ชำแหละการศึกษาชายแดนใต้...เสียงสะท้อนจากพื้นที่มีอะไรมากกว่าความล้มเหลว
"การศึกษาชายแดนใต้ล้มเหลว...ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาต่ำ...สอบวัดผลได้ระดับรั้งท้ายของประเทศ ฯลฯ" ประโยคเหล่านี้เข้าใจว่าผู้ที่ติดตามปัญหาชายแดนใต้ และแม้แต่คนในพื้นที่เองก็คงจะได้ยินได้ฟังกันอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อไม่นานมานี้ "ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา" ได้เผยแพร่งานสัมมนาที่นำเสนอผลวิจัยเรื่อง "บูรณาการอิสลามศึกษา รูปแบบการจัดการเรียนการสอนขั้นพื้นฐานของโรงเรียนรัฐบาลในประเทศมาเลเซียเปรียบเทียบกับประเทศไทย" ซึ่งจัดโดยสภาการศึกษาแห่งชาติ ผลวิจัยก็ตอกย้ำว่าเด็กมุสลิมชายแดนใต้ล้มเหลวทั้งด้านวิชาการและวิชาศาสนา เนื่องจากหลักสูตรไม่บูรณาการ รายวิชาแตกแยกย่อยมากมาย กลายเป็นการเรียนการสอนที่ใช้เวลาและอัดแน่นมากจนเด็กรับไม่ไหว
แต่ก็น่าแปลกที่ตลอดมามักไม่ค่อยมีพื้นที่หรือเวทีให้บุคคลในแวดวงการศึกษาจริงๆ ในพื้นที่ได้พูดถึงปัญหาและข้อจำกัดของการจัดการศึกษาของตนเอง ตลอดถึงเปิดโอกาสให้บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครองได้บอกเล่าถึงความคาดหวังที่มีต่อระบบการศึกษาชายแดนใต้ที่ลูกหลานของพวกเขาต้องฝากอนาคตเอาไว้
"ศูนย์ข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา" จึงทำหน้าที่สะท้อนมุมมองเหล่านี้ และก็ทำให้ได้รับรู้ว่า การจัดการศึกษาที่ชายแดนใต้นั้น มีอะไรลึกซึ้งมากกว่าแค่จะพูดว่า "ล้มเหลว" ซ้ำๆ กันอย่างที่เป็นอยู่
ผิดที่ต้นทาง
ฮาลูมา แมะตีเมาะ ผู้อำนวยการอัลฮุสนียะห์อิสลามวิทยา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ให้ความเห็นว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่หลายเสียงบอกว่าล้มเหลวนั้น ส่วนตัวมองว่าจริงๆ ไม่ได้ล้มเหลว แต่สาเหตุที่ผลวิจัยออกมาในลักษณะที่เป็นข่าว เป็นเพราะระบบและโครงสร้างการบริหารการศึกษามากกว่าที่ล้มเหลว ส่งผลให้ภาคปฏิบัติทำไม่ได้ตามนโยบาย ครูผู้สอนขาดการพัฒนาศักยภาพ ขณะที่ผู้บริหารก็อ่อนเกินไปและมุ่งเน้นในมิติทางธุรกิจ ส่วนเด็กๆ นั้นรับความรู้ที่ครูป้อนได้ทั้งหมด เพราะเด็กเปรียบเสมือนฟิตเราะห์ (ผู้สะอาด บริสุทธิ์)
"การจะโทษเด็กฝ่ายเดียวคงไม่ถูกนัก เพราะครูที่เก่งคือครูที่สอนได้ทั้งสองอย่าง ทั้งสายสามัญและศาสนา แต่ปัจจุบันนี้ครูได้สายสามัญด้านเดียว ความรู้มีจำกัด เป็นเครื่องมือให้เด็กไม่ได้ มุ่งสอนในด้านที่ตนถนัด ให้ความรู้ได้ไม่ตรงเป้า ขาดการบูรณาการการสอนร่วมระหว่างสามัญและอิสลามศึกษา ทั้งๆ ที่หลักสูตรเน้นให้สอนแบบบูรณาการ ทำให้เด็กสามจังหวัดมีขอบเขตจำกัดเรื่องความรู้ ก็จริงอย่างที่ผลวิจัยออกมา ไม่ปฏิเสธ แต่อยากให้ย้อนไปดูต้นเหตุด้วย สำหรับเราในฐานะผู้บริหารโรงเรียนก็ต้องพัฒนาบุคลากรของเราให้มากขึ้นกว่าเดิม"
