หลักการ “จริยธรรม” กรณี “ไร่ส้ม-สรยุทธ”
ภายหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลว่านายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เจ้าของบริษัท ไร่ส้ม จำกัด มีความผิดฐานสนับสนุนพนักงาน อสมท.กระทำความผิด ตามมาตรา 6, มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีอาญาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น
หลายคนออกมาเรียกร้องหาความรับผิดชอบในเชิงจริยธรรมต่อช่อง 3 ต้นสังกัดเพื่อดำเนินการให้นายสรยุทธหยุดปฏิบัติหน้าที่ “สื่อมวลชน” ชั่วคราวจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
แต่ทว่าไม่มีปฏิกิริยา “ตอบรับ” จากเจ้าตัว
ในเชิงหลักการกรณี “สรยุทธ” มิใช่ “เรื่องส่วนตัว” หากเป็นเรื่องของ “หลักจริยธรรม”
หลักจริยธรรมของ “สรยุทธ” ฝ่ายหนึ่ง กับ หลักจริยธรรมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ฝ่ายหนึ่ง
หลักจริยธรรมของ “สรยุทธ” ที่ใช้เป็นฐานในการตัดสินใจไม่ยอมเว้นวรรคจากหน้าที่สื่อมวลชนคือใช้หลักอรรถประโยชน์สูงสุดของคนส่วนใหญ่ (Utilitarianism หรือ Teleological Approach)
หลักอรรถประโยชน์สูงสุดของคนส่วนใหญ่ (Utilitarianism หรือ Teleological Approach) มาจากคำว่า Teleology มีรากศัพท์มาจากภาษกรีกว่า “teleos” หมายถึง เสร็จสมบูรณ์ (complete) สุดท้าย (final) ซึ่งมาจากคำว่า “Telos” หมายถึงสำเร็จ (completion) หรือ จบ (end) เมื่อนำมารวมกับคำว่า logos หรือ ology ซึ่งหมายถึง ความรู้ แล้วคำว่า Teleology จึงหมายถึง ความรู้ของการใช้ประโยชน์หรืออรรถประโยชน์ของกระบวนการธรรมชาติ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการออกแบบตามธรรมชาติทั้งหมด (อัมพร ธำรงลักษณ์ และคณะ จริยธรรมในการบริหารรัฐกิจ ,2553)
เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การทำหน้าที่ของ “สรยุทธ” ในที่นี้คือการให้บริการข่าวสารแก่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชน คือเน้นให้ความสุขในรูปข่าวสารแก่ประชาชนเป็นเป้าหมายสูงสุด ทำให้ประชาชนมีความสุขและพึงพอใจในการบริการซึ่งในที่สุดนำมาซึ่งความสุขในสังคมทั้งมวล
เป็นไปตาม “ทฤษฎีสุขนิยม” ของ จอห์น สจวต มิลล์ (John Stuart Mill) และ เจเรมี เบนธัม (Jeremy Bentham) นักปรัชญาอรรถประโยชน์นิยม (Utilitarianism) ที่มีความเชื่อว่า ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนาและต้องการใช้ชีวิต
เพราะฉะนั้นตรรกะในขั้นนี้เมื่อกรณีเงิน 138 ล้านบาทเพียงแค่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล คดียังไม่สิ้นสุด (ต้องใช้เวลาต่อสู้อีกยาวนาน) ก็ไม่จำเป็นต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
อย่างไรก็ตาม หลักอรรถประโยชน์สูงสุดของคนส่วนใหญ่ตามหลักการของ “สรยุทธ” อาจสวนทางกับหลักจริยธรรมอีกข้อที่มีอยู่ในส่วนลึกของมนุษย์ทุกคนคือ หลักสำนึกส่วนบุคคล (Intuitionism)
หลักการข้อนี้มีความเชื่อว่า “จริยธรรมมาจากความรู้สึกว่าสิ่งใดดี ไม่ดี ควร ไม่ควร ถูก ผิด การตัดสินใจเกิดจากความรู้สึกส่วนตัวล้วนๆของแต่ละบุคคล ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลหรือหลักตรรกะอื่นมารองรับ”
