แลกข้าวกับจัดการน้ำ ทำได้ “ชัชชาติ” ยันไม่มีผลตอนคัดเลือกโครงการ
"ชัชชาติ" แจงใช้ Design-Build ออกแบบระบบจัดการน้ำได้เร็ว คุ้มค่า เลือกราคา-คุณภาพได้ ไขปมกระแสข่าวแลกข้าวหรือยางกับค่าก่อสร้างโครงการน้ำทำได้
วันที่ 18 ตุลาคม สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดเสวนาเรื่อง "ต้านทุจริตประมูลโครงการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท" ณ หอประชุมอาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม ชั้น 3 กระทรวงคมนาคม โดยมี นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในฐานะรองประธานและโฆษกคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวความคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล เลขาธิการสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค ประธานกลุ่มวิศวกรเพื่อชาติ และรองศาสตราจารย์ด้านวิธีการบริหารงานก่อสร้าง และนางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร กรรมการภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น
นายชัชชาติ กล่าวในเบื้องต้นโดยยกกรณีพายุเฮอริเคนถล่มเมืองนิวออลีนส์ รัฐหลุยส์เซียนา สหรัฐอเมริกา ที่รัฐสภาลงมติอนุมัติงบประมาณพิเศษสูงสุดให้ฝ่ายทหารนำมาพัฒนาระบบป้องกันน้ำท่วม โดยทำคันกั้นน้ำ กำแพงกันน้ำ ประตูน้ำและระบบสูบน้ำใหญ่ ใช้ระบบ Design-Build ออกแบบก่อสร้างภายใต้สัญญาเดียว ทำให้ก่อสร้างเสร็จเร็วกว่าเวลาปกติ และเจ้าของงานสามารถคัดเลือกคุณค่า เป้าหมายด้านเวลา ราคาและคุณภาพได้ และทำให้การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้กระชับ รัดกุมขึ้น มาเป็นหลักแนวคิดในการบริหารจัดการของประเทศไทย โดยเน้นที่คุณภาพของโครงการ ไม่ได้เน้นเฉพาะโครงการที่เสนอมาในราคาต่ำที่สุดเท่านั้น
"Design-Build จะย่นระยะเวลา และลดความเสี่ยงได้มาก การลงทุน 3.5 แสนล้านบาท นับว่าคุ้มค่า หากเทียบกับที่ต้องสูญเสียไปจากมหาอุทกภัย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการลงทุนพัฒนาทรัพยากรน้ำน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับโครงสร้างพื้นฐานด้านถนน โครงการนี้จะครอบคลุมทั้งน้ำแล้งและน้ำท่วม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาภาคเกษตรไทยมีผลผลิตต่อไร่ต่ำ รวมทั้งเพิ่มจีดีพีและผลผลิตของประเทศได้"
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต่างประเทศไม่ชอบในประเทศไทย คือ ความไม่มั่นคงทางการเมือง การคอร์รัปชั่น ความไม่ต่อเนื่องทางนโยบาย รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพและแรงงานไม่มีความรู้ เห็นด้วยว่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องปรับต่อไป โดยเฉพาะการคอร์รัปชั่น การคัดเลือกโครงการต่างๆ ต้องมีการวัดคุณประโยชน์ ที่ต้องพิจารณาโดยคน แต่สำหรับระบบราชการไทย กลายเป็นไม่เชื่อมั่นในตัวคนมาตลอด กลัวจะมีการเอื้อประโยชน์ แล้วแก้ปัญหาโดยการลดต้นทุน แต่อยากได้ประโยชน์เท่าเดิม คงไม่ได้ เพราะนั่นเป็นการล็อคสเป็คคุณประโยชน์ เท่ากับว่าล็อคบริษัทไปโดยปริยาย ทั้งที่บางครั้งราคาต่ำสุด อาจไม่ได้สิ่งที่มีคุณค่าสูงสุดก็ได้
"ยืนยันว่าการเลือกบุคลากรมาคัดเลือกโครงการมีคุณภาพ เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รู้ภาพรวมประเทศและเทคโนโลยีสมัยใหม่ และไม่ใช่กลุ่มผู้มีผลประโยชน์ หากสิ้นศรัทธาในคนหรือบุคลากรไทยเลยคงไม่ได้ เชื่อว่ายังมีคนดีคนเก่งอีกมาก ทั้งนี้ ยอมรับว่ายังมีปัญหาในการจัดการระบบข้อมูล ตกหล่นในการสื่อสารและเผยแพร่เอกสารอยู่บ้าง ในส่วนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม บริษัทที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นผู้ไปทำ และหากทำไม่ผ่านโครงการและงบของส่วนนั้นจะต้องตัดทิ้ง"