อัดแต่วิชาการ...ทำลายเด็ก
ฮาลูมา ยังพูดถึงการศึกษาของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่เทียบกันแล้วอาจจะดีกว่าไทยว่า หลักสูตรของมาเลเซียมาจากต้นแบบ มาจากนโยบายระดับกระทรวง นโยบายเป็นอย่างไรก็นำมาปฏิบัติได้เช่นนั้น ขณะที่ไทยปฏิบัติกันคนละแบบ ครูเลือกที่จะสอนเยอะ สอนหนัก ทำให้นักเรียนพลอยเรียนหนักไปด้วย
"ระบบการศึกษาของมาเลเซีย เวลา 1 นาทีของเขามีค่ามาก เรียนครึ่งวันเด็กได้หมดทั้งการละหมาด ภาษาอังกฤษ อาหรับ กิจกรรมเลือกไม่มี ไม่ได้มาแบ่งเป็น 16 รายวิชาเหมือนบ้านเรา อย่าลืมว่าเด็กนั้นมีสมาธิรับสิ่งต่างๆ ได้เต็มที่แค่ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นรับไม่ได้แล้ว เราอย่าไปใส่เลย โรงเรียนที่อัดแน่นด้วยวิชาการเลิกเสียเถอะ เพราะไม่ช่วยอะไรเลย เราทำไปเพื่อจะให้เป็นจุดเด่น แต่กลับกลายเป็นการทำลายทั้งเด็กและครู"
"หากเราจะทำเหมือนมาเลเซีย คือเรียนครึ่งวันแล้วได้ครบหมด ก็ต้องพัฒนาครูเยอะมาก แต่ครูบ้านเราพอให้สอนแค่ครึ่งวันก็มักจะฉวยโอกาส เอาเวลาที่เหลือไปทำอย่างอื่น ขณะที่มาเลเซีย อีกครึ่งวันที่ว่างจากการสอน ครูจะศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติม เช่นเดียวกับแพทย์ที่จะค้นคว้าเกี่ยวกับโรคที่เขาเจาะลึกอยู่ ฉะนั้นเวลาครึ่งวันหากมาใช้ในบ้านเรา มองว่าจะส่งผลเสียมากกว่า และอีกสาเหตุหนึ่งที่การศึกษาในพื้นที่ยิ่งย่ำแย่คือครูผู้สอนไม่ชอบงานนี้ จึงทำแบบให้ผ่านไปวันๆ"
สร้างโรงเรียนนำร่อง
ฮูลามา บอกอีกว่า หากเปลี่ยนระบบการจัดการศึกษาให้ไปเหมือนกับมาเลเซียตามที่ผลวิจัยบอกว่าดี ส่วนตัวเห็นว่าในทางปฏิบัติจริงคงทำไม่ได้ เพราะระบบของบ้านเรายังคิดเชิงธุรกิจมากเกินไป ในฐานะเจ้าของโรงเรียนจะรับได้หรือไม่ที่ครูมาทำงานครึ่งวัน แต่เงินเดือนเกินหมื่น ขนาดรัฐมีนโยบายขึ้นเงินเดือนหมื่นห้ายังไม่พอใจ ฉะนั้นสิ่งแรกต้องเปิดใจให้กว้างถึงจะทำได้ มาช่วยกันคิดระบบให้ครอบคลุมก่อน และอย่าลืมว่ามาเลเซียพัฒนามากว่า 30 ปีแล้ว ขณะที่การศึกษาไทยค่อนข้างจะนิ่ง
"หากรัฐจะลองเลือกเอาโรงเรียนสักหนึ่งโรงมาพัฒนานำร่องคล้ายมาเลเซีย ระบบทุกอย่างคล้ายมาเลเซียหมด อย่างนี้เห็นด้วย เพราะทุกวันนี้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก ตีโจทย์ข้อสอบโอเน็ตไม่แตก (โอเน็ต หมายถึงแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O–NET; Ordinary National Educational Test) ปัญหานี้เด็กไม่ผิด แต่ขึ้นอยู่กับครูและบริบทของโรงเรียนว่าเอื้อกันหรือเปล่า บุคลากรมีประสิทธิภาพแค่ไหน ฉะนั้นทุกฝ่ายต้องมาทบทวนกันหลายๆ อย่างว่าจะทำให้โรงเรียน ครู และนักเรียนเป็นหนึ่งเดียวกันได้อย่างไร"
อย่าโทษแต่โรงเรียนเอกชนฯ
