขึงบังไว้ทำให้ไม่มีใครมองเห็น วันนี้สิทธิ์ในการผูกขาดการมองโลกเริ่มเบาบาง คนทั่วโลกจึงได้มองเห็นโลกข้างนอกด้วยความสนใจว่ามีพลังและมีสีสันกว่าที่คิด”
นอกจากนี้ม่านของการผูกขาดข้อมูลข่าวสารโดยสำนักข่าวใหญ่ระดับโลกฝ่ายประเทศมหาอำนาจอย่าง ซีเอ็นเอ็น รอยเตอร์ เอพี บีบีซี ฯลฯ ก็ถูกท้าทายด้วยชุดความคิดและมุมมองใหม่ที่แตกต่างจากสำนักข่าวอีกซีกโลกที่ก้าวขึ้นมาแข่งขัน เช่น สำนักข่าวอัลจาซีร่าของประเทศกาตาร์ และซินหัวของจีน ทำให้การครอบงำทางความคิดของมหาอำนาจเสื่อมถอยและเสียงส่วนน้อยในโลก(ซึ่งอาจเป็นคนส่วนใหญ่)มีปากเสียงมากขึ้น โดยมีอินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมือการสื่อสารสำคัญที่ช่วยแย่งชิงพื้นที่ทางความคิด
“จะเห็นว่าโลกของข่าวสาร การเงิน และการตรวจสอบ ที่เปลี่ยนไปช่วยทำให้มนุษย์เห็นอะไรมากขึ้น การปรากฏตัวของผ้าม่านอำนาจผืนใหม่อย่าง บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน ซึ่งอาจรวมไปถึงอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ด้วยนั้น ทำให้เราเห็นโลกกว้างขึ้น แต่เราต้องถามตัวเองว่ารู้จักผ้าม่านผืนใหม่ดีพอที่จะเข้าไปคบค้า และเติบโตร่วมไปกับเขาแล้วหรือยัง...แน่นอนว่าย่อมดีกว่าการเกาะผืนเก่าแล้วร่วงตามไป แต่ก็ต้องรู้ด้วยว่าม่านผืนใหม่บางผืนก็ลื่น และอาจมีม่านอีกหลายผืนที่ยังหลบซ่อนอยู่” ดร.วีระศักดิ์กล่าว
ความมั่นคงทางอาหารโลกบนแนวโน้มของความขาดแคลน-ครัวไทยรับไหวหรือไม่?
ปัญหาความขาดแคลนอาหารรวมทั้งน้ำเป็นสิ่งที่มนุษย์โลกต้องเผชิญมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวและวางแนวทางเพื่อความอยู่รอดของประชาชนไว้ ดร.วีระศักดิ์ เล่าว่า บางประเทศเริ่มหันมาแสวงหาพื้นที่ร้างว่างเปล่าไว้รับทรัพยากรน้ำจากธรรมชาติ ขณะที่จีนประกาศนโยบายความมั่นคงทางอาหาร โดยไม่เพียงแต่ส่งเสริมการผลิตอาหารในประเทศตน แต่ยังไปเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐยากจนขนาดเล็กมากมายในแอฟริการวมทั้งประเทศหมู่เกาะขนาดเล็กในแปซิฟิกด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านเกษตรกรรมระหว่างประเทศ (Contact Farming) ส่งเสริมการปลูกพืชพลังงานไว้ป้อนประเทศตน
“ประชากรโลกกว่า 7 พันล้านคนเวลานี้ มีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนสำคัญที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศที่มีความพร้อมทางอาหาร ขณะที่สัดส่วนของเด็กแรกเกิดกลับไปเพิ่มในแผ่นดินที่ขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นเทรนด์สำคัญที่ต้องตั้งคำถามต่อไปว่า รัฐที่มีแต่ผู้สูงอายุจะมีนโยบายแบ่งปันอาหารให้คนในรัฐที่ขาดแคลนหรือไม่และรูปแบบใด”
