ครบรอบ 8 ปีตากใบ...ไฟใต้ในกับดัก "แรง-เงา"
จั่วหัวเรื่องแบบนี้ ไม่ได้ตั้งใจนำปัญหาภาคใต้ไปเกี่ยวข้องอะไรกับละครโทรทัศน์หลังข่าวที่กำลังโด่งดังเรื่อง "แรงเงา"
เพียงแต่มีคำ 2 คำที่ผมเห็นว่า "เข้าเค้า" และเกาะเกี่ยวยึดแน่นกับสถานการณ์ไฟใต้ที่ทอดยาวมานานเกือบ 9 ปี และในวันนี้ก็เป็นวันที่เหตุการณ์ตากใบผ่านมาครบ 8 ปีเข้าไปแล้ว...
คำ 2 คำที่ว่านั้นก็คือคำว่า "แรง" กับ "เงา"
จากที่คลุกคลีกับข่าวสารชายแดนใต้มานานปี ผมคิดว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในปัญหานี้กำลังติด "กับดัก" อยู่ 2 ประการจนทำให้การแก้ไขไม่คืบหน้า
หนึ่ง คือ ปฏิบัติการความรุนแรง
สอง คือ เงาของความน่าสะพรึงกลัว
จะเห็นได้ว่าตลอดเกือบ 9 ปี ข่าวสารจากชายแดนใต้ไม่ว่าจะเป็นมุมในพื้นที่หรือมุมจากภาครัฐจะพูดกันอยู่แค่ 2 เรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่ คือปฏิบัติการความรุนแรงที่เกิดจากรัฐเองและฝ่ายก่อความไม่สงบ กับบรรยากาศความน่ากลัวที่แผ่ปกคลุมไปทั่ว (ทั้งๆ ที่บางเรื่องเป็นแค่เงาที่สร้างขึ้น แต่ปรากฏผลเกินคาด เช่น ข่มขู่ให้หยุดวันศุกร์) ทำให้รัฐไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะในแง่ของการป้องกันปฏิบัติการความรุนแรง กระทั่งกลายเป็นผลกระทบต่อเนื่องถึงกันแบบลูกโซ่
สิ่งที่ภาครัฐโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงทำมาตลอดคืออะไร...25 ต.ค.ปีนี้ก็เฝ้าระวัง 8 ปีตากใบ เดี๋ยว 4 ม.ค.ปีหน้าก็เฝ้าระวัง 9 ปีไฟใต้ 13 มีนาฯ ก็วันสถาปนาบีอาร์เอ็น 31 สิงหาฯ สถาปนาเบอร์ซาตู หลังๆ ยังลุกลามไปถึงวันสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย สรุปคือเฝ้าระวังกันเกือบทุกวัน
แต่ต้นตอของปัญหาไม่เคยแก้หรือไม่ได้รับการเหลียวแลเลย อย่างเหตุการณ์ตากใบ...ในแง่ของการคืนความเป็นธรรมทางคดีและกฎหมายที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะญาติผู้สูญเสียยังค้างคาใจไม่เคยมีความคืบหน้า มีแต่การจ่ายเยียวยาซึ่งเป็นการชดเชยด้านเศรษฐกิจและจิตใจเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น
การเฝ้าระวังเพื่อป้องกันเหตุรุนแรงเป็นเรื่องดี แต่เราจะพายเรือวนอยู่ในอ่างแบบนี้ไปถึงไหน หากได้ลองนั่งพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในภาคใต้ จะได้รับคำตอบเหมือนๆ กันว่า พวกเขาปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ลุล่วงไปวันต่อวัน เช่น รปภ.ครู รปภ.โรงเรียน รปภ.ถนน รปภ.วัด รปภ.เสาไฟฟ้า ฯลฯ แต่ไม่รู้ว่าจะพลิกสถานการณ์ให้กลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นได้อย่างไร
สภาพการณ์เช่นนี้เป็นเพราะเราติดอยู่ในกับดัก "ความรุนแรง" กับ "เงาของความหวาดกลัว" ที่ผมเรียกสั้นๆ ตามชื่อละครยอดฮิตว่า "แรง-เงา" ที่กลุ่มก่อความไม่สงบสร้างขึ้นใช่หรือไม่ และเราก็ใช้กำลังทหารตำรวจเข้าไปกดสถานการณ์เอาไว้ในลักษณะ "ตั้งรับ" เพื่อรักษาความปลอดภัย จนไม่มีโอกาสได้ "รุกกลับ" บ้างเลย
