'วีระศักดิ์' ชี้สังคมไทยหลอกตัวเอง 'เป็นประเทศเกษตรกรรม'
'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' ชี้หมดยุคไทย'ประเทศเกษตรกรรม' เหตุอุตสาหกรรมแซงหน้า-เกษตรกรรายย่อยล้ม สวนทางครัวโลก-มั่นคงอาหาร แนะรัฐใส่ใจนโยบายที่ดิน-ทรัพยากร-ลดใช้พลังงาน
วันที่ 18 ต.ค. 55 ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ในประเด็นกระแสโลกปัจจุบันด้านความมั่นคงทางอาหารที่มีผลต่อประเทศไทยว่า ปัจจุบันนี้ความเข้าใจว่าไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมาสังคมเกษตรกรรมไทยลดขนาดลงมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ย้ายเข้าสู่ภาคการจ้างงานและอุตสาหกรรม ทำให้ทุกวันนี้ประเทศมีเกษตรกรตัวจริงเหลือน้อยกว่า 10 ล้านคน และกลายเป็นสังคมเกษตรอุตสาหกรรม ที่ค่อยๆทิ้งรากฐานทางเกษตรและก้าวไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยขณะนี้อุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศ คือ การผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ยอมรับหรือยอมรับแบบไม่เต็มใจ
“เรามองว่าตัวเองเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ แต่ไม่รู้ว่าเป็นได้มากแค่ไหน ทุกวันนี้มีแต่โรงงานอุตสาหกรรม ทุกคนอยู่ในภาคการจ้างงาน ไม่เห็นใครไปทำเกษตร จึงไม่รู้จะเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศอะไร เกษตรกรรมก็ไม่ใช่” ดร.วีระศักดิ์กล่าว
ทั้งนี้การที่รัฐบาลประกาศว่าไทยจะเป็นครัวโลกย่อมหมายถึงการที่รัฐต้องส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในการผลิตภาคเกษตร ทั้งการผลิตพื้นฐานและแปรรูปมากขึ้น อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือเกษตรกรรายย่อยไม่มีกำลังในการส่งสินค้าไปยังโลกภายนอก และต้องต่อสู้กับการกดขี่ของพ่อค้าคนกลางในประเทศ รวมทั้งขาดแรงงาน-เครื่องจักรกลในภาคผลิตด้วย ขณะที่เกษตรแปลงใหญ่หรือบริษัททุนสินค้าเกษตรมีความได้เปรียบทุกด้าน โดยเฉพาะการจับคู่สัญญาค้าขายสินค้าเกษตร(Contact Farmimg)กับเกษตรกรรายย่อยซึ่งราคาและมาตรฐานสินค้าเกษตรทุกอย่างถูกกำหนดโดยบริษัทผู้รับซื้อ โดยที่เกษตรกรรายย่อยไม่อาจต่อรองได้ ทั้งนี้มองว่าภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวเกษตรกรควรปรับตัวโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ตนเข้มแข็งได้เสียก่อน
นอกจากนี้กระแสโลกด้านความมั่นคงทางอาหารมาพร้อมกับความมั่นคงด้านพลังงานซึ่งมักจะสวนทางกัน โดยรัฐต้องพยายามถ่วงดุลทั้งนโยบายทั้งสองนี้ เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการประหยัดพลังงานที่ชัดเจน ดังนั้นแม้ว่าไทยจะมีรายได้จากการกลายเป็นครัวของโลกเพิ่มขึ้น แต่มีแนวโน้มบริโภคพลังงานจากการผลิตอาหารมากขึ้นมหาศาล จึงต้องตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า
ทั้งนี้ภายใต้กระแสโลกดังกล่าว รัฐบาลไทยควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านทรัพยากร ที่ดิน และที่อยู่อาศัยให้มากขึ้น กล่าวคือ นโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติควรได้รับการเอาใจใส่ เช่น การผังเมือง โฉนดชุมชน เพื่อให้ประชาชนที่ไม่สามารถกลับไปอยู่ในภาคการเกษตรได้ไม่กลายเป็นส่วนเกินของเมือง และหากประชาชนมีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยการรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนก็จะตามมามากขึ้น นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญกับนโยบายที่ดินในต่างจังหวัด เช่น ปัญหาเกษตรกรรายย่อยหลุดจากการถือครองที่ดิน รวมทั้งผู้ที่เป็นคดีความกับรัฐในการบุกรุกที่ป่า-ที่ราชการ รวมทั้งนโยบายด้านทรัพยากร เช่น การทำเหมืองแร่ ซึ่งมีความไม่เป็นธรรมในการจ่ายค่าชดเชยที่ให้กับท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบ เป็นต้น
เมื่อถามถึงกระแสการใช้นโยบายประชานิยมที่มีมากขึ้นในหลายประเทศ ดร.วีระศักดิ์ ให้ความเห็นว่า เนื่องจากปัจจุบันอำนาจรัฐส่วนกลางมีแนวโน้มลดลงและกระจายไปสู่ท้องถิ่นมากขึ้น ทำให้รัฐส่วนกลางต้องเอาใจฐานเสียงของตนด้วยการใช้นโยบายประชานิยมมากขึ้น ซึ่งไม่เกิดผลดีต่อการบริหารประเทศ อย่างไรก็ดีเชื่อว่าภาคสังคม เช่น สื่อ กลุ่มเอ็นจีโอ องค์กรขับเคลื่อนทางสังคม บรรษัทข้ามชาติ ฯลฯ จะเป็นผู้กำกับการใช้ประชานิยมของรัฐให้เป็นไปในแนวทางที่เหมาะสมได้
ที่มาภาพ ::: http://bit.ly/S70PDu