แวรอเมาะ เจ๊ะดาแม หัวหน้าฝ่ายวิชาการสามัญ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า หากจะดูในบริบทของผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ชายแดนใต้ ต้องเข้าใจว่ามีหลายปัจจัย บางครั้งผลสัมฤทธิ์ค่อนข้างดีเนื่องจาก 1.สถานที่ตั้งของโรงเรียน 2.ความพร้อมของบุคลากรและสื่อการสอน หากย้อนกลับไปดูบริบทที่เกิดความล้มเหลวก็เนื่องจากความพร้อมของบุคลากรของแต่ละโรงเรียนไม่เหมือนกัน ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่มีปัญหา
และเมื่อมองย้อนกลับไปที่ผลวิจัยซึ่งระบุว่าเด็กเรียนหนักเกินไปจนล้มเหลว แล้วเหมือนกับจะโทษโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา แวรอเมาะ บอกว่าปัญหาเกิดที่โรงเรียนสายสามัญด้วย
"จริงๆ แล้วบางครั้งโรงเรียนสายสามัญพยายามจะทำทุกอย่างให้เด็กเข้าสู่ระบบโรงเรียนสามัญมากขึ้น จึงนำหลักสูตรศาสนาเข้าไปใส่ ที่เราเรียกว่าหลักสูตรคู่ขนาน ถามว่าผลสัมฤทธิ์ระดับชาติเขาตกไหม ก็ตกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจะมองว่าพอเด็กมาเรียนศาสนาที่เป็นระบบเอกชน 16 วิชาทำให้ตก มันจึงใช้เป็นข้อสรุปไม่ได้ เพราะโรงเรียนในระบบสามัญที่ไม่ได้มีวิชาศาสนาเข้าไปผสม เด็กก็ตกเหมือนกัน"
"ถ้าดูสถิติในภาพรวมตอนนี้ มาเลเซียเข้ามาศึกษาดูงานโรงเรียนในแถบจังหวัดชายแดนภาคใต้มากเหมือนกัน มาเลเซียอาจจะยอดเยี่ยมในเรื่อง 3 ภาษา ยอดเยี่ยมในเชิงวิชาการ แต่ถามว่าในเชิงวิชาการศาสนา วัฒนธรรม หรือความเป็นอยู่ มาเลเซียยังสู้ที่นี่ไม่ได้ เขาจึงพยายามเข้ามาศึกษาตรงนี้ซึ่งเป็นจุดแข็งของเราว่าทำได้อย่างไร อย่างเช่น โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ ตอนนี้กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานของมาเลเซีย จุดนี้ทำให้เรามองว่าผลวิจัยอาจจะจริงแค่บางส่วน แต่มันก็ยังมีข้อขัดแย้งในตัวเองอยู่ และมองว่างานวิจัยอาจจะยังไม่ครอบคลุมนัก การสรุปว่าการศึกษาในพื้นที่ล้มเหลวทั้งหมดจึงไม่ถูกต้อง"
บูรณาการแต่ไม่ลึก
หัวหน้าฝ่ายวิชาการสามัญ โรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ กล่าวอีกว่า หากจะหันไปใช้การสอนแบบบูรณาการตามที่ผลวิจัยเห็นว่าดี (เหมือนของมาเลเซีย) ส่วนตัวก็มองว่าดี ประหยัดเวลา ประหยัดบุคลากร คือใช้วิธีเชื่อมวิชานี้ไปสู่วิชานั้น โยงกันทุกเรื่อง ทำให้เด็กได้เห็นภาพ แต่ถามว่าเด็กจะไปเจาะลึกในสาระเรื่องนั้นๆ หรือไม่ คำตอบคือไม่
"การสอนแบบบูรณาการ โรงเรียนเราก็เคยทำ หลายโรงเรียนในพื้นที่ก็ทำกัน แต่ ณ ตอนนี้ทุกคนอยากได้การสอนในลักษณะแยกรายวิชามากกว่า ให้ชัดเจนไปเลยว่าถ้าเป็นหลักสูตรศาสนาก็ให้เป็นหลักสูตรศาสนาอย่างเข้ม หลักสูตรสามัญก็อีกแบบหนึ่ง"