ประเทศไทยเองก็ดูเหมือนจะตระหนักถึงแนวโน้มความมั่นคงทางอาหารนี้ด้วย ดร.วีระศักดิ์กล่าวถึงนโยบาย ‘ครัวไทยสู่ครัวโลก’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า ไทยเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศเกษตรกรรมมานาน แต่ในความเป็นจริงเรากลับค่อยๆทิ้งฐานทางเกษตรและก้าวไปสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น เห็นได้จากการที่แรงงานภาคเกษตรย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันมีเกษตรกรตัวจริงที่เป็นผู้ผลิตอาหารไม่ถึง 10 ล้านคนและมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
“เรามองว่าตัวเองเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ ประเทศรอบข้างก็มองว่าเราเป็นอย่างนั้นด้วย ต่อไปเขาก็จะเคลื่อนมาหาเรา เพราะเขาไม่มีกินและจะมากินในบ้านเรา ทั้งคนรวยและคนจน แล้วเราจะรับไหวหรือไม่”
ดังนั้นการประกาศตัวเป็นครัวโลกจึงต้องมีการตั้งยุทธศาสตร์ประเทศใหม่ โดยต้องมีการส่งเสริมการผลิตภาคเกษตร ทั้งการผลิตพื้นฐานและการแปรรูปให้มากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐจะเกื้อหนุนใครระหว่างเกษตรแปลงใหญ่(นายทุน)กับเกษตรแปลงย่อย(เกษตรกรรายย่อย)ที่ไม่มีแม้แต่อำนาจต่อรองทางการค้ากับบริษัททุนขนาดใหญ่ในประเทศได้
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องความมั่นคงทางพลังงานที่สวนทางต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศ ดร.วีระศักดิ์กล่าวว่า “แม้ไทยจะเป็นครัวโลกได้ แต่หากยังคงบริโภคพลังงานมหาศาล มีอาหารเต็มตู้เย็น แต่ตู้เย็นกินไฟขนาดหนัก รายได้ที่ได้รับก็ต้องไปเสียให้กับค่าพลังงานที่สูงมากด้วย คำถามคือคุ้มค่าไหม เพราะพลังงานของเรามีไม่มากและยังไม่มีมาตรการในการประหยัดพลังงานที่แท้จริงด้วย”
อย่างไรก็ดีดร.วีระศักดิ์มองว่าในอนาคตโลกจะค่อยๆเรียนรู้และนำแนวคิดด้านเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความเร้นแค้นที่มนุษย์ต้องประสบต่อไป ประเทศไทยก็เช่นกัน
การย้ายถิ่นฐานและความเสื่อมอำนาจของรัฐส่วนกลาง – โลกที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเล่นที่ไม่ใช่รัฐ
ความมั่นคงทางอาหารที่ดูท่าจะไม่มั่นคง ภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงไร้พรมแดนมากขึ้น การก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในรัฐและข้ามรัฐ รวมทั้งความก้าวหน้าด้านคมนาคมที่รวดเร็วและเปิดโอกาสให้ชนชั้นล่างเข้าถึงมากขึ้น(เช่น สายการบินราคาถูก) ทำให้เทรนด์ของโลกที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือการย้ายถิ่นฐาน ดร.วีระศักดิ์กล่าวว่า ด้วยปัญหาหลายอย่างที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ การย้ายถิ่นฐานในอนาคตจึงจะมีมากขึ้นนำไปสู่การข้ามพรมแดนที่ผิดกฎหมาย ทำให้เส้นพรมแดนของแต่ละรัฐเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ลง
