รวม 10 ชาติอาเซียน นักวิชาการชี้ วัฒนธรรมสำคัญกว่าเศรษฐกิจ
แนะมองความแตกต่างหลากหลายด้านวัฒนธรรมให้เกิดเป็นมูลค่าเพิ่ม ยกตัวอย่างสหภาพยุโรปยังมีความขัดแย้ง เหตุมีรูรั่วด้านสังคมและวัฒนธรรมเป็นปัญหาฐานราก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร. กฏชนก สุขสถิตย์ ผู้เขียน หนังสือ “สังคม วัฒนธรรมประชาคมอาเซียน 10 ชาติ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว ได้ร่วมเวทีเสวนากับ ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่าง และ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอิสระ เสวนาเกี่ยวกับมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมในประชาคมอาเซียน ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 17 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ดร. กฏชนก กล่าวว่า การเตรียมตัวของประเทศไทยเพื่อก้าวเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน เทคนิคง่าย ๆ สำหรับการต่อยอดการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน คือ คติที่ว่า “รู้เขา รู้เรา” เพื่อให้ทราบถึงความเป็นอยู่ และความเป็นไปของกลุ่มสมาชิกเพื่อนบ้าน ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ มิได้เขียนถึงประเทศไทยเพียงประเทศเดียวเพราะคิดว่าเขียนยากที่สุด และเป็นสิ่งคนไทยเองก็น่าจะรับรู้อยู่แล้ว
ขณะที่ศ.ดร.จีระ กล่าวว่า ประชาคมอาเซียนประกอบด้วยความร่วมมือในสามเสาหลัก คือ เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความมั่นคง การรวมกันเป็นประชาคมอาเซียนไม่ได้มีแค่การแข่งขันอย่างเดียว แต่จะต้องมีความร่วมมือด้วย หนังสือเล่มนี้นำเสนอในด้านสังคมและวัฒนธรรม ถ้าอ่านครบจะได้มุมมองแบบ value diversity คือมองเห็นความแตกต่างหลากหลายเป็นมูลค่า
ศ.ดร.จีระ กล่าวอีกว่า หลายประเทศในอาเซียนมีความหวงแหนในวัฒนธรรมของตนเองมาก เช่นลาวที่ยังรักษาประเพณีการตักบาตรข้าวเหนียวแก่พระนับร้อยรูปมาได้อย่างยาวนาน นักธุรกิจที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศเหล่านี้ต้องเข้าใจถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมนี้ ถ้าเรารู้จักสังคม วัฒนธรรมของเขาอย่างแท้จริง เราก็สามารถแปรมาเป็นมูลค่าเพิ่มสำหรับสังคมได้ และจะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
ด้านศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวว่า การที่อาเซียนรวมกันเป็นประชาคมเดียวทำให้เกิดฐานประชากรกว่า 600 ล้านคน ทำให้เกิดศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลก แต่การรวมกลุ่มกันในด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวจะไม่สามารถอยู่ได้อย่างมั่นคง หากไม่แก้ปัญหาฐานรากคือเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม
โดย ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างประวัติศาสตร์กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปก่อนการรวมกันเป็นสหภาพยุโรปหรือ EU ว่า มีความขัดแย้ง รุกไล่กันตลอดระหว่างชาติมหาอำนาจ จากนั้นจึงเกิดแนวคิดการรวมกันจนกลายมาเป็นสหภาพยุโรปในปัจจุบันเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่น แต่ยุโรปปัจจุบันยังมีปัญหาด้านสังคมและวัฒนธรรม เพราะยังมีฐานของความต่างอยู่มากทั้งในด้านเชื้อชาติ รวมถึงภาษาที่หลากหลาย จากประสบการณ์ส่วนตัวก็ยังพบคนยุโรปยังมีการดูถูกกันเองอยู่มาก
“การอยู่ร่วมกันทางเศรษฐกิจ ยังไม่ยากเท่าการร่วมกันทางวัฒนธรรม เพราะเป็นเรื่องที่ซึมลึก เป็นเรื่องของวิธีคิดและวิธีปฏิบัติ ที่ต้องใช้เวลา หนังสือเล่มนี้จะช่วยให้เราได้ทั้งประโยชน์ส่วนตัว ประโยชน์ในชาติ และจะทำให้เราผนึกกับอาเซียนได้อย่างไม่มีรูรั่วเช่นยุโรปมากนัก บทเรียนของเขาควรเป็นความฉลาดสอนใจ ให้เราเดินไปบนการร่วมเป็นประชาคมอาเซียนได้อย่างสง่างาม” ศ.ดร.เกรียงศักดิ์กล่าว