นายชัชชาติ กล่าวถึงข้อซักถามในกรณีกระแสข่าวที่ว่าจะมีการแลกเปลี่ยนข้าวกับโครงการบริหารจัดการน้ำว่า เป็นคนละเรื่องกัน จุดยืนของแต่ละโครงการต้องมี เท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่มีใครสั่งและยังไม่มีข้อมูล แต่ในทางหลักการแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการคัดเลือกรอบแนวคิด และได้กลุ่มบริษัทที่เหมาะสมที่สุดและมีความเชี่ยวชาญที่สุดมาทำสัญญาแล้ว ก็สามารถที่จะเจรจาตกลงในการแลกเปลี่ยนกับการก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำกับประเทศดังกล่าวได้
ขณะที่นายสุพจน์ กล่าวถึงความคืบหน้าการคัดเลือกบริษัทเข้ามาบริหารจัดการน้ำว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนรอให้ 8 กลุ่มบริษัทที่ผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติมายื่นเอกสารกรอบแนวคิด โดยมีกำหนดในวันที่ 23 พ.ย. 2555 และจะประกาศผลคัดเลือกครั้งสุดท้ายในวันที่ 16 เม.ย. 2556 จากนั้นสำนักงบประมาณฯ จะทำเรื่องเพื่อขอกู้เงินให้ทันกำหนด 30 มิ.ย. 2556 โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นหน่วยงานเจ้าของโครงการ ส่วนที่มีข้อกังวลว่าแต่ละบริษัทจะเสนอโครงการมาใกล้เคียงกับงบประมาณที่ตั้งไว้แต่จะไม่สอดคล้องกับคุณภาพงานนั้น เห็นว่าไม่น่าห่วง เพราะกรอบการคัดเลือกมีเกณฑ์เรื่องกรอบวงเงินที่เทียบกับความสามารถและความเป็นไปได้คลุมอยู่แล้ว
สำหรับกรณีกระแสข่าวแลกเปลี่ยนข้าวกับโครงการบริหารจัดการน้ำนั้น นายสุพจน์ กล่าวว่า ยังไม่เกิดขึ้น แต่อาจมีการระบุเป็นเอกสารชี้แจงเพิ่มเติมประกอบกับทีโออาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทที่ชนะการคัดเลือก ที่ผ่านการพิจารณาทั้งคุณสมบัติและกรอบแนวความคิดแล้ว ว่า ในทางหลักการสามารถมีการตกลงแลกเปลี่ยนค่าใช้จ่ายในโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำกับข้าวหรือยางพาราได้ ในลักษณะแลกเปลี่ยนสินค้า (Barter) กัน โดยอาจแลกข้าว 30% แล้วจ่ายเป็นเงิน 70% เป็นต้น
"ยืนยันว่าจะไม่มีผลต่อการให้คะแนนคัดเลือกกลุ่มบริษัทอย่างแน่นอน หากมีกระบวนการตกลงดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะเกิดขึ้นภายหลังที่เสร็จสิ้นกระบวนคัดเลือกกรอบแนวความคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยแล้วเท่านั้น"
ด้านรศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า ภาพรวมของโครงการดังกล่าวมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีหลักการมากขึ้น แต่ต้องเพิ่มความโปร่งใสโดยการเปิดเผยข้อมูลและความคืบหน้าของโครงการแก่สาธารณะ เนื่องจากตั้งแต่เริ่มโครงการมา ไม่มีเอกสารหรือข้อมูลเผยแพร่ ต้องไปตามฟังจากการชี้แจงของรัฐมนตรีตลอด เหมือนสมัยโบราณที่ไม่มีกระดาษ ดินสอ ต้องฟังการบรรยายอย่างเดียว ทั้งนี้ แม้ในหลักการมีระเบียบต่างๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น ยิ่งโดยเฉพาะโครงการใหญ่ใช้เงินกู้จำนวนมาก ยิ่งต้องมีกฎเกณฑ์มากกว่าปกติ เน้นความโปร่งใส
"การคัดเลือกกรอบแนวคิดต้องมีกฎเกณฑ์มาก และเป็นกฎเกณฑ์ที่เปิดเผย ทั้งหน้าตาและความคิด เน้นคุณค่า ไม่ใช่พิจารณาจากคนนำเสนอเก่ง อย่างไรก็ตาม มองว่าวิธีการกำหนดงบประมาณที่จู่ๆ ก็ตั้งไว้ 3.5 แสนล้านบาทคงไม่ถูกต้อง และสำนักงบประมาณคงไม่สบายใจเท่าใดนัก"
ขณะที่นางกอบกาญจน์ กล่าวว่า ในแง่แนวคิดของรัฐบาลต่อการบริหารจัดการน้ำดีขึ้นแล้ว แต่แนวคิดดีอย่างเดียวไม่พอ ที่น่าจับตามองต่อไป คือ ทำอย่างไรให้การก่อสร้างเป็นไปได้อย่างแนวคิด จะมีวิธีการติดตามงานอย่างไร โดยเฉพาะโครงการใหญ่ปัญหายิ่งมาก เห็นว่าควรมีผู้เชี่ยวชาญภาคประชาชนและภาคธุรกิจเข้ามาร่วม เพิ่มศูนย์ข้อมูลจากส่วนในหลายภาษา เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติได้ติดตามการบริหารจัดการน้ำอย่างใกล้ชิด
"การก่อสร้างควรเป็นไปโดยเร็วที่สุดและควรมีการทดสอบระบบให้ประชาชนได้เห็น รวมทั้งสร้างความมั่นใจเรื่องการบำรุงรักษา เพื่อความยั่งยืน และหากสิ่งที่ทำเกิดผลดีได้จริง งบประมาณที่ลงทุนไปก็คงไม่แพงนัก"