2 กูรูมองทุกวิกฤต ศก.โลกเกิดจากก่อหนี้เกินตัว
อานิสงค์วิกฤตเศรษฐกิจโลก เงินไหลเข้าเอเชีย หวั่นคนไทยมือเติบ สร้างหนี้เกินตัว
หมายเหตุ-วันที่ 15 ตุลาคม สมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (สวปอ.) ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานเสวนา “เศรษฐกิจไทยยุคการเปลี่ยนแปลง เพื่อเผชิญกับความท้าทาย” ที่ ห้องบรรยายรวม วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมสถาบัน กรรมการบริษัทไทย (IOD) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันว่า จากข้อมูลล่าสุดของ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก และธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) 3 หน่วยงานหลักซึ่งทำหน้าที่ประเมินภาวะเศรษฐกิจโลก เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พบว่ามีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันคือ เศรษฐกิจโลกจะทรุดตัวลง ชะลอตัวลงกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้เดิม อัตราการเปลี่ยนแปลงปรับลดลงจากช่วงต้นปี และที่สำคัญเกิดขึ้นพร้อมๆ กันทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประเทศด้อยพัฒนา หรือประเทศตลาดเกิดใหม่ อัตราการเติบโตปีนี้ปรับลดลงถ้วนหน้าเช่นกัน
“เฉพาะตัวเศรษฐกิจโลกเอง ปีนี้มองว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2%-3% ยุโรปถดถอย ถึงขั้นติดลบแน่นอน ตรงนี้เห็นพ้องต้องกันหมด ขณะที่สหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งต่ำมาก ที่สำคัญคือจีน พระเอกที่เคยอุ้มเศรษฐกิจโลกในช่วง 3-4 ปีก่อน คาดว่าปีนี้จะเหลือประมาณ 7% ญี่ปุ่นเหลือ 2% อินเดียเหลือ 6% ส่วนไทยเหลือประมาณ 4%-5% เพราฉะนั้น เศรษฐกิจโลกเข้าสู่โมเมนตัมการชะลอตัวอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเหตุผลหลักก็มาจากปัญหาในยุโรปที่มีผลกระทบต่อเนื่อง และที่สำคัญวิธีการแก้ไขที่ผ่านมา นั่นคือ การรัดเข็มขัดด้านการคลังได้กลายเป็นวิธีการที่ซ้ำเติม และทำให้เศรษฐกิจโลกในขณะนี้ขยายตัวลดลง”
ส่วนสภาวการณ์เช่นนี้จะเกิดขึ้นนานขนาดไหน และจะมีเริ่มดีขึ้นในช่วงใด ดร.บัณฑิต กล่าวว่า ตามความเข้าใจของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ขณะนี้มองว่า การชะลอตัวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปีนี้ และจะเริ่มปรับขึ้นในปีหน้า ยุโรปจะสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ ขณะที่สหรัฐอเมริกา จีนก็คาดว่าน่าจะดีขึ้นเช่นกัน
“แต่ผมคิดว่า หากไปเปิดไส้ในดู สถานการณ์ที่มีการประเมินกันว่าจะดีขึ้นในปีหน้านั้น มันเป็นการประเมินบนเงื่อนไข มีเงื่อนไขเต็มไปหมด ประการแรกคือ จีนจะต้องออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ประการที่สอง สหรัฐอเมริกาจะต้องแก้ไขปัญหาการคลังที่มีอยู่ให้ได้ (Fiscal Cliff) และประการสุดท้ายคือ การแก้ปัญหายุโรป ต้องมีทางออก ฉะนั้น เศรษฐกิจจะปรับตัวได้ดีขึ้นขนาดไหน ขึ้นอยู่กับการทำนโยบายที่จริงจังและถูกต้องของทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว”
