ชี้เด็กไทย 'ความฉลาดทางอารมณ์-ปัญญา' ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เหตุไม่ส่งเสริมการอ่าน
เวที สสส.ชี้นาทีทองพัฒนาเด็ก 6 ขวบแรก ระบุเด็กไทยไอคิว-อีคิวต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เหตุไม่ส่งเสริมการอ่าน ทีวี แท็บเล็ตทำสมาธิสั้น-ก้าวร้าว แนะชุมชนนำท้องถิ่นขยับ อบต.-อสม.-รพ.สต.-ศุนย์เด็กเล็ก ปรับบทบาทใหม่
วันที่ 24 ต.ค. 55 ที่ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวที ‘ชุมชนท้องถิ่นกับงานส่งเสริมการอ่านเพื่อพัฒนาสมองและพัฒนาเด็กปฐมวัย’ โดยมีนักวิชาการ หน่วยงานส่วนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมร่วมอภิปราย
รศ.จุมพล รอดคำดี ประธานกรรมการกำกับทิศทางแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ช่วงปฐมวัย ตั้งแต่แรกเกิด 0 – 6 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สมองคนเราพัฒนาและเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด ซึ่งเรียกว่า ‘หน้าต่างแห่งโอกาส’ หรือระยะวิกฤตของพัฒนาการทางสมอง โดยงานวิจัยด้านนิเทศศาสตร์ระบุว่าสื่อด้านการอ่าน โดยการใช้เสียงและภาพช่วยกระตุ้นสมองให้เด็กรู้จักวิเคราะห์และมีจินตนาการ ซึ่งแตกต่างจากสื่อมัลติมีเดีย เช่น โทรทัศน์ ที่จะทำให้เด็กจำแต่ไม่คิดวิเคราะห์ หนังสือจึงเป็นสื่อสำคัญในการพัฒนาเด็กเล็กในทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่เพียงการสอนให้เด็กอ่านเป็น แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมรักการอ่านขึ้นตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดด้วย
นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยมีความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) และความฉลาดทางปัญญา (ไอคิว) ลดต่ำลงเมื่อเทียบกับเด็กในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นผลจากการที่สังคมไม่เอื้อให้เกิดวัฒนธรรมการอ่าน อย่างไรก็ดีการส่งเสริมการอ่านควรเริ่มต้นตั้งแต่เด็กปฐมวัยและในระดับชุมชน โดยร่วมกันพัฒนาการเรียนรู้ของบุตรหลานเพื่อให้วัฒนธรรมการอ่านยั่งยืน
ด้านนายสุพจน์ องค์วรรณดี หัวหน้าโครงการสโมสรส่งเสริมการอ่าน กลุ่มระบัดใบ ผู้จัดกิจกรรม ‘กล่องหนังสือเคลื่อนที่’ สำหรับเด็กเล็กในพื้นที่จ.ระนอง กล่าวว่า จากการร่วมมือกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆ เช่น อบต. ,โรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.)และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กเล็กในท้องถิ่น คือ เจ้าหน้าที่ไม่ทราบวิธีการใช้หนังสือและคัดสรรหนังสือที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้ของเด็กเล็กแต่ละช่วงวัย เช่น เด็กวัยขวบปีแรกควรให้อ่านหนังสือภาพที่มีสีตัดกันแตกต่างชัดเจน เป็นต้น และหนังสือที่ชุมชนมักได้รับบริจาคมายังไม่หลากหลาย โดยมากมักเป็นหนังสือธรรมะ และนิตยสารบันเทิง และขาดหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเด็กเล็กด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่าชาวบ้านส่วนหนึ่งมีความเชื่อว่า เมื่อเด็กเล็กยังไม่สามารถอ่านหนังสือได้ หนังสือจึงไม่มีความจำเป็น และผู้ปกครองยังเชื่อว่าหนังสือเด็กซึ่งมีเนื้อหาน้อย มีภาพเป็นส่วนใหญ่ ไม่คุ้มค่าต่อราคาที่ต้องจ่าย จึงนิยมให้ลูกหลานดูโทรทัศน์ และบางส่วนหันมาให้เด็กใช้แท็บแลตหรือโทรศัพท์มือถือในการเรียนรู้แทน จึงทำให้เด็กเล็กใช้หนังสือไม่เป็นและนำไปสู่โรคสมาธิสั้น ดังนั้นการส่งเสริมการอ่านในเด็กเล็กจึงต้องเริ่มต้นที่การเปลี่ยนทัศนคติของผู้ปกครองด้วย
