ทางสองแพร่ง 3 จี กับมุมมอง “ดร.ถวิล พึ่งมา” ฮั้ว ไม่ฮั้ว หรือทุกคนกล้ำกลืน
นับตั้งแต่มีการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ หรือไลเซ่นส์ คลื่นความถี่ 3 จี 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา กระแสวิพากษ์วิจารณ์ รวมถึงการทักท้วงกรณีที่ กสทช.ออกแบบการประมูล เอื้อต่อเอกชนให้ประมูลคลื่น 3 จีได้ในราคาต่ำ หรือเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือที่เรียกกันว่า "พ.ร.บ.ฮั้ว" หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่สร้างคลางแคลงใจให้กับสังคม แม้กระบวนการต่างๆ ในขณะนี้ จะเดินหน้าไปถึงขั้นตอนให้ผู้ชนะการประมูลทั้ง 3 ราย ดำเนินการชำระค่าประมูล 50% พร้อมกับภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วก็ตาม
...ประมูล 3 จีฮั้วจริงกันหรือไม่? และต่อจากนี้ 3 จีบนทางสองแพร่งจะเป็นอย่างไร...ระหว่างเดินหน้า หรือถอยมาตั้งต้นใหม่ดี?
เรื่องนี้ ในทัศนะของผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคมมือฉมัง อย่าง ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อดีตผู้ทรงคุณวุฒิด้านโทรคมนาคมคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2539 อดีตประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เมื่อปี 2543-2544 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ตอบอย่างหนักแน่นและตรงไปตรงมาว่า
“3 จีในบ้านเราต้องให้เกิดได้แล้ว เพราะสู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้”
@ ทำไมอาจารย์ถึงคิดเช่นนั้น?
ในทางวิชาการแล้ว 3 จีในบ้านถือว่าช้าไปมาก มุมมองนักเศรษฐศาสตร์สามารถตีออกมาได้หมด เช่น ตีออกมาว่าทำให้ประเทศเสียหายเดือนละหลายพันล้านบาท เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมคิดว่า จะทำอย่างไรให้เกิด 3 จีเร็วๆ แต่ไม่ได้หมายความไม่ได้ทำอย่างไม่ถูกกฎหมายนะ
"ต้องทำ 3 จี เร็วๆ และถูกกฎหมาย ซึ่ง พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ นั้นบอกไว้ว่า การให้คลื่นความถี่นั้นต้องมีการประมูลกัน และขณะนี้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ดำเนินการประมูลไปแล้ว
ซึ่งผลออกมาที่น่าดีใจคือ 1.การประมูลได้จำนวนเงินไม่ต่ำกว่าเงินต่ำสุดที่กำหนดเอาไว้ 2.ทุกรายได้คลื่นความถี่จำนวนเท่ากันไป ซึ่งตรงนี้มีความหมายมากว่าต่อไปในอนาคต เมื่อได้ความถี่ไปแล้ว จะต้องมีการแข่งขันกันเต็มที่ เพราะได้แต้มต่อที่เท่ากัน และเมื่อมีการแข่งขันกันเต็มที่ประโยชน์จะเกิดกับประชาชนผู้ใช้บริการ และประเทศอย่างมากมาก นั่นก็คือ มีการแข่งขันที่เสรีใน 3 จีเกิดขึ้น"
@ แต่การประมูล บางฝ่ายระบุว่าได้เงินน้อยไป?
ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า ที่บอกว่าได้น้อยได้มากเกณฑ์เขาอยู่ตรงไหน และเท่าที่ผ่านมาก็มีคนเคยทำเกณฑ์ โดยเอาเกณฑ์ของการทำคลื่น 2 จีมาเป็นเกณฑ์ ซึ่งคลื่น 2 จีเป็นระบบเก่าที่ต้องลงทุนมากและประสิทธิภาพน้อย เมื่อเทียบกับ 3 จี เพราะฉะนั้นผมคิดว่าตรงนี้ มันไม่สมควรที่จะเอา 2 จี มาประเมินและก็เอามาเทียบกับ 3 จี เพราะว่า 3 จีนั้นลงทุนน้อยกว่า อีกทั้งยังมีโอกาสทำได้เพียงแค่ประมาณ 3 ปีเท่านั้น 4 จีก็น่าจะเข้ามาแล้ว
“ในความเห็นผม ราคาตั้งต้นของ กสทช. แพงไปครับ ซึ่งในเรื่องนี้เวลาผมไปบรรยายที่ไหนก็จะพูดอย่างนี้ตลอด เพราะราคา 4,500 ล้านบาทต่อสลอต 3 สลอต 13,500 ล้านบาท มันแพง เพราะทำงานได้แค่แป๊ปเดียว แต่เอาล่ะ หลายคนก็ยังบอกว่า มันไม่แพง ผมก็เลยอธิบายไปว่า จะดูว่าแพง หรือไม่แพง เดี๋ยวรอดูบริษัทที่เข้าร่วมประมูล ถ้าเงินตั้งต้นถูกอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท ผมคิดว่ามีบริษัทที่เข้าประมูลเป็น 10 บริษัท แต่ที่นี้มันแพงจนกระทั่งไม่มีคนอยากเข้าประมูล เลยเหลือแค่ 3 เจ้ายักษ์ใหญ่ของประเทศไทยที่เข้าประมูลเท่านั้น ตรงนี้ก็เป็นตัวชี้วัดได้อันหนึ่ง”
@ และที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการประมูลฮั้วกัน อาจารย์คิดเห็นอย่างไร?
