ถกกองทุนสื่อสร้างสรรค์ อิสระจากรัฐ-ฟื้นวิถีชุมชน-สร้างภูมิคุ้มกันเด็กไทย
เครื่อข่ายสื่อสุขภาวะ-โรงเรียนชาวนา ชี้รายการเกษตร-วิถีชุมชนน้อย มีแต่บันเทิงยั่วเด็กเป็นหนุ่มสาวเร็ว หวังเกิดกองทุนสื่อสร้างสรรค์ หนุนชุมชนร่วม รร.สร้างฐานการเรียนรู้ต้านบริโภคนิยม
เมื่อเร็วๆนี้ เครือข่ายสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน ร่วมกับครูเครือข่ายผู้ปกครองชุมชนส่องเหนือ จ.มหาสารคาม และเครือข่ายโรงเรียนสานฝันอุดมการณ์ชาวนา จ.กาฬสินธุ์ ระดมความคิดเห็นกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยนายสุธรรม มูลเสก โรงเรียนสานฝันอุดมการณ์ชาวนา กล่าวว่าปัจจุบันสื่อกับการทำงานพัฒนาเป็นของควบคู่กัน สื่อมีอิทธิพลจริงๆกับชาวบ้าน เช่น สื่อโฆษณายาฆ่าหญ้าฆ่าหอยในรายการมวย ทำให้ชาวบ้านหลงเชื่อ ซื้อกันมากจนลืมภูมิปัญญาในการในการแก้ปัญหา
“ถ้าเรามีงบประมาณสนับสนุน สามารถซื้อเวลาหรือหาช่องทางดีๆสื่อสารเรื่องราวชุมชนให้มากขึ้น สามารถเปลี่ยนทัศนคติว่างานพัฒนาชุมชนเป็นงานร่วมสร้าง ไม่ใช่ชาวบ้านรอความหวังแต่ผู้นำชุมชนหรือนักการเมือง กองทุนสื่ออาจสนับสนุนพื้นที่ในการคิดวิเคราะห์ ศึกษาสื่อวัฒนธรรมที่กำลังเลือนหายแล้วรื้อฟื้นมาต้านกระแสสื่อบริโภคนิยมที่ชี้นำให้คนในชุมชน ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่หลงคล้อยตาม” นายสุธรรม กล่าว
ด้านนางสมบูรณ์ ภูจำปา กลุ่มเกษตรอินทรีย์หนองตอกแป้น จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าปัจจุบันรายการทีวีดีๆ มีน้อย รายการที่เกี่ยวข้องเกษตรอินทรีย์ วิถีชุมชน ก็มีไม่มาก พบแต่รายการประเภทบันเทิง แฟชั่น การแต่งกาย แม้แต่รายการข่าวก็มีเนื้อหาไม่เหมาะสม นำเสนอให้เด็กเยาวชนเป็นผู้ใหญ่เกินตัว
“ละครทีวีเป็นแบบอย่างให้เด็กในชุมชนมีพฤติกรรมเลียนแบบ ทำให้ไม่สนใจเรื่องชุมชน คุณธรรม ความกตัญญู ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็ตามไม่ทันที่จะสอนลูกหลาน ยิ่งห้ามยิ่งยุ กองทุนสื่อถ้าเกิดขึ้นจะเป็นโอกาสปลุกให้คนชุมชนได้นั่งคุยหารูปแบบเพื่อสร้างการเรียนรู้ดูแลเด็กๆร่วมกันกับโรงเรียน”
นางวัลภา รินทรึก แกนนำผู้ปกครองชุมชนส่องเหนือ กล่าวว่าเด็กปัจจุบันมีพฤติกรรมติดสื่อ เล่นเกม ชอบโทรศัพท์ หนีเรียน พฤติกรรมทางเพศไม่เหมาะสม ว่านอนสอนยาก ไม่ช่วยงานบ้านและชุมชน ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกันและได้รับการสนับสนุนบางส่วนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ภาพการทำงานระยะยาวคือสร้างฐานการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมชุมชนให้เอื้อการเรียนรู้ของเด็ก
“ให้ผู้เฒ่าผู้แก่มาสอนลูกหลานขับร้องสรภัญญะ สอนการอ่านและเล่านิทานในช่วงละครหลังข่าว ทำพานบายศรี ขันหมากเบ็ง แต่งเพลง เล่นละครชุมชน สิ่งเหล้านี้มีอยู่ในทุกชุมชน ถ้ามีกองทุนสื่อจะเป็นโอกาสต่อยอดนำไปสู่การสื่อสารนอกชุมชนหรือพัฒนาเป็นหลักสูตรร่วมกับโรงเรียน โดยเฉพาะชุมชนเมืองที่โรงเรียนกับชุมชนมักขาดปฏิสัมพันธ์กัน” นางวัลภา กล่าว