"แต่การจัดระบบการศึกษาคล้ายมาเลเซียในบางแง่มุม ถ้าหากนำมาประยุกต์ใช้ในบ้านเราได้ก็ถือเป็นเรื่องดี เช่น ของมาเลเซียนั้นคนที่จะเป็นครูได้ไม่ใช่ว่าจบครูแล้วมาเป็น แต่ต้องผ่านการคัดกรองมาอย่างดี ครูคนหนึ่งเก่งเทียบเท่าหมอ ขณะที่ของเราคือใครก็ได้ที่สนใจอยากเป็นครู แล้วขณะที่การเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เข้มข้น บวกกับอัตราการบรรจุครูในพื้นที่ตลอดช่วงหลายปีมานี้เข้ามาเยอะมาก ทำให้ความเข้มแข็งในเชิงองค์ความรู้ที่จะป้อนให้เด็กลดลงไปจากช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เมื่อเป็นอย่างนี้ภาระก็จะไปตกหนักที่นักเรียน บวกกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ทำให้โรงเรียนต้องปิดบ่อย ขวัญกำลังใจของครูและนักเรียนก็ลดน้อยลง ทุกอย่างส่งผลถึงกันหมด"
"ในมุมมองของเราคิดว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่ได้เกี่ยวกับเด็กเรียนหนักหรือเรียนมากถึง 16 สาระวิชา แต่เป็นเรื่องของเทคนิคการสอนมากกว่าที่ถือเป็นจุดล้มเหลวอย่างร้ายแรง เด็กทำข้อสอบนอกเหนือจากแนวที่ครูสอนไม่ได้เลย เพราะเด็กถูกเน้นให้ท่องจำ ไม่ได้เน้นการคิดวิเคราะห์ ให้คิดเป็น ทำเป็น ซึ่งเมื่อเด็กไปเจอข้อสอบที่หลากหลาย เด็กจะตีโจทย์ไม่แตก"
"เนื้อหาในหนังสือเป็นแค่ตัวอย่าง แต่เป้าหมายที่ถูกต้องคือเด็กต้องสามารถคิด วิเคราะห์ และตีความได้ ถ้าครูเน้นเทคนิคการวิเคราะห์ เด็กตีความเป็น เชื่อว่าเด็กไปเจอข้อสอบแนวไหนก็จะทำได้ แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่ สิ่งนี้เป็นจุดบกพร่องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้"
ธุรกิจการศึกษา
แวรอเมาะ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นจุดอ่อนอีกประการหนึ่งของการจัดการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ทุกวันนี้ คือ การขาดความตระหนักของผู้บริหารสถานศึกษาว่าเป้าหมายของการจัดตั้งโรงเรียนเพื่ออะไร เพื่อยกระดับนักเรียนในชุมชนใช่ไหม เป้าหมายไปสู่ผลสัมฤทธิ์ที่ดีใช่ไหม หรือแค่สานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษเท่านั้น
"เป้าประสงค์นำไปสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ บางโรงเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญตรงนี้เลย ขณะที่บางโรงก็มีการพัฒนาไปเรื่อยๆ นำไปสู่ความเป็นเลิศ ทำให้มองเห็นความแตกต่างว่าในระบบโรงเรียนเอกชน ทำไมบางโรงถึงได้นิ่งอยู่กับที่ ขณะที่อีกหลายโรงก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างสบาย ฉะนั้นจุดอ่อนจุดแข็งก็อยู่ที่ผู้บริหารว่าเขาจะมีทักษะตรงนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อหัวกระดิก หางก็ต้องส่ายตาม"
เมื่อให้สะท้อนมุมมองที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้ปกครองของเด็กมองว่าการจัดการศึกษาในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา เน้นธุรกิจมากเกินไป ประเด็นนี้ แวรอเมาะ ให้ทัศนะเอาไว้อย่างน่าสนใจ
