กสทช.แจง 2 พ.ย.ฟรีทีวี - วิทยุ ส่งแผนรายงานข่าวยามเกิดภัยพิบัติ
ฟรีทีวี-ทรูวิชั่นส์-วิทยุต้องส่งแผนฯภายใน 30 วัน แผนฯต้องชัดเจน-ปฏิบัติได้จริง ทุกสถานีต้องมีผู้ประสานงานระหว่างเกิดเหตุ-เน้นนำเสนอข้อมูลจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ป้องกันความสับสนตื่นตระหนก กสทช.ปัดแทรกแซงเสรีภาพการนำเสนอข่าว
ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกประกาศเรื่อง “หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน” ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบกิจการทุกรายต้องจัดทำ “แผนขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน” ส่งให้ กสทช. เพื่อทราบภายใน 30 วันหลังประกาศฯฉบับนี้มีผลบังคับใช้
วันที่ 17 ตุลาคม ที่โรงแรมพลูแมน คิง พาวเวอร์ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ในฐานะคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ และนายสมชาย ใบม่วง รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมกันชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจต่อประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินแก่ผู้ประกอบการโทรทัศน์และวิทยุ เพื่อให้ประชาชนได้รับข่าวสารที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือไม่ให้เกิดความตระหนกและสับสน โดยมีผู้ประกอบกิจการมาร่วมรับฟังคำชี้แจงทำความเข้าใจจำนวนมาก
น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการส่งแผน รายละเอียด และแนวทางปฏิบัติยามเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉินการแจ้งข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชน ภายใน 30 วัน นับจากร่างประกาศฯบังคับใช้ ดังนั้นภายในวันที่ 2 พฤศจิกายน กสทช.จะขอดูแผนดังกล่าว โดยประกาศฉบับนี้มีผลกับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการคือช่อง 3 5 7 9 11 ไทยพีบีเอส ทรูวิชั่นส์ และวิทยุเดิม 525 สถานีเท่านั้น ไม่รวมถึงเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชน ซึ่งกสทช.ไม่อยากใช้อำนาจลงโทษสื่อที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ อยากให้คิดถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนส่วนรวม เป็นหลัก
สำหรับลักษณะทั่วไปของประกาศฉบับนี้ได้แบ่งหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการให้มีความชัดเจน โดยกำหนดขั้นตอนหลัก ๆ เป็น 3 ระยะ คือ ระยะการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบกิจการก่อนเกิดเหตุ ระยะขณะเกิดเหตุ และระยะหลังเกิดเหตุอย่างชัดเจน โดยรายละเอียดแผนปฏิบัติการฯในระยะก่อนเกิดเหตุ เช่น กำหนดให้ผู้ประกอบการตั้งผู้ประสานงานหลักกับ กสทช. หรือในระยะหลังเกิดเหตุ ผู้ประกอบการต้องแจ้งข่าว “ยกเลิกสถานการณ์” อย่างทันท่วงที เป็นต้น
ทั้งนี้สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดแนวทางพื้นฐานที่ผู้ประกอบกิจการจะต้องมีบรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการฯ 10 ข้อ อาทิ มีการกำหนดชื่อ โทรศัพท์ โทรสาร email ที่อยู่ของผู้ประสานงานอย่างชัดเจน มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านการรับหรือแสวงหาข้อมูลหรือข้อเท็จจริง (เช่น แห่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และมีการจำแนกข้อมูลว่าเป็นการแจ้งเพื่อทราบ เฝ้าระวัง หรือเตือน) มีผู้รับผิดชอบในการควบคุมการออกอากาศที่ชัดเจนและแนวทางในการใช้ดุลยพินิจในการตัด/เชื่อม/เปลี่ยนแปลง สัญญาณการออกอากาศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม ผู้ประกอบกิจการบางส่วนมีความกังวลต่อประกาศฯข้อที่ 11 ที่กำหนดให้การรายงานข้อมูลในลักษณะการเตือนภัย ห้ามนำเสนอข้อมูลในลักษณะเป็นการแสดงความคิดเห็น เว้นแต่จะเป็นความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือนักวิชาการที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ อาจจะทำให้สื่อไม่กล้าสัมภาษณ์แหล่งข่าวเช่นชาวบ้าน หรือบุคคลส่วนอื่นเช่น วิศวกร
นายประเสริฐ อภิปุญญา รองเลขาธิการ กสทช. ได้ชี้แจงต่อประเด็นนี้ว่า เจตนารมณ์ของประกาศฯเน้นการห้ามนำเสนอสิ่งที่เป็นความเชื่อมากกว่า เช่น คำทำนายของโหร หรือความเชื่อบางอย่างของชาวบ้าน แต่ให้เน้นนำเสนอข้อเท็จจริงที่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ และย้ำว่าประกาศฯนี้ไม่ได้กำหนดลงไปถึงทิศทางหรือวิธีการนำเสนอข่าว อย่ากังวล สื่อยังคงมีสิทธิเสรีภาพในการทำงานเต็มที่
น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กล่าวว่า การทำงานของศูนย์เตือนภัยพิบัติจะประสานการทำงานกับกรมอุตุนิยมวิทยานำเสนอข้อมูลตามที่วิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์ให้แจ้งเตือนแก่ประชาชนในการระวังภัยแต่ละประเภทอย่างแม่นยำ
ทั้งนี้ น.ส.สุภิญญา ยอมรับว่า เหตุการณ์เมื่อ 11 เม.ย. 2555 ที่มีการเตือนภัยสึนามิในประเทศไทย หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว 8.6 ริกเตอร์ และอาฟเตอร์ช็อค บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีสถานีไทยพีบีเอสเพียงช่องเดียวที่ยกเลิกการถ่ายทอดสดในพระราชพิธีสำคัญเพื่อรายงานข่าวเตือนภัย เป็นที่มาที่ไปของการออกประกาศฯฉบับนี้
ที่มาภาพ : Reuters/Damir Sagolj http://www.theatlantic.com/infocus/2011/11/thailands-disastrous-slow-moving-flood/100188/