ถ้าถามผมนะ...ถ้าผม 3 คนฮั้วกัน ใช้วิธีจับมือไม่เข้าประมูล เมื่อไหร่ที่ราคาลดลงมาถึงเข้าร่วมประมูล อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ‘ฮั้ว’ ถูกไหมครับ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเขาฮั้วกันจริง 13,500 ล้านบาทแพงไป ถ้า กสทช. ไม่ตั้งราคาต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เรา 3 คนไม่เข้า ก็เสร็จแล้วครับ อย่างนี้ฮั้วจริง แต่เที่ยวนี้ผมดูการประมูลไม่ฮั้ว ทุกคนกล้ำกลืน บางเจ้าจองแค่ 2 สลอตในตอนแรก กว่าจะเพิ่มเป็นจอง 3 สลอตก็วินาทีสุดท้าย ซึ่งตรงนี้มันเห็นชัดๆ
@ อาจารย์ยืนยันไม่มีการฮั้ว?
มันฮั้วไม่ได้...ถ้าฮั้วกันจริงจับมือกันไม่เข้าประมูล กสทช.ขายความถี่ไม่ได้ก็ต้องลดราคา อย่างนี้ถึงจะเรียกว่า ‘ฮั้ว’ แต่นี่ กสทช. ตั้งราคาต่ำสุดไว้ที่ 4,500 ต่อสลอต 3 สลอต 13,500 ล้านบาทก็ได้ตามนั้น ถามว่าทำไมบางคนถึงมองว่าถ้ามีการประมูลกันจริงๆ ราคาต้องขึ้นเยอะๆ ตรงนี้ผมว่าไม่จริงนะ เพราะเขาไม่มีเงินกันแล้ว
ส่วนที่มองว่าแบ่ง 3 ช่วงให้ 3 บริษัท ผมก็ว่าไม่ใช่เช่นกัน เพราะถ้าตั้งราคาขั้นต่ำสูงขึ้นไปอีก ผมเชื่อเลยว่า เดี๋ยวก็มีผู้เข้าประมูลแค่ 1-2 ราย เราก็จะไปเจอสถานการณ์ monopoly ไม่มีการแข่งขันกันเกิด ขณะเดียวกันความถี่ก็จะเหลือ เพราะถ้าเกิดเหลือเพียงแค่ 1-2 รายที่มีเงิน เขาซื้อความถี่แค่ 15 เมกกะเฮิร์ทซก็พอแล้ว จะซื้อมากกว่านี้ไปทำไมใช่ไหมครับ
เพราะฉะนั้นมันไม่มีทางฮั้วเลย ผมว่าคนที่ออกมาบอกว่าฮั้วๆ เนี่ย เขามีอคติ ในทางกลับกัน ถ้าให้เขาไปประมูลบ้างจะคิดอย่างไร? ทุกคนประมูลก็อยากให้ได้เงินต่ำสุด คงไม่มีใครบอกรักชาติ เอาไปเลยแสนล้านบาท ผมว่าคงไม่มีอยู่แล้ว
@ แล้วรัฐยังจะได้ประโยชน์เต็มเม็ดเต็มหน่วยอยู่หรือไม่ ?