“มีคนถามว่าประชาคมอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นจะทำให้เกิดการหลั่งไหลย้ายถิ่นมากขนาดไหน ผมตอบว่าอาจไม่เกิดการไหลเลยในแง่ที่ถูกกฎหมาย เพราะทุกคนมีเชือกเพียงเส้นเดียวให้ไต่ข้ามไปตามเงื่อนไขของอาเซียน และไต่ได้ทีละคนเสียด้วย ดังนั้นความเป็นจริงคือจะมีคนหลั่งไหลข้ามไปข้ามมาโดยไม่ใช้เชือกเต็มไปหมด ดังนั้นเทรนด์ต่อไปจึงเป็นการที่รัฐพยายามจับมือกันมากขึ้น สร้างเส้นเชือก แต่ไม่มีทางเพียงพอต่อความต้องการย้ายถิ่นได้
ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว ประเทศต่างๆต้องร่วมมือกันให้มากขึ้น ลดกำแพงระหว่างกันลง ซึ่งนั่นหมายถึงพรมแดนด้านเขตประเทศก็ต้องลด รวมทั้งพรมแดนของกฎหมายซึ่งควรจะมีประสิทธิภาพในการโน้มน้าวได้ดีกว่าประสิทธิภาพในการบังคับ”
ดร.วีระศักดิ์กล่าวต่อว่า ภายใต้ภาวะที่รัฐชาติวันนี้ลงนามข้อตกลงต่างๆร่วมกันมากขึ้น แต่กลับร่วมมือกันอย่างแท้จริงน้อยลง แนวโน้มต่อไปคือตัวเล่นที่ไม่ใช่รัฐ เช่น บรรษัทยักษ์ข้ามชาติ สื่อ เอ็นจีโอ ภาคประชาสังคม หรือแม้กระทั่งผู้ก่อการร้าย จะเข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโลก เป็นเหตุให้อำนาจรัฐส่วนกลางลดลงและกระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลกลางจึงต้องเอาใจฐานเสียงของตนมากขึ้นด้วยการใช้นโยบายประชานิยม และตัวเล่นที่ไม่ใช่รัฐจะเป็นฝ่ายกำกับควบคุมไม่ให้รัฐใช้นโยบายประชานิยมที่เกินขอบเขตเอง
เทรนด์บ้าจีดีพี เทรนด์บ้าจี้ที่ไทยควรเปลี่ยนแปลง
สุดท้ายดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า “เทรนด์คือสิ่งที่จะเกิดไม่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไรกับมันก็ตาม แต่บางครั้งเราอาจต้องต่อสู้กับเทรนด์ด้วย เช่น เทรนด์ของการบ้าจีดีพี(GDP) ทุกวันนี้ดูเหมือนสังคมไทยคาดหวังให้นโยบายสาธารณะทางการเมืองตอบโจทย์นโยบายสาธารณะด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคให้ดี มันเลยออกมาในรูปการตอบโจทย์ของจีดีพี จีดีพีขึ้นสูง จีดีพีขยายตัว ก็จบ แม้จะทำให้ภาคการผลิตและภาคการบริการบางประเภทเติบโตมาก แต่คำถามสำคัญคือแล้วส่วนที่เหลือไปอยู่ตรงไหน
ดังนั้นเราอาจต้องต่อสู้กับการยอมจำนนต่อหลักคิดที่ว่าเศรษฐกิจจะดีได้ต้องขยายตัว เป็นไปได้ไหมที่เราจะสร้างเศรษฐกิจที่ดีได้โดยไม่ต้องขยายตัว แต่ประคองตัวไว้เพื่อตั้งรับแรงกระทบกระทั่งและเปลี่ยนแปลงของโลกให้ได้”
…………….
โกลบอลเทรนด์ ที่ดร.วีระศักดิ์ได้กล่าวถึงไว้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในหลายร้อยเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคมโลกและส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย คำถามคือ เราตระหนักและพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่จะต้องเผชิญหรือแล้วยัง?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง ::: ‘วีระศักดิ์’ชี้สังคมไทยหลอกตัวเองเป็นประเทศเกษตรกรรม bit.ly/WuPRey
ที่มาภาพ ::: http://thegreenalternatives.net/index.php?page=trend