หน.อุทยานฯแก่งกระจาน รับปากจัดสรรที่ทำกินชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอย
'ปิดทองหลังพระ' ลงพื้นที่โป่งลึก-บางกลอย แก้ปมขัดแย้งตามแนวพระราชดำริพัฒนาชนบท ชวนกะหร่่างปลูกผักแก้ขาดอาหาร อุทยานฯรับปากจัดที่ทำกินครอบครัวละ 5 ไร่คลี่ปมขัดแย้ง
เร็วๆนี้ มูลนิธิปิดทองหลังพระ ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า “แผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ พื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย” ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยมูลนิธิฯ ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัดเพชรบุรี เข้าไปส่งเสริมปลูกผักสวนครัวให้ชาวกะหร่างในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร เช่น คะน้า กวางตุ้ง ถั่วฝักยาว แตงกวา ทำให้ปัจจุบันทั้ง 2 หมู่บ้านมีอาหารกินพอเพียงทุกครัวเรือน
นายกิติชัย ชื่นฤทัย รองนายกอบต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน กล่าวว่าจากข้อจำกัดด้านพื้นที่ของอุทยานประกอบกับการไม่มีความรู้ในการปลูกผักสวนครัวทำให้ก่อนหน้านี้ชาวบ้านประสบภาวะขาดแคลนอาหาร แต่ปัจจุบันเมื่อชาวบ้านสามารถปลูกผักรับประทานกันเองได้แล้ว อย่างไรก็ดีชาวบ้านเกือบทั้งหมดยังมีภาระหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมกองทุนเพื่อการเกษตรต่างๆมาลงทุนในการทำไร่ซึ่งไม่ค่อยได้ผลผลิต
ด้านนายปลุ จีโบ้ง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านบางกลอย กล่าวว่า แม้ปัจจุบันคุณภาพชีวิตด้านอาหารของชาวบ้านจะดีขึ้นจากการปลูกผักสวนครัวกิน และกำลังจะมีระบบท่อส่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร โดยความช่วยเหลือจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯและกรมชลประทาน แต่ปัญหาสำคัญคือชาวบ้านกว่าครึ่งของทั้ง 2หมู่บ้านกว่า 150 หลังคาเรือนไม่พื้นที่ทำกิน โดยเฉพาะชาวกะหร่างที่ถูกผลักดันจากอุทยานฯให้ลงมาอยู่ในหมู่บ้านในระยะหลัง ส่วนชาวบ้านที่มีที่ทำไร่อยู่เดิมก็ประสบปัญหาขาดทุน ผลผลิตไม่งอกงาม เพราะต้องใช้พื้นดินเดิมที่เสื่อมสภาพลงทุกวัน ทั้งนี้เนื่องมาจากข้อจำกัดในการใช้พื้นที่ป่าของอุทยานฯ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ยากลำบาก
“ถึงแม้ว่าชาวบ้านมีน้ำ แต่ไม่มีพื้นที่ทำกินก็ไปไม่รอด” นายปลุกล่าว
อย่างไรก็ดีแม้อุทยานฯจะเคยเสนอพื้นที่อาศัยและทำกินแห่งใหม่เพิ่มเติมให้บริเวณป่ามะเร็วให้แต่ชาวบ้านไม่สามารถอยู่ได้ โดยระบุว่ามีปัญหาดินและน้ำไม่เพียงพอ จึงอยากให้อุทยานฯจัดสรรพื้นที่เพิ่มให้แก่ชาวบ้านที่ไม่มีที่ทำกิน ทั้งนี้เชื่อว่าอาจเกิดปัญหาหากมีการจัดสรรพื้นที่ใหม่โดยให้เจ้าของพื้นที่เดิมแบ่งที่ทำกินของตนให้แก่ผู้ไม่มีที่ทำกินในสัดส่วนที่เท่าๆกันด้วย
ด้านนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าอุทยานฯสามารถจัดสรรพื้นที่ทำกินให้ชาวบ้านได้ โดยอาศัยอำนาจตามมติ ครม.(มติ ครม.30 มิ.ย.41 และ 3 ส.ค.53 ที่เป็นแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ทั้งเรื่องอัตลักษณ์ ชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม รวมถึงการจัดการทรัพยากร) ซึ่งสามารถขยายพื้นที่รองรับได้อีก 500-1,000 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการฟ้องร้องดำเนินคดีหรือพื้นที่รกร้างไม่ใช่ป่าสมบูรณ์ โดยยืนยันว่าชาวบ้านกว่า 150 ครอบครัวจะมีที่ทำกินอย่างน้อยครอบครัวละ 5 ไร่ ตามความเหมาะสมของจำนวนสมาชิกในครัวเรือนด้วย
อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือชาวบ้านบางคนถือครองพื้นที่ในสัดส่วนมากกว่าผู้อื่น ขณะที่บางคนไม่มีที่ทำกิน จึงต้องมีการนำพื้นที่ทั้งหมดมารวมกันและแบ่งให้เท่าเทียมเสียใหม่ โดยยอมรับเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้ยาก ฉะนั้นเพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่ดังกล่าวซึ่งมีความละเอียดอ่อนในหลายมิติ จึงจะพิจารณาหาพื้นที่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ไม่มีที่ทำกิน จำกัดเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ดั้งเดิม เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาคนนอกและกลุ่มชาติพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้านสวมรอยจดทะเบียนเป็นคนในหมู่บ้านด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านและสำรวจชาวกะหร่างดั้งเดิมผู้มีสิทธิ ซึ่งคาดว่าจะจัดสรรพื้นที่ได้ในเดือน เม.ย.56 แต่แผนการดังกล่าวจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับความสามัคคีและการตัดสินใจของชาวบ้านในการแบ่งสรรพื้นที่ด้วย .
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :::
'โครงการพระราชดำริ ปิดทองหลังพระฯ เร่งแก้ปัญหาคนกับป่า บ้านโป่งลึก-บางกลอย' http://bit.ly/TAg5G5