เวที 39 ปี 14 ตุลา ถก เหลือมรดกคือวิญญาณขบถ
นักวิชาการเตือนสติอย่าผูกขาดความเป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ อดีตผจก.อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ปรามอย่าอ้างความเป็นคนเดือนตุลาในการเคลื่อนไหว หวั่นซากทัศนะศักดินาฉุดการพัฒนาประชาธิปไตย
วันที่ 14 ตุลาคม หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมจัดงาน ”รำลึก 39 ปี 14 ตุลา 2516” โดยช่วงเช้าเป็นพิธีรำลึกและสดุดีวีรชนที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ช่วงบ่ายมีการเสวนา หัวข้อ “มรดก 14 ตุลา ในมุมมองคนหลากรุ่น” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ์ ธรรมศาสตราภิชานวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เช่นเดียวกับที่ ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระเคยกล่าวไว้ว่า มรดกของ 14 ตุลา คือการสร้างพื้นที่ประชาธิปไตย พื้นที่ของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความเป็นธรรมของสังคม หรือกระบวนการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ดังนั้น ถ้าพูดถึง 14 ตุลา ตนอยากให้พูดถึงการสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากกว่าการพูดหรือการรำลึกถึงการเกิดขึ้นของ 14 ตุลา หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา เรานึกว่าเราชนะและได้ประชาธิปไตยมาแล้ว แต่เราก็ยังไม่เจอประชาธิปไตย
ศ.ดร.ธเนศ กล่าวถึงคนที่อยู่ในประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ไม่ใช่เจ้าของประวัติศาสตร์ แต่เป็นของคนส่วนใหญ่ร่วมกัน ประวัติศาสตร์มีความหมายก็เพราะเป็นเรื่องที่คนอื่นหรือคนรุ่นหลังรับรู้ ถ้าเป็นเรื่องของคนรุ่นเดียว จะทำให้เรื่องนี้มีไว้สำหรับรำลึกกันในวงเหล้าเท่านั้น การพูดถึงคนตุลาอย่าไปโยงเหตุการณ์กับตัวบุคคล ซึ่งวันนี้บุคคลที่เคยเกี่ยวข้องต่างแยกย้ายกันไปมีบทบาทของตัวเองในแต่ละแวดวง ไม่ว่าจะเป็นการเมืองหรือแวดวงอื่น ๆ
"เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 มีความโดดเด่นหลายอย่าง คือ เป็นประวัติศาสตร์แรกที่คนจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยเป็นคนสร้างขึ้นมา เป็นประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นจริงมากที่สุด ที่ไม่มีคนใดคนหนึ่ง องค์กร หรือแม้แต่รัฐบาล จะสามารถอ้างได้ว่าความจริงของ 14 ตุลา คืออะไร และนำไปใช้ประโยชน์แต่เพียงฝ่ายเดียวได้ เพราะแต่ละคนจะมีความจริงของประวัติศาสตร์เป็นของตัวเอง ทุกบททุกตอนสามารถถกโต้แย้งถกเถียงได้ตลอดเวลา จึงทำให้เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์ที่มีปัญหาในตัวมันเองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย"
หยุดอ้างความเป็นคนเดือนตุลาเคลื่อนไหว
ขณะที่นายวัฒนชัย วินิจจะกูล อดีตผู้จัดการอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กล่าวว่า ฐานะทางประวัติศาสตร์ของ 14 ตุลา คือการต่อสู้คัดค้านกับเผด็จการและอำนาจนอกระบบประชาธิปไตย ซึ่งได้ทิ้งมรดกที่สำคัญเอาไว้นั่นคือ “วิญญาณขบถของขบวนการ 14 ตุลา” วิญญาณขบถ คือ การสงสัยและตั้งคำถามต่อสิ่งที่ดำรงแวดล้อมอยู่รอบตัว (คนรุ่น 14 ตุลา) และการพยายามหาคำตอบ ถ้าไม่มีใครสงสัยต่อการปิดกั้นเสรีภาพ การลิดรอนสิทธิในยุคก่อนปี 2516 ขบวนการ 14 ตุลา ที่ประกอบด้วยคนหลากหลายกลุ่มก็คงไม่เกิดขึ้น วิญญาณขบถนี้แทบไม่ต่างกันกับการอภิวัฒน์ 2475 ที่เกิดจากความมุ่งหวังของกลุ่มคนหนึ่งที่อยากจะเห็นสังคมเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
นายวัฒนชัย กล่าวว่า วันนี้ไม่ว่าใครสีไหนไม่ควรอ้างความเป็นคนเดือนตุลาในการเคลื่อนไหว เพราะไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่ง “กระบวนการ” ยังคงเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า “ผลลัพธ์” สังคมควรเรียนรู้จาก 14 ตุลา แสดงให้เห็นแล้วว่า วิธีการที่เหมาะสมเพื่อได้มาซึ่งประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทยนั้นเป็นเช่นไร และไม่จำเป็นอีกแล้วที่ใครจะต้องบาดเจ็บล้มตายเพื่อประชาธิปไตย ที่สำคัญเมื่อเราทำงานที่ไม่ใช่เพื่อตัวเราเองแล้ว อย่าดูแคลนคนที่คิดไม่เหมือนเราว่า ไม่ใช่ชีวิตที่มีค่า เพราะนั่นคงไม่ใช่มรดกที่มีค่าที่ 14 ตุลาฯ มอบให้เรา
“อย่างไรก็ตามสิ่งที่ 14 ตุลา ยังข้ามไม่พ้นก็คือ ซากทัศนะแบบศักดินาที่ยังคงดำรงอยู่อย่างเข้มข้นในสังคมไทย เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ถ้าเรายังไม่สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วเช่น 14 ตุลา เราอาจจะต้องมีอีกหลายตุลาฯหรือหลายพฤษภา อย่างไม่มีที่สิ้นสุด” นายวัฒนชัยกล่าว
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในงานมีการประกาศรับรองให้วันที่ 14 ต.ค. เป็นวันสำคัญของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเปิดตัวหมุด 14 ตุลา บริเวณลานโพธิ์ โดยมีตัวแทนผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แทนมูลนิธิ ตุลา ผู้แทนญาติวีรชน ตัวแทนองค์กรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประชาชนที่สนใจเข้าร่วม