"ปัญญาชนมุสลิม"เสนอล้างบัญชีดำ ผบ.ทบ.ขอโทษหากทหารทำผิดพลาด
พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้เข้าพบปะกับสมาชิกสมาคมปัญญาชนมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 300 คน ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี อ.เมืองปัตตานี เมื่อบ่ายวันพุธที่ 24 ต.ค.2555 ระหว่างการเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี ในห้วงก่อนวันครบรอบ 8 ปีเหตุการณ์ตากใบ
อย่างไรก็ดี รูปแบบของการพบปะไม่ใช่การรับฟังความคิดเห็นของสมาคมปัญญาชนมุสลิมฯอย่างเต็มรูปแบบตามที่ พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ได้ให้ข่าวไว้ก่อนหน้านี้ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงระดับสูงได้พูดคุยกับปัญญาชนมุสลิมในงานสัมมนาเรื่องประชาคมอาเซียนที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงเช้ามากกว่า
อย่างไรก็ดี ก็มีไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีการพบปะกันลักษณะนี้ โดยเฉพาะระหว่างปัญญาชนมุสลิมกับผู้นำทางทหาร
วอนเข้าใจรัฐ-มองไปข้างหน้า-ขอโทษที่ผิดพลาด
พล.อ.ยุทธศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า รัฐไม่ใช่ผู้ใช้ความรุนแรง และได้ปรับแผนการแก้ปัญหาชายแดนใต้มาโดยตลอด แต่เหตุการณ์รุนแรงก็ยังเกิดขึ้นเพราะยังมีคนที่ไม่เข้าใจและมีความคิดรุนแรงอยู่ รวมถึงบุคคลที่แอบอ้างในเรื่องต่างๆ เช่น กรณีห้ามทำงานหรือค้าขายวันศุกร์ ซึ่งต่อมาก็สามารถจับกุมคนที่แอบอ้างข่มขู่ได้และประชาชนในพื้นที่คงได้เห็นแล้ว
ฉะนั้นความเข้าใจของทุกฝ่ายจึงเป็นสิ่งสำคัญ ขอยืนยันว่ารัฐบาลยึดหลักสันติวิธีเพื่อดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับประชาชน รวมทั้งใช้การเมืองและการพัฒนานำการทหาร
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขออย่าให้มองย้อนอดีต เราจะเดินไปข้างหน้าและมองอนาคต เพราะคิดว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนไปสู่สันติสุขได้ ขอย้ำว่าทุกรัฐบาลไม่มีนโยบายใช้ความรุนแรง ถ้าจะมีก็เป็นเรื่องตัวบุคคล และถ้ามีก็สามารถแจ้งมาได้ จะใช้กฎหมายลงโทษอย่างเด็ดขาด
อย่างไรก็ดี การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงจะต้องใช้กฎหมายพิเศษ แต่ที่ผ่านมาเลือกใช้แค่ข้อเดียว (หมายถึงมาตรการต่างๆ ที่กฎหมายพิเศษให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เช่น ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อหาพยานหลักฐานกับควบคุมตัว ทั้งที่กฎหมายให้อำนาจเอาไว้นับสิบข้อ จึงเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ารัฐพร้อมให้ความเป็นธรรมกับประชาชน
"อยากขอโทษในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติได้ทำสิ่งที่ไม่ดีทั้งที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดในอนาคต ถ้าหากพื้นที่นี้เป็นปกติก็พร้อมจะยกเลิกกฎหมายพิเศษทั้งหมด ถ้าหากมันสงบพรุ่งนี้ ผมก็พร้อมเอาทหารออกจากพื้นที่พรุ่งนี้เลย แต่ก็อยากถามว่าท่านพร้อมหรือไม่" ผบ.ทบ.กล่าว
แนะเคารพอัตลักษณ์-เลิกบัญชีดำผู้ต้องสงสัย
ด้านความเห็นของปัญญาชนมุสลิม นายไพศาล อาแซ ผู้ช่วยเลขาธิการสมาคมปัญญาชนมุสลิมฯ กล่าวกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ที่ผ่านมาแม้ฝ่ายกองทัพโดยเฉพาะแม่ทัพภาคที่ 4 จะทำงานได้ดี แต่ก็ยังมีกำแพงที่ทำให้เกิดความขัดแย้งหรือความรู้สึกที่ไม่ดีอยู่ เช่น เรื่องการแต่งกายที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีของคนในพื้นที่ บางเรื่องยังผิดระเบียบราชการ ยกตัวอย่างทหารที่เป็นมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์จนไม่สามารถทำหน้าที่ได้ แต่ภรรยาก็ไม่อาจรับหน้าที่แทนหรือบรรจุเข้าไปรับราชการแทนได้ เนื่องจากเครื่องแบบทหารไม่อนุญาตให้ผู้หญิงสวมฮิญาบ (ผ้าคลุมหน้าของสตรี) จึงอยากขอให้ปรับปรุงในเรื่องเหล่านี้
