“ฝันประเทศไทย” สะท้อนเสียงเยาวชน อึด-อัด ต่อการเมือง
อภิสิทธิ์ ร่วมเวที “Dream Thailand” หรือ “ฝันประเทศไทย” ลั่นอีก 10 ปี เลิกการเมือง ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน
มูลนิธิ Friedrich Nauman ร่วมกับสถาบัน Asian Knowledge Institude สถานีโทรทัศน์ Thai PBS นิตยสาร happening นิตยสาร Bioscope และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมจัดโครงการ Road Show เวทีเสรีเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและฟังเสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่ ภายใต้โครงการ “Dream Thailand” หรือ “ฝันประเทศไทย” ในหัวข้อ “อนาคตประเทศไทย 10 ปี ถัดไปที่คุณอยากเห็น” ระหว่างวันที่ 16-21 ต.ค.2555 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลังจากได้ตระเวนจัดงานมาแล้ว 7 จังหวัด ทุกภูมิภาคของประเทศ
สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีทั้งการจัดนิทรรศการและกิจกรรมสานเสวนาของคนรุ่นใหม่ ภายในนิทรรศการประกอบด้วยการฉายภาพยนตร์สั้น “เสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่” ซึ่งนำไปออกอากาศทางไทยพีบีเอส การแสดงภาพรวมความฝันของคนรุ่นใหม่จากทุกภูมิภาค โดยนำกระดาษโพสท์อิทที่คนรุ่นใหม่เขียนสิ่งอยากเห็นในอนาคตประเทศไทยอีก 10 ปี ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา และการสื่อสารและเทคโนโลยี นำมาแปะรวมกันบนบอร์ดใหญ่
ยกตัวอย่าง “ความฝัน” อาทิ “อยากเห็นคนไทยรักกัน” “อยากให้คนไทยสามัคคีกัน” “อยากให้ประเทศไทยปลอดคอร์รัปชั่น” “อยากให้คนยากจนหมดไปจากประเทศไทย” เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้จัดงานบอกว่าเป็น “เสียง” หรือความเห็นพื้นฐานที่พบได้เรียกว่า เกือบจะทุกเวทีที่ได้จัดมา
ขณะที่กิจกรรมบนเวทีก็เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ร่วมแสดงความคิดเห็น เช่น วัยรุ่นคนหนึ่งฝัน “ในอีก 10 ปีอยากเห็นประเทศไทยมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่สมบูรณ์” ขณะที่ นักศึกษาคนหนึ่งส่งเสียง “อยากให้มหาวิยาลัยของไทยทุกแห่งเปิดเสรีทางการศึกษา” เป็นต้น
สำหรับกระบวนการที่คนรุ่นใหม่ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตประเทศไทยที่ตนเองอยากเห็นนี้เรียกว่า กระบวนการระดมความคิดแบบ Future Search คือเป็นการคิดฝันล้วน ๆ โดยยังไม่ต้องคำนึงถึงบริบททางสังคมหรืออุปสรรคอื่นใดที่อาจขัดขวางไม่ให้ความคิดฝันนั้นสำเร็จขึ้นได้
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อความในกระดาษเล็ก ๆ เหล่านั้นว่า สะท้อนความอึดอัดของเยาวชนทั่วประเทศที่มีต่อการเมือง นับไม่ถ้วนว่า มีกี่ใบที่อยากให้คนสามัคคีกัน ที่อยากให้ประเทศสงบ
"อีก 10 ปีถามว่าผมฝันอะไร ผมฝันว่าอีก 10 ปีผมจะไม่อยู่ในการเมืองแล้ว เพราะผมหวังว่า ผมได้ทำหน้าที่ของผมอย่างดีที่สุดแล้ว จึงฝันจะเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่นี้ต่อ ถ้าถึงวันนั้นแล้วสิ่งที่ผมฝันยังไม่เกิดขึ้น ผมคงโทษใครไม่ได้นอกจากตัวผมเองและอีกหลาย ๆ คน”
อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ทุกคนอยากให้สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่หลายเรื่องที่ไม่เปลี่ยนแปลง มาจากคนในสังคมเองที่ยังไม่ยอมเปลี่ยน พอเรามีอายุมากขึ้นเราจะกลัวความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นด้วย คนที่จะเปลี่ยน จึงต้องเป็นคนอีกรุ่นหนึ่งที่มีความกล้า และความตั้งใจมากกว่า
ด้านนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ในฐานะประธานคณะกรรมการหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีเสวนา แนะนำเพิ่มเติมให้คนรุ่นใหม่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ส่งเสียงความฝัน หรือบอกสิ่งที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีขึ้น แทนการโพสต์แต่เรื่องส่วนตัว
แน่นอนว่าความฝันของคนต่างรุ่น ต่างอายุก็ย่อมต่างกันไปตามประสบการณ์ที่ตัวเองมีต่อโลกและสังคม เสียงหนึ่งจากภาพยนตร์สั้น “เสียงสะท้อนจากคนรุ่นใหม่” ที่มาจากปากของเด็กชายวัยราว 6 ขวบจึงดูแตกต่างจากคนอื่นอย่างเห็นได้ชัด คำตอบของเด็กน้อยต่อคำถามเดียวกันกับทุกคนที่ว่า อนาคตอีก 10 ปี อยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร?
เด็กชายตอบ อยากให้เรามีอาหาร บ้านที่อยู่อาศัย เสื้อผ้า และยารักษาโรคอย่างสมบูรณ์ไม่ขาดแคลน เพราะถ้าเราไม่มีอาหารกิน 3 วันเราก็ตายแล้ว
ติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวของโครงการ Dream Thailand ได้ที่ www.facebook.com/pages/Dream-Thailand