"เคยสอบถามเด็กที่มาสอบโอเน็ตและเอเน็ต (เอเน็ต คือ แบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือ A–NET; Advanced National Educational Test) ที่สนามสอบโรงเรียนธรรมฯ พบว่าเด็กไม่ได้บริโภคองค์ความรู้อย่างเต็มที่ และใน 8 กลุ่มสาระวิชา เด็กก็เรียนไม่ครบ เพราะมีปัจจัยเรื่องความพร้อมของบุคลากรและสื่อการสอน เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้การก่อตั้งโรงเรียนหากจะมองเชิงธุรกิจก็มองได้ เพราะงบประมาณที่รัฐจัดสรรให้ก็มากพอสมควร (งบจัดสรรคิดตามจำนวน หรือรายหัวของเด็ก) ยิ่งมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีการแจกแท็บเล็ต ทุกอย่างเอื้อหมด ฉะนั้นถ้าผู้บริหารมองเชิงธุรกิจ ภาระก็จะตกไปยังผู้ปกครองและนักเรียน เด็กมาเรียน 6 ปีจะไม่ได้อะไรเลย ได้แค่เสื้อผ้าฟรีอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การศึกษาแย่"
"ข้อเท็จจริงตรงนี้ ผลวิจัยไม่มี เพราะผลวิจัยกลับไปมองผลสัมฤทธิ์โดยรวม คือ ตอนจบ ม.3 กับ ม.6 ว่าสู้เด็กที่อื่นได้หรือไม่ แต่ในช่วงที่เด็กอยู่ในโรงเรียน เด็กได้บริโภคความรู้มากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อเด็กไปเจอข้อสอบกลาง เด็กทำไม่ได้ ตีโจทย์ไม่แตก”
แวรอเมาะ ยังชี้ว่า บางครั้งรัฐบาลดูผลโอเน็ต เอเน็ต แล้วตีค่าว่าเป็นผลสัมฤทธิ์ของการเรียนการสอนหรือตัวนักเรียน แต่ส่วนตัวมองว่าไปตีค่าตรงนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เพราะกลุ่มนักเรียนที่สอบโอเน็ต เอเน็ต มี 2 กลุ่มหลัก คือกลุ่มแรก นักเรียนที่ไม่ได้คิดว่าต้องเรียนต่อมหาวิทยาลัย กลุ่มนี้จึงไม่สนใจเลยว่าต้องทำข้อสอบแล้วเอาผลสัมฤทธิ์เพื่อกลับมาใช้กับเขา แต่ทำไปตามรายชื่อที่โรงเรียนส่ง ซึ่งต่างจากกลุ่มที่ 2 ที่ทำเพื่อคะแนน 20% แล้วนำไปใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัย ฉะนั้นความตั้งใจของเด็ก 2 กลุ่มนี้ ไม่เหมือนกัน และทำให้ค่าเฉลี่ยฉุดกันได้
รัฐต้องเข้าใจก่อน
ในทัศนะของแวรอเมาะ เธอเห็นว่าถึงอย่างไรโรงเรียนสอนเอกชนศาสนาในพื้นที่ก็ยังเป็นสถานศึกษาหลักที่ผู้ปกครองต้องส่งเข้าเรียน เพราะต่อให้โรงเรียนสามัญมีหลักสูตรศาสนาเสริมเข้าไป ความนิยมของผู้ปกครองก็ยังน้อยอยู่ สู้โรงเรียนเอกชนไม่ได้ ฉะนั้นรัฐบาลจึงควรเข้าใจสภาพบริบทในพื้นที่ และเลิกมองโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะสิ่งไม่ดี
"ถามว่าโรงเรียนอาชีวะมีเด็กไม่ดีไหม...ก็มี ฉะนั้นเมื่อเด็กเยอะ ปัญหาก็ต้องเกิด เมื่อเกิดปัญหา ไม่อยากให้มองว่าเป็นเพราะโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเป็นแหล่งบ่มเพาะทำให้เด็กก้าวร้าว ต่อต้านรัฐ แต่กลับมองว่าเป็นตัวหลักด้วยซ้ำที่ทำให้เด็กมีคุณธรรม จริยธรรม ถามว่าสังคมทุกวันนี้เด็กที่เรียนดีแต่ขาดคุณธรรมมีเยอะไหม คำตอบคือเยอะมาก แต่หากมองกลับมายังสามจังหวัด เด็กยังมีข้อดีตรงนี้อยู่ ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมระบบการศึกษาที่ดีระหว่างส่วนกลางกับเด็กสามจังหวัดแล้วก้าวไปพร้อมๆ กัน"
