กบอ. แถลงเปลี่ยนบทบาทเผชิญภัยแล้ง เร่งเติมน้ำในอ่าง-ผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ
กบอ. เอาอยู่ น้ำท่วม วันนี้แถลงเปลี่ยนภารกิจทำงาน เผชิญภัยแล้ง เร่งปล่อยน้ำเข้าทุ่งทันที เพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรัง-ทำระบบน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคและบริโภค -ผันน้ำข้ามลุ่มน้ำที่ลึกกว่าปกติ ฯลฯ
วันที่ 17 ตุลาคม เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) พร้อมด้วย พลเรือตรี วิฑูรย์ ตัณฑิกุล รองเจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่องการเตรียมรับมือภัยแล้งปี 2555 สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ประธาน กบอ. ชี้แจงว่า สถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆ ว่า ระดับน้ำในแม่น้ำยังคงปกติแต่ปริมาณน้ำไม่ได้มีมากมาย ส่วนน้ำในภาคใต้และภาคตะวันออกมีปริมาณน้ำมาก ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีน้ำน้อกว่าปกติ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทาง กบอ.และทุกภาคส่วนร่วมกันบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเตรียมความพร้อมในการแก้ปัญหาภัยแล้ง เพื่อดูแลให้ประชาชนมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภคได้อย่างพอเพียง รวมทั้งมอบหมายให้ กบอ.ปรับเปลี่ยนภารกิจหรือเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาเป็นการเผชิญกับภัยแล้ง อีกทั้ง ให้ประสานทุกหน่วยงาน เพื่อเตรียมความพร้อมและดูแลแก้ไขในเรื่องของภัยแล้งด้วย
พร้อมกันนี้ ประธาน กบอ. กล่าวถึงการประชุม กบอ. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับนโยบายในเชิงยุทธศาสตร์โดยการใช้น้ำอย่างฉลาดหรือการใช้น้ำในเชิงอนุรักษ์ และการกระจายน้ำอย่างเสมอภาคและทั่วถึง โดยมีระดับความสำคัญสูงสุดอยู่ที่การอุปโภคบริโภค การทำเกษตร การทำเพื่ออุตสาหกรรม และเพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ พร้อมทั้งมีกลยุทธ์ที่จะดำเนินการโดยการจัดทำฝนเทียม ซึ่งขณะนี้ได้มีการดำเนินการอยู่แล้ว การปล่อยน้ำเข้าทุ่งทันที เพื่อให้เกษตรกรได้ทำนาปรังได้ทันที การทำระบบน้ำบาดาลเพื่ออุปโภคและบริโภค การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำที่ลึกกว่าปกติ โดยการผันจากแม่น้ำน่านไปแม่น้ำยม และแม่น้ำท่าจีน/แม่กลองไปแม่น้ำเจ้าพระยาให้ลึกที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเติมน้ำในอ่างขนาดเล็กและในบ่อไร่นา ซึ่งทำโดยกรมพัฒนาที่ดิน การสร้างระบบสูบน้ำและส่งทางท่อ โดยจะเน้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ละระบบจะส่งน้ำได้จากพื้นที่ประมาณ 2,000 – 3,000 ไร่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจในพื้นที่ และการส่งน้ำโดยระบบท่อส่ง โดยเป็นการส่งขึ้นที่สูงเติมน้ำในบ่อเล็กและในไร่นา
"กบอ. จะบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยประชาชนต้องไม่ขาดแคลนและมีการกระจายอย่างทั่วถึงและเสมอภาค เน้นการอุปโภคบริโภค รองลงมาคือการเกษตตร อุตสาหกรรมและการรักษาระบบนิเวศน์ ตามลำดับ โดยมีเป้าหมายพื้นที่ชลประทานต้องได้รับผลไม่น้อยกว่า 80% การทำนาปรังรอบแรกต้องปลอดภัย และพื้นที่เกษตรน้ำฝนบางส่วนเพาะปลูกได้ โดยเฉพาะพืชไร่"
นายปลอดประสพ กล่าวว่า การทำงานจะเป็นการบูรณาการภายใต้ระบบการปฏิบัติการ SINGLE COMMAND จะครอบคลุมทุกกระทรวง ทบวง กรม จะไม่มีการแบ่งการบริหารเป็นรายกระทรวงหรือรายกรม แต่จะเป็นการสั่งการข้ามระบบกระทรวง ทบวง กรมและระบบพื้นที่ โดยจะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม และกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป
นอกจากนี้ กบอ.ได้มีการเตรียมการจัดทำแผนการกักเก็บน้ำใหม่และเตรียมระบบท่อส่งน้ำสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กในระยะใกล้ ซึ่งจะครอบคลุมพื้นที่ระหว่าง 1,000 – 3,000 ไร่ อีกด้วย
ด้านรองเจ้ากรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวสถานการณ์กับน้ำทะเลหนุนสูงว่า ขณะนี้น้ำทะเลหนุนสูงกว่าเดิมร้อยละ 20 จากอิทธิพลของดวงดาว ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณหน้ากองบัญชาการกองทัพเรือ (บก.ทร.) สูงกว่าระดับทะเลปานกลาง 1.16 – 1.22 เมตร หากสูงสุดไม่น่าจะเกิน 1.77 – 1.78 เมตร ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่น่าเป็นห่วง ขอประชาชนอย่าตกใจ ระดับน้ำจะค่อย ๆ ลดลง และจะกลับมาหนุนสูงอีกครั้งในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ประมาณ 1.30 เมตร