สภาพการณ์ดังว่าเกิดจากรัฐเองไม่มี "ข้อเสนอใหม่ๆ" เพื่อสร้างกระแสใหม่ให้เกิดการพูดคุย ถกเถียง และมองไปข้างหน้าร่วมกัน อันจะส่งผลให้เราหลุดจากกับดัก ความรุนแรงและเงาแห่งความน่าสะพรึงนั้น
"ข้อเสนอใหม่ๆ" ที่ว่านี้อาจยังไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่อง "ปกครองพิเศษ" ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และหาฉันทามติค่อนข้างยากในอนาคตอันใกล้ แต่อาจเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันแน่ๆ อยู่แล้ว อย่างการพัฒนาเพื่อรองรับการก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" ในปี พ.ศ.2558
ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ประกาศก่อนบรรลุข้อตกลงร่วมกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศเมื่อไม่นานมานี้ว่า จะเดินหน้าใช้การเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวก่อนสิ้นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขา และแน่นอนต้องทันการณ์กับการร่วมเป็นประชาคมอาเซียนด้วย
น่าจะดูดีไม่น้อยหากนายกรัฐมนตรีของไทยจะประกาศใช้ "ประชาคมอาเซียน" เป็นเข็มมุ่งให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก้าวข้ามความรุนแรง และเดินหน้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิ ในฐานะที่มี "ทุนทางสังคม" ทั้งศาสนา ภาษาที่ใช้ (มลายู) และวิถีวัฒนธรรม สอดคล้องกับประชากรอีกหลายร้อยล้านคนในอาเซียน
ที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐพูดเรื่องนี้กันอยู่บ้าง แต่ไม่อาจสร้างความหวังในแง่จิตวิทยาอย่างกว้างขวางได้เลย เพราะข้อเสนอและโครงการยังไม่น่าสนใจพอ ฉะนั้นรัฐบาลจึงควรกล้าประกาศนโยบายที่ก่อผลบวกในวงกว้าง เช่น ทุ่มงบประมาณยกระดับโรงเรียนสอนศาสนาทุกแห่งในพื้นที่ให้พร้อมก้าวสู่อาเซียน ให้มีห้องแล็บทางภาษาที่ทันสมัย ตกเย็นมีสอนพิเศษภาษาอาเซียนฟรีให้กับทุกคน โดยรัฐอุดหนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือสนับสนุนให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานอย่างแท้จริง และพัฒนาทักษะให้สามารถใช้เชื่อมต่อกับภาษามาเลย์และอินโดฯได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างนี้เป็นต้น
เป็นไปได้ไหมหากจะทำให้คนในพื้่นที่เห็นพ้องกันว่า อาเซียนกำลังพูดถึงการรวมตัวกันเป็นประชาคมโดยขจัดอุปสรรคเรื่อง "พรมแดน" ฉะนั้นคนที่ยังพูดเรื่องแบ่งแยกดินแดน หรือใช้วิธีก่อความรุนแรงอยู่ ย่อมเชยและล้าหลัง ทั้งยังทำลายบรรยากาศรวมถึงโอกาสที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้เปิดตัวอวดอัตลักษณ์มลายูให้ชาวโลกได้เห็นอีกด้วย
และสิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมก็คือเรื่อง "ความเป็นธรรม" ที่ต้องถอนความรู้สึก "อยุติธรรม" ที่ประชาชนคนพื้นที่ยังซึมซับและสัมผัสอยู่ให้หมดไปโดยเร็ว ไม่ว่าจะเหตุการณ์ใหญ่ๆ อย่างตากใบ กรือเซะ หรือเหตุการณ์ย่อยๆ อย่างปิดล้อม ตรวจค้น วิสามัญฆาตกรรมที่เกิดแทบจะรายวันก็ตาม
ได้เวลาต้องพากันออกจากกับดัก "แรง-เงา" แล้วเปิดมิติใหม่ชายแดนใต้กันเสียที!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 25 ต.ค.2555 ด้วย