ทีดีอาร์ไอ ชี้ขึ้นค่าแรงรวดเดียว 300 ทั่วปท. ทำจีดีพีติดลบ 2%
ทีดีอาร์ไอ ชี้ลุยขึ้นค่าแรง 300 ทั่วปท. ทักษะแรงงาน-ผลิตภาพต่ำ ศก.อาจช็อค จีดีพีติดลบ 2% จ้างงานลดลงถึงกว่า 1 ล้านคน กระทบมากสุดในอุตฯ เครื่องหนัง เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ
วันที่ 25 ตุลาคม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาเรื่อง “อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไร ภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น” ที่ห้องเพชรชมพู ชั้น 3 โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ กรุงเทพฯ โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และ ดร.เชษฐา อินทรวิทักษ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ดร.เชษฐา กล่าวถึงผลการศึกษา กรณีผลกระทบจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน เต็มรูปแบบทั่วประเทศในปี 2556 ว่า หากวิเคราะห์บนสมมุติฐานที่ว่า มีการขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวันทั้งประเทศ โดยปัจจัยอื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลงเลย จะพบว่า มีผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจค่อนข้างมาก จีดีพีจะติดลบกว่า 2% เช่น จากที่ประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจจะโต 5% ก็จะปรับลดลงเหลือเพียงแค่ 3% เท่านั้น ขณะที่การบริโภค การลงทุน การส่งออกโดยภาพรวมก็จะหดตัว ขณะเดียวกันในส่วนของการจ้างงานนั้น แรงงานที่มีทักษะสูง จะมีอัตราการจ้างงานลดลง 3% ส่วนแรงงานทักษะต่ำ จะมีอัตราการจ้างงานลดลงถึง 14% รวมแล้วอาจมีการจ้างงานลดลงถึงกว่า 1 ล้านคน
ดร.เชษฐา กล่าวต่อว่า ในส่วนของค่าแรงที่แท้จริง ที่รัฐบาลต้องการให้มีการปรับเพิ่มขึ้นนั้น ข้อมูลพบว่า เป็นไปตามเป้าหมาย อัตราค่าแรงที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 10% แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมหดตัว ก็ถือว่าหักล้างกันไป ฉะนั้น หากไม่ต้องการให้จีดีพีติดลบ จะต้องมีการเพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยรวม (Overall productivity) หรือไม่เช่นนั้นก็จะต้องมีการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor productivity) ขึ้นอีกประมาณ 8.6%
ทั้งนี้ ดร.เชษฐา กล่าวถึงอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้แรงงานทักษะต่ำเข้มข้น ได้แก่ ไม้ เครื่องหนัง เครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ จะได้รับผลกระทบอย่างมาก และอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับประเทศคู่แข่ง
พร้อมกับมีข้อเสนอแนะเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมไทย คือ
1.การปรับค่าแรงขั้นต่ำ ควรมีกระบวนการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ทัน และการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำโดยคณะกรรมการไตรภาคี ควรพิจารณาจาก medium-term productivity growth และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะ 5 ปีข้างหน้า เป็นปัจจัยหลัก ทั้งนี้ ค่าแรงแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ขึ้นอยู่กับ productivity growth และ อัตราเงินเฟ้อในแต่ละพื้นที่
2.การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ควรอุดหนุนแรงงานให้เข้ารับการฝึกอบรมทักษะ โดยแจก “คูปองการฝึกอบรม” ควรอุดหนุนการนำเครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ โดยอนุญาตให้หักค่าเสื่อมราคาในอัตราเร่ง (accelerated depreciation)
3.การยกระดับเทคโนโลยี กระทรวงการคลังควรอนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายด้าน R&D มาลดหย่อนภาษีได้ 300% และเร่งรัดกระบวนการพิจารณา ควรประเมินผลนักวิจัยในมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยของรัฐ จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคการผลิต และการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (commercialization) ประกอบ
