หนุนคลอด กม.หลักประกันธุรกิจฯ เปิดโอกาส 'เอสเอ็มอี' เข้าถึงแหล่งทุน
คปก.จัดเวทีกลุ่มย่อยอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ... ‘นักวิชาการ’ ชี้คลอด กม.สำเร็จ ผู้ประกอบธุรกิจได้ประโยชน์-เพิ่มขีดแข่งไทย
วันที่ 24 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับ คณะนิติศาสตร์ มธ. จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อย “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.... ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ” โดยมีนักวิชาการ ผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งร่วมงานในครั้งนี้
นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร เลขาธิการ คปก. กล่าวอภิปรายในหัวข้อ ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ....ว่า กฎหมายฉบับนี้ได้พัฒนาขึ้นมาจากร่างกฎหมายเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วเมื่อ พ.ศ.2545 และ พ.ศ.2552 โดย คปก.ได้หยิบขึ้นมาตรวจพิจารณาอีกครั้งและเลือกแก้ในประเด็นสำคัญ เนื่องจากเล็งเห็นว่า ระบบกฎหมายไทย มีข้อจำกัดในเรื่องการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกัน โดยวิธีจำนองและจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตรงจุดนี้เอง เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง วิกฤตเศรษฐกิจ
“การผลักดันร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีเจตนารมณ์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นประกันการชำระหนี้ และสามารถจัดหาทุนมาใช้ในการประกอบกิจการในลักษณะที่ไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการ ตลอดจนประชาชนในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และมีต้นทุนไม่สูง ที่สำคัญคือ กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้า” นายพสิษฐ์ กล่าว
ขณะที่ รศ.สุดา วิศรุตพิชญ์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ ว่า มีแนวคิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540-2541 แต่จนถึงปัจจุบัน 10 กว่าปีแล้ว กฎหมายฉบับนี้ก็ยังไม่คลอดออกมาเสียที ทั้งนี้ เชื่อว่าหากสามารถพัฒนากฎหมายนี้ออกมาได้ จะเป็นประโยชน์ในทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม เมื่อการออกกฎหมายฉบับนี้ ไม่ได้ต้องการยกเลิกกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กรณีจำนำ จำนอง จึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาและออกแบบไม่ให้กฎหมายซ้ำซ้อนกัน ส่วนทรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจนั้น จะต้องมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการจดแจ้งและสืบค้นว่า ทรัพย์สินนั้นๆ ได้มีการจำนองไปแล้วหรือไม่ อย่างไร เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับหลักประกัน
ด้าน ศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธุ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.... ว่า กฎหมายฉบับนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้น เนื่องจากหนึ่งในปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 เกิดขึ้นจากปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย เอสเอ็มอี และในเรื่องนี้ คปก. จะผลักดันต่อไป โดยหลักในการปฏิรูปกฎหมายของ คปก. นั้น จะใช้วิธีศึกษา ค้นคว้าวิจัย และใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้น จะมีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในเรื่องนี้เพิ่มเติม จนกว่าจะครบกระบวนการ และจะนำข้อเสนอแนะมาพิจารณาสรุปเป็นร่างที่สมบูรณ์ต่อไป