ขณะที่นางเพียงใจ พุฒแก้ว หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านระวิ จ.ระนอง กล่าวว่า เด็กเล็กสมัยนี้มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น เพราะซึมซับพฤติกรรมมาจากตัวละครในโทรทัศน์และนำมาปฏิบัติกับเพื่อน อย่างไรก็ดีเมื่อศูนย์ฯจัดทำห้องสมุดเด็กเล็กขึ้นโดยนำหนังสือนิทานที่เหมาะสมกับช่วงวัยมาใช้สอนเด็กพบว่าเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
นายบุญยัง วังเปรม นายกอบต.หนองขาม จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า เนื่องจากอบต.หนองมะขามเห็นความสำคัญในการส่งเสริมการอ่านแก่เด็กเล็ก ในปีงบประมาณ 2556 จึงได้บรรจุโครงการสื่อสร้างสรรค์ห้องสมุดชีวิต ตำบลแห่งการอ่าน ไว้ในข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อกระจายหนังสือสำหรับเด็กไปสู่ท้องถิ่น อย่างไรก็ดีแม้จะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการอ่านในชุมชนเป็นจำนวนน้อยนิดเมื่อเทียบกับงบประมาณโครงการอื่น แต่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านพัฒนาการอ่านแก่คนในชุมชนโดยเฉพาะเยาวชนได้มาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในเวทียังมีการแลกเปลี่ยนประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ปัญหาความไม่เข้าใจผู้บริหารระดับสูงต่อเรื่องพัฒนาการที่สำคัญของเด็กเล็กช่วงแรกเกิด – 6 ปี ที่มีผลต่อการส่งเสริมการอ่านและจัดหาหนังสือที่ถูกประเภทและเหมาะสมกับวัยการเรียนรู้ของเด็ก , ห้องสมุดเด็กเล็กที่ยังมีน้อย , ปัญหาเด็กทั้งในระดับมัธยม-มหาวิทยาลัยขาดทักษะการคิดวิเคราะห์-ไม่อ่านหนังสือ เนื่องจากไม่ได้รับการส่งเสริมการอ่านตั้งแต่วัยเยาว์, ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้องปรับเปลี่ยนบทบาทไม่ใช่เพียงดูแลแต่ต้องส่งเสริมพัฒนาการของเด็กด้วย นอกจากนี้ยังมีประเด็น ข้อจำกัดด้านงบประมาณและภาระงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ทำให้ไม่สามารถส่งเสริมเรื่องการอ่านแก่ชุมชนได้อย่างมีศักยภาพเต็มที่ เป็นต้น
รศ.พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กปฐมวัยคือ การมีส่วนร่วมของครอบครัว หากผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาบุตรหลานมากขึ้น ชุมชนก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้ส่วนท้องถิ่นดำเนินการต่อยอดเรื่องการอ่านได้ อย่างไรก็ดีพบว่าหนังสือเด็กที่ดีและมีคุณภาพไม่ค่อยมีเผยแพร่วางจำหน่ายในท้องถิ่น ทำให้ผู้ปกครองไม่รู้จะไปซื้อที่ไหน จึงควรมีการจัดให้มีการยืมหนังสือเด็กตาม รพ.สต. หรือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กด้วย
รศ.จุมพลกล่าวสรุปว่า การส่งเสริมการอ่านแก่เด็กเล็กในชุมชนเป็นเรื่องที่ต้องมีการขับเคลื่อนไปพร้อมๆกันตั้งแต่ระดับชุมชนถึงระดับชาติ โดยต้องผลักดันให้เป็นแนวปฏิบัติระดับประเทศ โดยมีส่วนท้องถิ่นสอดรับแนวทาง ประกอบกับต้องอาศัยการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย ทั้งนี้สสส.จะจัดให้มีการระดมความเห็นเรื่องดังกล่าวต่อไปเพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคีเครือข่ายนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น