ส่วนกฎหมายพิเศษอยากให้เลือกใช้ฉบับใดฉบับหนึ่งในการแก้ปัญหา และอยากให้การพัฒนาสอดคล้องกับอัตลักษณ์ตามข้อเสนอ "สันติธานี" ของนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่น 2 สถาบันพระปกเกล้า
นายไพศาล ยังเรียกร้องให้กองทัพชี้แจงเรื่องบัญชีดำ (รายชื่อผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบซึ่งจัดทำโดยฝ่ายความมั่นคง) ว่ามีจริงหรือไม่ หากมีน่าจะเปิดเผยออกมาว่ามีใครมีชื่ออยู่ในบัญชีบ้าง เพื่อความโปร่งใสและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้แสดงความบริสุทธิ์ เพราะหลายคนหวาดกลัว ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ และตกเป็นเหยื่อถูกหลอกหาผลประโยชน์จากกลุ่มผู้ไม่หวังดี
ขณะที่ บาบอเซ็ง มะลี หนึ่งในปัญญาชนมุสลิม กล่าวว่า อยากให้รัฐเปิดโอกาสให้พูดเรื่องกระจายอำนาจมากขึ้น ทุกวันนี้ถ้าคนในพื้นที่พูดเรื่องกระจายอำนาจจะถูกมองว่ามีแนวคิดแบ่งแยกดินแดน ทั้งๆ ที่ประเทศไทยปัจจุบันน่าจะมีการกระจายอำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากอำนาจยังรวมศูนย์อยู่ที่กรุงเทพฯมากเกินไป
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอบเรื่องบัญชีดำว่า ต้องนำพยานหลักฐานมาพูดกัน และฝากให้แม่ทัพภาคที่ 4 พิจารณาเรื่องนี้ต่อไป
เปิดประเด็นพูดคุย"กลุ่มเห็นต่าง"
นายไพศาล อาแซ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ที่รัฐควรตระหนักว่า คือเรื่องความเข้าใจในอัตลักษณ์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ พร้อมทั้งให้ความเป็นธรรมกับประชาชน
"ขณะนี้ภาคประชาชนก็เดินหน้าทำงาน อย่างเรื่องสันติธานีก็จะนำร่องในหลายพื้นที่ โดยเน้นพื้นที่ที่มีพี่น้องไทยพุทธกับมุสลิมอาศัยอยู่ร่วมกันได้ นี่เป็นแนวทางของประชาชน สำหรับแนวทางของกลุ่มขบวนการอาจมีแนวทางหรือข้อเสนออื่น เช่น เขตปกครองพิเศษ น่าจะหยิบขึ้นมาร่วมพูดคุยกัน แต่ต้องพยายามดึงพี่น้องที่มีแนวคิดต่างจากรัฐมาสร้างความเข้าใจ ร่วมพัฒนา และใช้ความต่างที่มีอยู่ร่วมเดินไปพร้อมๆ กัน ลดใช้ความรุนแรง และปลดอาวุธ"
ลดบาดหมาง "ปิดล้อม-ตรวจค้น-จับกุม"
นายอับดุลเลาะ หะยียามา นายกสมาคมปัญญาชนมุสลิมฯ กล่าวว่า อยากเสนอเรื่องการเข้าปิดล้อมตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันทุกฝ่าย
"เรื่องปิดล้อมตรวจค้นเราไม่ขัด แต่เพื่อลดความบาดหมาง อยากให้เจ้าหน้าที่ ส่งสัญญาณมาที่เรา แล้วเราจะพาบุคคลต้องสงสัยไปพบเจ้าหน้าที่เอง เพราะในการเข้าปิดล้อมตรวจค้น ภาพที่ออกไปทำให้ความรู้สึกของคนพื้นที่มีแต่ด้านลบ โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และครอบครัวของผู้ถูกจับกุม จึงอยากให้เกิดความเข้าใจและลดภาพด้านลบตรงนี้ โดยเสนอแนวทางให้ ผบ.ทบ.และรองนายกฯ ได้พิจารณา" นายอับดุลเลาะ กล่าว
ถือเป็นเวทีและบรรยากาศดีๆ ที่ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทัศนะกัน ขณะที่ข้อเสนอของภาคประชาชนก็ดูไม่ยากเกินไปที่รัฐจะดำเนินการ...มิใช่หรือ!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พล.อ.ยุทธศักดิ์ และ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเดินทางเข้าพบปะกับปัญญาชนมุสลิมชายแดนใต้ที่ จ.ปัตตานี (ภาพโดย นาซือเราะ เจะฮะ)