4.การใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงในภูมิภาค กระทรวงคมนาคม ควรพัฒนาการเชื่อมโยงและปรับปรุงคุณภาพระบบคมนาคมขนส่งภายในภูมิภาค โดยเฉพาะถนนและรางรถไฟในอนุภูมิภาค GMS กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรผลักดันให้เกิดการบังคับใช้ความตกลง CBTA โดยสมบูรณ์ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรภายใต้ FTA อย่างต่อเนื่อง
ปรับค่าแรง ไม่จำเป็นต้องขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ
ด้าน ดร.สมเกียรติ กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานของรัฐบาลว่า มีปัญหาอยู่ตรงที่การปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานนั้นเป็นไปแบบก้าวกระโดด หลังจากที่ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างมานาน ส่งผลให้อุตสาหกรรมปรับตัวไม่ได้ นอกจากนี้การกำหนดค่าจ้างแรงงานระดับเดียวกันทั่วประเทศ ทั้งที่แต่ละพื้นที่นั้น มีลักษณะ มีความต้องการแรงงานที่ไม่เหมือนกัน ก็กลายเป็นอีกปัญหา และอาจมีผลทำให้ธุรกิจจำนวนหนึ่ง เคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างจังหวัด ในพื้นที่ห่างไกล มาตั้งฐานธุรกิจในพื้นที่ใกล้กับกรุงเทพมากขึ้น เพราะเมื่อค่าแรงเท่ากันแล้ว การย้ายธุรกิจมาตั้งใกล้กรุงเทพ ท่าเรือ จะมีต้นทุนในการขนส่งต่ำกว่า
“นโยบายการขึ้นค่าแรงของรัฐบาลโดยรวมแล้ว เป็นเรื่องที่ดี แต่วิธีการอยากให้มีการปรับเปลี่ยนบ้าง และการปรับค่าจ้างแรงงาน ไม่จำเป็นปรับให้เท่ากันทั่วประเทศ”
ส่วนแนวทางการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยนั้น ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ อยากให้ภาคอุตสาหกรรมมองว่าการขึ้นค่าจ้างแรงงานเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่ไปการพัฒนาประเทศ เนื่องจากประเทศไทยคงไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ด้วยการอาศัยค่าแรงที่ต่ำอีกต่อไป ดังนั้น จึงต้องยกระดับผลิตภาพแรงงานไทยให้มีทักษะสูงขึ้น ส่วนงานที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ควรใช้วิธีการโอนย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจในประเทศไทยให้ได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการจะต้องลงทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ก็จะเป็นหนทางที่จะให้อยู่รอดได้ในยุคค่าแรงปัจจุบัน
เมื่อถามว่า การขึ้นค่าแรงทั่วประเทศในปี 2556 ควรชะลอไว้ก่อนหรือไม่ อย่างไร ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า นโยบายของพรรคการเมืองไม่ว่าจะพรรคไหน มักจะมองอนาคตของประเทศสั้นไป สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำคือการมองอนาคตประเทศระยะยาวเช่นว่าอีก 5 ปีค่าจ้างแรงงานในระบบควรเป็นอย่างไร วาดแผนออกมาให้ชัด ธุรกิจ แรงงานจะได้รู้ตัว ซึ่งก็จะไม่เกิดผลกระทบมาก อย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวลกันอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อถามถึงเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี จะช่วยให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยดีขึ้นหรือไม่ ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า รัฐบาลเป็นใครก็ได้ การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็มีเรื่องที่ข้อห่วงกังวลอยู่บ้างคือ การปรับ ครม.ไม่ควรปรับบ่อยเกินไป เพราะนโยบายหลายเรื่องบางครั้งขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ซึ่งอาจขาดความต่อเนื่องในเรื่องนโยบายได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการปรับ ครม.ชุดใหม่ ก็ควรให้มีระยะเวลาในการทำงานพอสมควร เพราะปัญหาของประเทศ ไม่ใช่ปัญหาของประเทศ เช่น การปรับโครงสร้างแรงงาน การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องทำกันต่อเนื่อง 5-10 ปีทั้งสิ้น
เอกสารประกอบเรื่อง อุตสาหกรรมไทยจะแข่งขันอย่างไร ภายใต้ค่าแรงที่สูงขึ้น