เมื่อ “สรยุทธ” ตัดสินใจเลือกหลัก Utilitarianism ไม่ยอมหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามคำเรียกร้องของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ต้องการให้ “สื่อมวลชน” (อีกสถานะเป็นนักธุรกิจ) สร้างบรรทัดฐานที่ดีให้แก่สังคม หลักสำนึกส่วนบุคคล (Intuitionism) จึงถูกละเลย นายสรยุทธจึงยืนหยัดเล่าข่าวต่อไป
ขณะที่การทำหน้าที่ของฝ่าย คณะกรรมการ ป.ป.ช.ซึ่งเป็นผู้ชี้มูลนายสรยุทธนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานหลักจริยธรรมเชิงหลักการ (Deontological Approach) หรือ จริยธรรมเชิงหน้าที่ (Ethics of Duty or Principle)
เนื่องเพราะหน้าที่ของคณะกรรมการและองค์กร ป.ป.ช. ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 กำหนดให้มีภารกิจป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของเจ้าหน้าที่รัฐรวมทั้งเอกชนที่สนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต ซึ่งการทำหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในช่วงที่ผ่านมา
ไม่ว่าคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซุกหุ้น คดีเงินกู้ 45 ล้านของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ คดีถอดถอนนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ กรณีทำหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ส่ง ส.ส.ของพรรค ประชาธิปัตย์และบุคคลอื่น จำนวน 19 คน ไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม กรณีชี้มูลความผิดนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เรื่องสนามกอล์ฟอัลไพน์ กรณียึดทรัพย์นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรงคมนาคม ร่ำรวยผิดปกติ รวมทั้งคดีอื่นๆ ล้วนอยู่ภายใต้หลักจริยธรรมเชิงหลักการ (Deontological Approach) หรือ จริยธรรมเชิงหน้าที่ทั้งสิ้น
เป็นไปตามทฤษฎีการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) และ ทฤษฎีสัญญาประชาคม (Social contract)ของโทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes, 1588-1678) ที่เชื่อว่า มนุษย์โดยธรรมชาติมุ่งเน้นเรื่องประโยชน์ส่วนตัว เห็นแก่ตัวมากกว่าเห็นแก่คนอื่น ไม่ใส่ใจหรือสนใจว่าการกระทำของตนเองจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนหรือไม่
คนในสังคมจึงพร้อมใจกันมอบอำนาจส่วนตนให้แก่รัฐเพื่อให้รัฐทำหน้าที่ในการควบคุมพฤติกรรมของคนในสังคมแทน
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคิดกันต่อไปก็คือ หากใช้หลักจริยธรรมบนพื้นฐานของหลักการ (Deontological Approach) เคร่งครัด ก็อาจขัดใจนักอรรถประโยชน์นิยมหรือ “นักสุขนิยม” ที่ใช้ความสุขเป็นเป้าหมายสูงสุด ซึ่งก็อาจมีปัญหาตามมาอีกว่า ความสุขของสังคมหนึ่งก็อาจไม่ใช่ความสุขของคนอีกสังคมหนึ่ง
นั่นเพราะว่า การใช้หลัก “ความสุข” เป็นเป้าหมายสูงสุดอย่างสุดโต่งก็จะไม่ยอมรับการตรวจสอบ และพยายามทำลายความชอบธรรมของกระบวนการตรวจสอบซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นในหลายกรณี เท่ากับละเมิดหลักจริยธรรมข้ออื่นในสังคมอย่างสิ้นเชิง
เพราะฉะนั้นกรณี “สรยุทธ” (มิใช่เรื่องส่วนตัว) จึงเป็นเครื่องสะท้อนว่าสังคมจะยึดหลักจริยธรรมข้อใด?
จะยอมให้ละเมิดหรือจะยืดหยุ่น
-----------------
หมายเหตุ:บทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียน มิใช่ความเห็นของสำนักงาน ป.ป.ช.