‘บรรเจิด’ หวั่นจำนำข้าว เดินซ้ำรอย สปก.4-01 ทำรัฐบาลต้องยุบสภา
เสวนาจำนำข้าว 'นิด้า' ยันเป็นประชานิยมที่ไม่อยู่บนพื้นฐานความเหมาะสม ยันจะยึดความพอใจชาวนาอย่างเดียวไม่ได้ แนะรัฐเลิกผูกขาด ปรับนโยบายเพื่อคนจนส่วนรวม ขณะที่ดร.บรรเจิด หวั่นจำนำข้าวเดินซ้ำรอย สปก.4-01
วันที่ 20 ตุลาคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า จัดเสวนาวิชาการ เรื่อง "นโยบายรับจำนำข้าว ทางออก หรือ วิกฤติของชาวนาไทย" ณ อาคารบุญชนะ อัตถากร นิด้า โดยมี ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ นิด้า รศ.ทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์ นิด้า รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า และนายไพศาล เนาวะวาทอง รองประธานสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร ตัวแทนชาวนา ร่วมเสวนา
รศ.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า เรื่องนโยบายในขณะนี้เป็นเรื่องของปรากฏการณ์ทางการเมือง อย่างในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มการเมืองที่พยายามจะยึดกุมอำนาจรัฐอย่างยั่งยืน ด้วยการยึดฐานเสียงมวลชนแบบเบ็ดเสร็จ จึงใช้วิธีสร้างนโยบายประชานิยมที่ไม่อยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสม เพื่อมาป้องกันการลดทอนอำนาจของอีกฝ่าย ด้วยการเชื่อมโยงกันหลายนโยบาย เช่น การรับจำนำข้าว
"แม้การช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้สูงขึ้น เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการ แต่การกำหนดราคารับจำนำสูงกว่าราคาตลาดมาก ในขณะนี้เงินถึงมือชาวนาไม่เต็มจำนวนที่กำหนด มีเงินที่ต้องตกหล่นไประหว่างกระบวนการ นโยบายเช่นนี้จึงไม่ถูกต้องนัก ฉะนั้น การกำหนดนโยบายของรัฐบาลจะคำนึงถึงความพอใจของชาวนาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำให้ชาวนาเข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภาพรวมของประเทศด้วย ส่วนการจะเบรกให้มีการทบทวนนโยบายจำนำข้าวในทางกฎหมายมาตราต่างๆ ที่มีการขับเคลื่อนกันขณะนี้คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรัฐบาลอ้างเรื่องเกษตรกรได้ประโยชน์ จึงเหลือเพียง 'จับตา' กระบวนการโดยเฉพาะความไม่โปร่งใสและการทุจริต"
ด้านรศ.อดิศร์ กล่าวว่า ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ หลักคือซื้อมาต้องขายไป เป็นไปตามกลไกตลาดชัดเจน โดยมีองค์การการค้าโลก หรือ WTO เป็นผู้ดูแลกติกา เช่นเดียวกับการค้าน้ำมัน หรือทองคำ ประเทศผู้ส่งออกยังไม่สามารถกำหนดราคาเองได้ มีความเป็นไปได้ที่องค์การการค้าโลกควรจะเข้ามาควบคุมการวางนโยบายเช่นนี้ที่มีผลต่อตลาดโลก
"นโยบายการช่วยเหลือชาวนาควรจะคิดเพื่อความยั่งยืน เช่น เป็นมาตรการที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน เพิ่มระบบชลประทาน ไม่ใช่การกำหนดราคา ทั้งนี้ รัฐบาลต้องคิดนโยบายสาธารณะในภาพกว้างที่มีความยั่งยืน และช่วยเหลือคนจนหรือเกษตรกรทุกอาชีพ ไม่ใช่เน้นแค่ชาวนาหรืออาชีพใดอาชีพหนึ่ง ส่วนที่ชาวนามองว่า นิด้าคัดค้านนโยบายจำนำข้าว อยากเรียนว่า แท้จริงแล้วนิด้าต้องการให้อนาคตข้าวไทยและชาวนาไทยสดใสขึ้น ไม่ได้คัดค้านหากเป็นนโยบายจำนำข้าวอย่างแท้จริง แต่จะคัดค้านหากเป็นนโยบายที่ผูกขาดตลาดข้าวเช่นนี้"
จีทูจี รุมทึ้งประเทศไทย
ขณะที่ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวในด้านกฎหมายว่า ตามหลักประชาธิปไตยกับหลักนิติรัฐ รัฐบาลมักอ้างว่ามีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย จากการเลือกตั้ง แล้วถือว่าสามารถดำเนินการนโยบายใดๆ ได้ โดยมีความชอบธรรม แต่รัฐเสรีประชาธิปไตยไม่ได้บอกว่าหลักประชาธิปไตยสูงสุด ต้องอิงกับหลักนิติรัฐ เช่น กรณีเยอรมันตอนปฏิวัติประเทศ ไม่อาจปล่อยให้เสียงข้างมากกำหนดทิศทางของประเทศโดยลำพัง เช่นเดียวกับประเทศไทย การกำหนดนโยบายใดๆ ก็ตามมาจากพรรคการเมืองเป็นหลัก มีมิติของประชานิยม ซึ่งก็ไม่อาจปล่อยให้มีการกำหนดโดยลำพัง ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ ต้องตรวจสอบได้