เสียงบ่นจากผู้ปกครอง
ด้านความเห็นของผู้ปกครองนักเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ผิดหวังที่โรงเรียนมุ่งหวังผลสัมฤทธิ์ในเชิงธุรกิจ มากกว่าผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก
แอเสาะ มะมิง ชาว อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่โรงเรียนค่อนข้างเน้นธุรกิจเป็นหลัก เด็กอ่านหนังสือออกหรือไม่ออกไม่สนใจ แต่ผู้ปกครองยังต้องรับภาระค่าใช้จ่ายเหมือนเดิม หนำซ้ำยิ่งมากขึ้น ส่วนครูผู้สอนก็สอนแบบขอไปที ไม่ได้สนใจเด็กเท่าที่ควร จึงไม่แปลกใจที่ผลวิจัยหรือผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาออกมาต่ำตามที่เป็นข่าวบ่อยๆ
"ดูลูกชายที่บ้านอยู่ชั้น ป.1 โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งใน อ.โคกโพธิ์ เขาอ่านหนังสือไม่ออกเลย ตัวสระ ตัวอักษรเด็กก็ไม่รู้จัก ที่อ่านได้อาศัยแค่ความจำ พอถามให้สะกด เด็กกลับสะกดไม่ได้ ลูกของเพื่อนบ้านก็เจอคล้ายๆ กัน คือเด็กอ่านไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ ที่แย่กว่านั้นทราบมาว่าครูที่สอนไม่ได้มีทักษะด้านนั้นเลย ส่วนครูที่จบตามวิชาเอกที่เรียนมา ก็ขยับไปสอน ป. 4 ถึง ป.6 ปล่อยให้ครูที่ขาดทักษะ ไม่มีวุฒิระดับปริญญาตรีเฉพาะทางมาสอนแทน ฉะนั้นอยากให้ผู้บริหารมองความสำคัญระดับอนุบาลถึง ป.1 ให้มาก เพราะถ้าหากระดับนี้ขาดทักษะ อ่านและเขียนไม่ได้แล้ว เด็กจะก้าวขึ้นไประดับสูงได้อย่างไร"
ขณะที่ อาริยา (สงวนนามสกุล) ชาว จ.ยะลา กล่าวว่า ผลวิจัยที่เผยแพร่ออกมาถือว่าถูกบางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด เพราะเด็กจะรับสาระความรู้ได้หรือไม่ได้อยู่ที่ตัวเด็กมากกว่าว่ามีความสนใจมากน้อยแค่ไหน แต่ต้องยอมรับว่าเด็กสามจังหวัดจะเรียนหนักทั้งศาสนาและสายสามัญ ขณะที่เด็กบางคนถนัดวิชาสามัญมากกว่าศาสนา หรือบางคนเก่งวิชาศาสนา แต่สามัญกลับอ่อน ในขณะที่พ่อกับแม่คาดหวังอยากให้ได้ทั้งสอง เพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพในอนาคตได้
"อีกไม่กี่ปีก็จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ยังนึกไม่ออกเลยว่าเด็กสามจังหวัดจะเป็นอย่างไร จะก้าวตามเขาได้มากน้อยแค่ไหน"
เป็นเสียงถามจากผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยใฝ่ศึกษา...คำถามที่ย้อนกลับไปสู่สารพัดปัญหาของการจัดการศึกษาชายแดนใต้ที่รัฐยังไม่เคยจริงจังที่จะเดินหน้าแก้ไขเลย!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1, 4 และ 5 บรรยากาศในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา
2 ฮาลูมา แมะตีเมาะ
3 แวรอเมาะ เจ๊ะดาแม
หมายเหตุ : ภาพทั้งหมดโดย แวลีเมาะ ปูซู
อ่านประกอบ : ผลวิจัยเด็กมุสลิมใต้ "เรียนหนักแต่ล้มเหลว" แนะบูรณาการ "ศาสนา-สามัญ"
http://www.isranews.org/south-news/Other-news/28-2009-11-14-06-19-24/15996--qq-q-q.html