นายอัมพร วาภพ ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อสร้างสุขภาวะเด็กและเยาวชนภาคอีสาน กล่าวว่าขณะนี้เด็กเข้าถึงสื่อง่ายโดยเฉพาะอินเตอร์เน็ต เด็กในโรงเรียนนอกเมืองมีน้อยมากที่เลือกรับและวิเคราะห์สื่อที่กำลังใช้อยู่ได้ ผู้ปกครองมักโยนให้โรงเรียนดูแลเด็ก แต่ระหว่างทางเด็กกลับบ้านมีสิ่งดึงดูดมากมาย เช่น ร้านเกม ร้านอินเตอร์เน็ต นำไปสู่การสร้างพื้นที่เฉพาะตัวหรือสังคมเสมือนจริงในสื่อ ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือแม้แต่เพื่อนๆลงไปเรื่อยๆ บางคนมีพฤติกรรมก้าวร้าวชอบความรุนแรงจากเกมที่เล่นอย่างเห็นได้ชัด
“กองทุนสื่อฯ เป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะให้ชุมชนกับโรงเรียนจัดการดูแลลูกหลานตนเอง โดยไม่รอความหวังจากหน่วยงานรัฐที่มักแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ทำกิจกรรมสร้างกระแสเหมือนไฟไหม้ฟางเฉพาะหน้าไป”
นายสุรสม กษณะจูฑะ นักวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่าเงื่อนไขของกองทุนสื่อต้องชัดเจน ว่ามุ่งไปทางไหน เช่น มุ่งไปที่การผลิตสื่อหรือมุ่งเพื่อชุมชน ถ้าเป็นการสนับสนุนชุมชน ก็ควรห้ามบริษัท ธุรกิจขนาดใหญ่ได้รับประโยชน์ ควรมีประชาพิจารณ์ในเรื่องนี้ทั้งในระดับเล็ก ใหญ่
“ชุมชนสามารถสำรวจต้นทุนและค้นหาสื่อในพื้นที่เพื่อนำมาปรับใช้พัฒนาเด็กๆได้ เช่น โมเดล 100 สื่อดีที่เครือข่ายสภาสื่อสร้างสรรค์อุบลฯกำลังทำ เป็นฐานข้อมูลทำให้รู้ว่าเรามีอะไร ใช้ประโยชน์อะไร ถ้าชุมชนหรือภาคประชาชนมองว่ากองทุนนี้ต้องเป็นอิสระไม่อยู่ภายใต้รัฐ ก็ควรสื่อสารผ่านสื่อที่มีพลัง เช่น สื่อ กระแสหลัก คิดให้ชัดว่ากองทุนสื่อเพื่อชุมชนหน้าตาเป็นอย่างไร จะไปถึงอย่างไร”
ที่ประชุมยังเสนอว่ากองทุนสื่อฯจะเป็นโอกาสฟื้นฟูสื่อวัฒนธรรมชุมชนที่กำลังโดนลดทอนด้วยกิจกรรมไม่สร้างสรรค์ เช่น งานศพที่มีเหล้า การพนัน ผู้นำชุมชน ครูติดการพนัน ก่อหนี้ ติดสุรา ประเพณีดั้งเดิม เช่น สงกรานต์กลายเป็นฉาบฉวยเน้นสนุกสนานลืมรากเหง้าแท้จริง กองทุนสื่อฯต้องเป็นเครื่องมือเปิดพื้นที่การพูดคุยของคนทำงานด้านเด็กและชาวบ้าน มีมหกรรมการเรียนรู้ นำเสนอสื่อดีๆที่ชุมชนสร้างขึ้น รวมทั้งนำเสนอบทเรียนที่ดีให้นักวิชาการกับชุมชนมาเจอกันช่วยอธิบายงานที่ทำ เช่น นิทาน หนังบักตื้อ สรภัญญะ ฐานการเรียนรู้ชุมชน สามารถทำให้เด็กมีพฤติกรรมสุขภาวะที่ดีได้อย่างไร เพื่อให้กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นกองทุนสานฝันเด็กไทย ให้ชุมชนได้รับประโยชน์ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเพราะกลไกพัฒนาเด็กและเยาวชนที่สำคัญคือคำตอบอยู่ที่นี่ ไม่ใช่อยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ใด.