"นโยบายจำนำข้าว แม้เป็นนโยบายที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ก็ต้องคำนึงกรอบใหญ่ว่า เป็นนโยบายที่กระทบการแข่งขันเสรีหรือไม่ เพื่อประโยชน์ของรัฐหรือประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ หากกระทบต่อเสรีภาพการประกอบอาชีพ กลไกการค้าขาย จะนำไปสู่การตรวจสอบเชิงการเมือง ว่านโยบายดังกล่าวทำได้หรือไม่" ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว และว่า ในทางหลักกฎหมาย อำนาจรัฐมีเหนือประชาชน แต่ต้องเป็นไปตามหลักความพอสมควรแก่เหตุ เมื่อนำหลักมาตรวจสอบนโยบายจำนำข้าว ต้องพิจารณาว่า มาตรการของรัฐบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่ กระทบสิทธิ์ของคนหรือไม่ เป็นมาตรการที่มีความสมดุของผลประโยชน์ของรัฐหรือไม่ เพราะมิเช่นนั้น อาจซ้ำรอยกับกรณี สปก.4-01 ที่รัฐบาลชุดหนึ่งต้องยุบสภาไป
ในส่วนกรณีการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือจีทูจี ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า ตนเคยมีประสบการณ์ตรวจสอบเรื่องจีทูจีรถดับเพลิง สามารถบอกได้ว่า มาตรการนี้ที่ยกเว้นมาตรการทั่วไปแล้วใช้อำนาจรัฐมาตัดสินและดำเนินนโยบายโดยตรงนั้นเป็นการ 'รุมทึ้งประเทศไทย' ที่หากไม่มีการตรวจสอบที่โปร่งใสและเป็นธรรมจะมีอะไรอยู่ใต้พรมแน่นอน ยิ่งขณะนี้ไม่พบข้อมูลการระบายข้าวใดๆ ทั้งที่เป็นเรื่องผลประโยชน์มหาศาลของประเทศ
สำหรับนโยบายจำนำข้าว นอกเหนือจากเรื่องทุจริตเบี้ยบ้ายรายทางแล้ว ศ.ดร.บรรเจิด มองในแง่ทุจริตเชิงนโยบายตามกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123 ที่ปรับปรุงแก้ไขให้ครอบคลุมมากขึ้นแล้ว พบว่า อาจมีความผิดครอบคลุมและเชื่อมโยงกับคำว่า 'เจ้าหน้าที่ของรัฐ' ที่หมายรวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีที่ประพฤติมิชอบ กระทำการทุจริต หรือกำหนดนโยบายเพื่อให้บุคคลอื่นได้ประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งมีความเป็นไปได้ ฉะนั้น รัฐบาลควรหาทางออกที่เป็นความมั่นคงมากกว่ามาตรการเหล่านี้ ที่ไม่ถือเป็นมาตรการที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของประชาชนและสังคมโดยรวม
"สังคมไทยจะให้อำนาจฝ่ายการเมืองฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมีการตรวจสอบที่ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคม ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงสุด"
ขอราคามาตรฐานสินค้าเกษตร
ด้านนายไพศาล กล่าวว่า สิ่งที่ชาวนาอยากได้ในตอนนี้ คือ ต้องการให้รัฐกำหนดราคามาตรฐานสินค้าเกษตร โดยเฉพาะราคาข้าว ควรตั้งมาตรฐานประมาณ 10,000 บาท เพื่อลดการฉวยโอกาสจากพ่อค้า เพราะที่ผ่านมาราคาข้าวขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละชุดที่เปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนนโยบายตลอด ซึ่งส่วนนี้ชาวนาได้รับผลกระทบมาก แม้แต่ราคากะปิ น้ำปลายังมีราคามาตรฐาน แต่ข้าวไม่มี
"ที่ผ่านมาชาวนาตกต่ำ ยากลำบากและได้รับผลกระทบตลอดทั้งสภาพอากาศ การเปลี่ยนแปลงของภาคเมือง ความเสี่ยงจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติและระบบชลประทาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่มีใครมองเห็น มีแต่การช่วงชิงเรื่องการเมือง พร้อมกันนี้อยากตั้งคำถามไว้ด้วยว่า หากจะมีการขับเคลื่อนให้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวจริง จะมีนโยบายใดมารองรับต้นทุนต่างๆ ที่ขึ้นราคาไปแล้ว"