ดร.บัณฑิต กล่าวต่อว่า ในทางกลับกัน หากนโยบายไม่มี หรือล่าช้าออกไป ก็จะเป็นความเสี่ยงซ้ำเต็มให้การชะลอตัวต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าได้ หรืออาจจะมีเรื่องความถดถอยเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ คงต้องติดตามต่อไป เพราะขณะนี้จีนกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สหรัฐอเมริกากำลังอยู่ในช่วงเลือกตั้งประธานาธิบดี ส่วนยุโรปนั้นการตัดสินใจแก้ปัญหา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของเจ้าของประเทศ กรีซ สเปน อยากทำอะไรก็ทำได้ แต่ต้องเป็นการแก้ปัญหาภายใต้บริบทของสหภาพยุโรป 17 ประเทศ ทำให้การขับเคลื่อน นโยบายยากขึ้น มีข้อจำกัดมากขึ้น เพราะแต่ละประเทศก็มองเงื่อนไขของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ
เพราะฉะนั้น โดยสรุปภาพที่ผมมองขณะนี้คือ เศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงของการชะลอตัว ขยายตัวต่ำไปอีกระยะหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า นโยบายอัดฉีดเงินคงต้องทำต่อ เพื่อประคับประคอง สถานการณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำที่คงจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่มีความเป็นห่วง และเห็นว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือเรื่องของปัญหายุโรป ตั้งแต่มีการปะทุขึ้นที่กรีซ จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 4 ปีกว่าแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ต่างจากที่เมื่อครั้งเอเชียเกิดวิกฤต เมื่อปี 1998 พบว่าในปี 2002 ก็เริ่มฟื้นได้แล้ว ซึ่งถ้าดูในแง่ทางเลือกทางนโยบาย แนวโน้มกลุ่มยูโรมีความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาภายใต้บริบทการรักษาระบบเงินยูโรเอาไว้ แต่ตลาดมีความเชื่อว่า ถ้าใช้แนวทางนี้ต้องเคลื่อนตัวไปสู่อีกออพชั่นหนึ่ง นั่นก็คือ ไม่ใช่แค่รักษา แต่ต้องทำให้การรวมกลุ่มทางด้านการเงินการคลังมีความเข้มแข็งมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้คงเป็นเรื่องระยะยาว
แต่ที่ต้องมีการแก้ไขในช่วง 1-2 เดือนนี้คือเรื่องกรีซ สเปน ซึ่งขณะนี้กรีซเข้าสู่ความช่วยเหลือของไอเอ็มเอฟแล้ว และอยู่ในช่วงประเมินรับเงินกู้ช่วงต่อไป ส่วนสเปน หลายคนมองว่าทางที่ดีที่สุดคือเข้าโปรแกรมไอเอ็มเอฟ แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเลือกทางไหน โดยเฉพาะเมื่อความไม่ชัดเจนดังกล่าว เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองต้องตัดสินใจ ทำให้ตลาดการเงินรอดูว่าจะมีความจริงจังขนาดไหน อย่างไร
ส่วนผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียและประเทศไทยนั้น มี 2 บริบทด้วยกันคือ บริบทที่ 1 ในระยะยาว เมื่อเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ประเทศแถบเอเชียที่ใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะต้องหันมาใช้เครื่องยนต์อื่นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นั่นคือ ต้องกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศให้มากขึ้น ทั้งในส่วนของภาคเอกชน ประชาชน ครัวเรือน ภาครัฐ ซึ่งหมายความว่า ถ้าภาครัฐไม่มีรายได้มาใช้จ่ายก็ต้องกู้ เพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจ และเป็นการสร้างหนี้ เช่นเดียวกันในภาคเอกชน ครัวเรือนถ้าไม่มีรายได้ ก็ต้องกู้ เป็นหนี้เช่นกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้จึงเห็นได้ว่า การเติบโตภายในประเทศอาศัยการกู้ยืมเป็นหลัก
คำถามคือ เราจะประมาณตนไม่กู้มาก แล้วเกิดปัญหาหนี้ตามมาได้หรือไม่ เพราะทุกวิกฤตเกิดขึ้นจากการก่อหนี้เกินความสามารถที่จะชำระคืน
