เวทีสสส.เผยมหาอำนาจเศรษฐกิจยุคใหม่แย่งชิงน้ำ
สสส.เปิดเวทีสานพลัง ดันสร้างนักจัดการทางสังคมมืออาชีพ เผยอีก 15 ปี 1.4 พันล้านคนขาดน้ำ-พื้นที่เกษตร คาดล่าอาณานิคมรูปแบบใหม่แย่งชิงน้ำ
วันที่ 15 ต.ค. 55 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) จัดเสวนา “ผสานพลังคนทำงานเพื่อพัฒนานักจัดการงานทางสังคม” โดยมีตัวแทนองค์กรภาคีของสสส.จากภาครัฐ เอกชน อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานเข้าร่วม ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านสังคม
ดร.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการท่องเที่ยวและกีฬา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา กล่าวถึงสถานการณ์แวดล้อมของโลกที่มีผลต่อการทำงานพัฒนาเสริมสร้างสุขภาวะว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า ความต้องการอาหารของโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 โดยเฉพาะในเอเชีย แอฟริกาและลาตินอเมริกา โดยขณะนี้ประชากรโลก 600 ล้านคนใน 21 ประเทศ กำลังขาดแคลนน้ำและพื้นที่เกษตร ซึ่งในอีก 15 ปีข้างหน้าอาจกลายเป็น 1,400 ล้านคนใน 36 ประเทศ ที่ประสบภาวะขาดแคลน
ปัญหาขาดแคลนน้ำเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องประสบในอนาคตข้างหน้า โดยอาจเปรียบเทียบได้ว่า การได้มาซึ่งธัญพืช 1 ช้อน จะต้องใช้น้ำ 100 ช้อนเป็นอย่างต่ำ และต้องใช้ธัญพืชเพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า เพื่อให้ได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ 1 กรัม โดยมนุษย์มีแนวโน้มในการบริโภคเนื้อสัตว์มากขึ้น ซึ่งหมายความว่า น้ำที่นำมาใช้ในปศุสัตว์จะมากกว่าการเพาะปลูกพืช ทำให้มีการบริโภคน้ำมากขึ้นกว่าที่มนุษยชาติเคยบริโภคมาก่อน ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารในระยะยาว โดยคาดการณ์ได้ว่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั้งขั้วเก่าและขั้วใหม่อย่าง จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล นอกจากจะแย่งชิงแร่ธาตุ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติกันแล้วจะหันมาแย่งชิงน้ำด้วย โดยอาจมีการเข้าไปถือครองพื้นที่กันดาร เพื่อหาแหล่งรองรับน้ำ โดยประเทศผู้ส่งออกอาหารจะต้องคิดหาน้ำเพื่อมาใช้ให้เพียงพอกับเกษตรกรรมมากขึ้น ขณะที่ส่วนท้องถิ่นเองต้องหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่ของตนด้วย
ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน รองประธานกรรมการคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สิ่งที่สสส.ต้องการในเกิดขึ้นในการดำเนินงานพัฒนาสร้างเสริมสุขภาวะ คือ ทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย โดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นคนไทยหรือมีสัญชาติไทย จะมีขีดความสามารถและสิ่งแวดล้อมอันดีที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาวะของตนเองได้ โดยเริ่มต้นที่การพัฒนานักจัดการงานทางสังคมและภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ให้มีศักยภาพเพื่อสืบสานงานในระยะยาว
ทั้งนี้จุดแข็งของสสส.คือการดำรงความเป็นองค์กรขนาดเล็ก เน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และอาศัยความชำนาญขององค์กรเครือข่ายในด้านต่างๆปฏิบัติการ จึงทำให้มีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น อย่างไรก็ดีพบว่า 10 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินงานของ สสส. ยังมีจุดอ่อนคือ การขาดการประสานงานและความร่วมมืออย่างต่อเนื่องของภาคีเครือข่ายเมื่อจบสิ้นโครงการ ทำให้ความรู้และการทำงานขาดช่วง
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสสส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการทำงานพัฒนาภาคสังคมประสบปัญหาในการหาคนรุ่นใหม่มาสานต่อ ทั้งนี้อาจเนื่องมากจากงานส่วนใหญ่เป็นงานอาสาสมัครและไม่มีทิศทางการเติบโตในหน้าที่การงานที่ชัดเจน จึงทำให้องค์กรเครือข่ายทางสังคมต่างๆไม่อาจรักษาบุคลากรไว้ได้ ทำให้กระบวนการพัฒนาศักยภาพของคนไม่ต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประเด็นที่สสส.ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นแผนนโยบายเพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ที่มาภาพ ::: http://bit.ly/Px3Z51