ผมมองว่า ผลประโยชน์ของรัฐที่จะเกิดขึ้นคือ 1.เงินจากการประมูล กสทช. ได้เงิน รัฐก็ได้เงินส่วนหนึ่ง เมื่อการประมูลสำเร็จแล้ว
2.การสร้างโครงข่าย ทุกคนต้องการมีโครงข่าย ซึ่งหมายความว่าต้องมีลูกค้า 20 ล้านคนถึงจะคุ้มทุน ลูกค้าจำนวนนี้ สมมุติว่า แต่ละคนหนึ่งใช้โทรศัพท์วันละ 20 บาทต่อวัน วันหนึ่งก็จะมีรายได้ 400 ล้านบาท และในเงิน 400 ล้านบาทนี้ ผู้ให้บริการบริษัทต่างๆ จะต้องจ่ายให้ กสทช. 6.5% คิดดูครับวันหนึ่งไม่รู้เงินเท่าไหร่ที่จะเข้ารัฐ
3.ผู้ใช้บริการ 20 บาทต่อวันที่ว่านั้น จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีก 7% ก็หมายความว่า รัฐได้ตรงนี้อีกส่วนหนึ่ง เพราะฉะนั้น ที่บางคนบอกว่ากลัวรัฐจะสูญเสีย ตรงนี้ไม่ต้องกลัวครับ ในทางกลับกัน ถ้ารัฐไปเอาตรงประมูลสูงๆ คนก็ไม่สามารถลงทุนได้ ผู้ใช้บริการ 20 ล้านคนที่ผมว่า อาจจะเหลือแค่ 10 ล้านคน รายได้ตอนท้ายก็จะหายไปอีก เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าคนที่คิดเรื่องนี้...เศรษฐศาสตร์ต้องคิดให้ครบวงจร ไม่ใช่คิดแต่การประมูล
@ แล้วกลไกการประมูลในต่างประเทศ เหมือนหรือต่างกับบ้านเราอย่างไรบ้าง?
กลไกในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่น บางประเทศเป็นประเทศผู้ผลิต ถ้าเขาประมูลแพงๆ และขายได้เป็นตัวอย่าง เขาก็สามารถไปขายประเทศอื่นได้อีก ก็จะประมูลกันแพง แต่ในบางประทศที่เจริญก้าวหน้า และต้องการให้มีเกิดการแข่งขันหลังจากให้ความถี่ไปแล้วสูง อย่างเช่นกรณีประเทศญี่ปุ่น ก็จะให้ความถี่ฟรี ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องประมูล ให้เลย
ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศที่ซื้อผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ เราซื้อเขามา ถ้าเราประมูลแพงๆ กำลังเงินที่เหลือ จะไปซื้อต่างประเทศก็ไม่มี การแข่งขันทางด้านการให้บริการก็น้อยลง เพราะฉะนั้นหลายคนพยายามไปจับของยุโรป ที่มีการประมูลกันแพงๆ มา แต่ผมมองว่า เขาไม่เข้าใจว่าที่มีการประมูลแพง เพราะประมูลได้แล้ว เขาสามารถใช้ไปประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย ยุโรปมันติดกันหมด เขาก็เลยต้องทุ่ม เพราะถ้าเขาได้ตรงนี้สามารถใช้ได้ไป 3-4 ประเทศ ลูกค้านั่งรถไฟไปอีกประเทศก็ใช้บริการของเขาได้อยู่ อย่างนี้เป็นต้น
...คือ มันไม่เหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ผมก็ไม่ค่อยอยากพูดเท่าไหร่ เพราะคนที่ว่าถูก ก็พยายามเอาที่แพงๆ มาเป็นตัวอย่าง ส่วนคนที่ว่าแพง ก็พยายามเอาถูกๆ มาเป็นตัวอย่าง ญี่ปุ่นอยู่ในโซนเอเชียเหมือนกันครับ เป็นที่ประเทศเจริญแล้ว แต่ทำไมไม่เห็นยกมาเป็นตัวอย่างเลย
@ สุดท้ายในภาคประชาชนขณะนี้ หลายคนก็กลัวว่าค่าบริการจะแพงขึ้น?
อืม...ค่าบริการจะแพงได้มีปัจจัยอยู่ 2-3 ประเด็นคือ 1.ต้นทุน ซึ่งการประมูลก็ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง ถ้าเงินที่ต้องใช้ประมูลสูง ต้นทุนก็สูง เขาก็ต้องคิดบริการแพง ไม่มีบริษัทที่ไหนในโลกจะไม่เอากำไร
2.มีฮั้วการให้บริการได้ นั่นคือ มีผู้ให้บริการน้อยราย แต่ถ้าเกิดมีผู้ให้บริการหลายๆ เจ้า เช่นว่า 3 เจ้า และแต่ละเจ้ามีต้นทุนเท่ากัน แข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เขาก็จะต้องพยายามลดราคาจนต่ำเพดานให้ได้ เพื่อที่จะดึงลูกค้าให้ของตนมากกว่าอีก 2 เจ้า ซึ่งการแข่งขันแบบนี้ จะทำให้เกิดราคาต้นทุนที่น้อยลง