บริบทที่ 2 ตัวผลักจากต่างประเทศ ถ้าเศรษฐกิจโลกเติบโตในเกินต่ำ เอเชียคงจะขยายตัวได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังสูงกว่า ไม่เป็นศูนย์ เชื่อว่าจะทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลเข้ามาจำนวนมาก เห็นได้จากสถานการณ์ขณะนี้ หุ้นขึ้น ตลาดพันธบัตรขึ้น ค่าเงินบาทแข็ง ซึ่งตรงนี้พอจะทำให้นึกถึงสมัยก่อน ที่เงินไหลเข้ามากๆ และเราใช้ไม่เป็น ก่อให้เกิดปัญหาการสร้างหนี้ ปัญหาฟองสบู่
ดังนั้น โจทย์ที่สำคัญคือเราจะบริหารกิจการ โอกาส ความเสี่ยงจากภาคระยะสั้น เงินทุนไหลเข้า และภาคระยะยาว ลดพึ่งพาการส่งออกใช้จ่ายในประเทศได้อย่างไร ที่จะทำให้ประเทศเติบโตได้อย่างปลอดภัย ไม่มีปัญหาเรื่องความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ หรือมีวิกฤตเศรษฐกิจ นี่คือโจทย์ที่เราต้องเจอในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าแน่นอน
ดอกเบี้ยทั่วทั้งโลกต่ำ เกิดผลบวกระยะสั้น
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ (สายงายวิจัย) บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลง หลังจากที่พบแล้วว่า ภาพใหญ่ของประเทศที่พัฒนา มีหนี้สาธารณะสูงมาก จนกระทั่งอาจพูดได้ว่า นโยบายการคลังศักยภาพไม่เหลือ พิการไปแล้วว่า ประเทศหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป อเมริกา จึงต้องหันมาพึ่งนโยบายการเงินแทน โดยการที่แบงค์ชาติทั่วโลกกดดอกเบี้ยเหลือศูนย์และพิมพ์เงินออกมาจำนวนมากๆ ซึ่งในกรอบนี้ ผมมองว่าการที่ดอกเบี้ยต่ำทั่วทั้งโลกนั้น เป็นสิ่งที่ดีในระยะสั้นต่อประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อมีการคาดการณ์ว่าจะมีการกดดอกเบี้ยต่อไปอีก 2 ปีครึ่งเป็นอย่างน้อย
อย่างไรก็ตาม การที่ดอกเบี้ยต่ำนาน ดร. ศุภวุฒิ มองว่า จะมีผลกระทบต่อประเทศไทย คือ
1.ทุกครั้งที่ดอกเบี้ยต่ำ จะเป็นตัวกระตุ้นให้สินทรัพย์ทุกอย่างสูงขึ้น ยิ่งดอกเบี้ยต่ำนานๆ เชื่อว่าคนจะยิ่งเก็งกำไร ซึ่งในประเทศก็เริ่มเห็นภาพนี้แล้ว เช่น การบูมของราคาที่ดินในกรุงเทพ หัวหิน เขาใหญ่ เปิดซื้อขายชั่วโมงเดียวโครงการหมดเกลี่ย ขณะเดียวกันพบว่า ดอกเบี้ยต่ำจะกระจายไปได้มากกว่าแต่ก่อน ประชาชนที่มีรายได้ประมาณ 7,000-8,000 บาท จะสามารถกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ เพราะสถาบันการเงินใช้ประโยชน์ตรงนี้ในการแข่งขันกัน
“2. การที่ราคาขายยางพารา รับซื้อข้าวในราคาสูง ดันให้ราคาที่ดินปรับเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้คนร่ำรวย รู้สึกร่ำรวยขึ้น ซึ่งตรงนี้จะกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในภาคต่างชนบท
และ 3.การลงทุนภาครัฐบาล โดยเฉพาะภาคโทรคมนาคม รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ในรัฐบาลปัจจุบันมีความเป็นไปได้สูงว่า โครงการจะเกิดขึ้นจริง เนื่องจากจะมีการออกกฎหมายเอาเรื่องเข้ารัฐสภา อนุมัติงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท สร้างถนน สร้างรางรถไฟ ทำให้มีการเก็งกำไรขึ้น”
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีกิจกรรมที่ขยายตัวมากขึ้น ทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานครและในทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งนับเป็นภาพบวกในระยะสั้น เป็นภาพที่คนไทยเริ่มสร้างหนี้ แต่ทั้งนี้ คงต้องระมัดระวัง เพราะทุกวิกฤตเศรษฐกิจเกิดจากการมีหนี้มากเกินไป จนไม่สามารถใช้หนี้ได้