‘เติ้ง’ มั่นใจปีนี้น้ำไม่ท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง-ลาดกระบัง
‘บรรหาร’ รับรองปีนี้น้ำไม่ท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง-ลาดกระบัง ‘ธีระ’ ชี้ฝั่งตะวันออกรับน้ำได้ 100% ของปี 54 กรมชลฯ แจงชลประทานลุ่มเจ้าพระยา น้ำทำเกษตรลดจาก 7 ล้าน เหลือ 5.5 ล้านไร่
วันที่ 12 ต.ค. 55 นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) พร้อมด้วย นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษารมว. เกษตรฯ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ฝั่งตะวันออก เขตพื้นที่สำนักชลประทานที่ 10 ครอบคลุมกรุงเทพฯ ปทุมธานี นครนายก และฉะเชิงเทรา โดยเริ่มจากประตูระบายน้ำและไซฟอนพระธรรมราชา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตเหนือ อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ประตูระบายน้ำคลองหกวาสายล่างและแนวคลองหกวาสายล่าง สถานีสูบน้ำหนองจอก สถานีสูบน้ำประเวศบุรีรมย์ คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต คลองด่าน และสถานีสูบน้ำสุวรรณภูมิ
นายธีระ กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างสมบูรณ์ เพราะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำถึง 122 เครื่อง ใน 11 สถานีสูบน้ำ ทำให้มีศักยภาพในการระบายน้ำออกสู่แม่น้ำบางปะกงเต็มที่ ที่สำคัญได้มีการกำจัดวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำออกเกือบหมดแล้ว ประกอบกับปริมาณน้ำฝนที่ลดลง เนื่องจากหย่อมความกดอากาศสูงจากจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย จึงมั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมในตอนนี้
ส่วนการก่อสร้างคันกั้นน้ำเสริมคอนกรีตบริเวณคลองเชียงรากน้อยที่รับน้ำต่อจากคลองระพีพัฒน์ ซึ่งเมื่อปี 54 เกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก ขณะนี้กรมชลประทานได้ของบประมาณจากคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ก่อสร้างความยาว 8 กม. พื้นที่ตั้งแต่ถนนพหลโยธินจรดคลองเจ้าพระยา ซึ่งได้ดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จ 4 กม. ตั้งแต่คลองเปรมประชากรถึงคลองเจ้าพระยา ยังขาดอีก 4 กม. ตั้งแต่คลองเปรมประชากรถึงถนนพหลโยธิน ซึ่งคาดว่าจะผ่านการเห็นชอบจากกบอ. ในวันนี้ (12 ต.ค.55)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดแนวลำคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งท่วมที่อยู่อาศัยของชาวบ้านหลายหลังคาเรือน ระดับน้ำสูงประมาณ 10-30 ซม. รมว.กษ. ชี้แจงว่า คลองดังกล่าวจะสูบน้ำออกสู่แม่น้ำบางประกง หลายคนอาจตั้งข้อสังเกตว่าสถานีสูบน้ำบริเวณดังกล่าวมีเครื่องสูบน้ำหลายสิบเครื่อง ทำไมถึงไม่สูบเต็มศักยภาพ เพราะหวั่นว่าชาวบ้านที่อยู่พื้นที่ด้านล่างจะได้รับผลกระทบน้ำท่วมได้ จึงต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ตกลงซึ่งกันและกันว่าจะยอมให้สูบน้ำออกมากเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนทั้งสองฝ่าย
ด้านนายบรรหาร กล่าวแสดงยืนยันว่าปีนี้จะสามารถรับมือสถานการณ์น้ำท่วมได้ทั้งในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เพราะมีเครื่องสูบน้ำที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ โดยถือว่าเป็นการแก้ปัญหาถาวร ซึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมจำเป็นต้องอาศัยเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ในการผลักดันน้ำออกสู่ทะเล เพราะจะอาศัยแต่ประตูระบายน้ำอย่างเดียวไม่ได้ เนื่องจากบางครั้งระดับน้ำทะเลสูงกว่าทำให้ผลักดันน้ำไม่ได้
เมื่อถามถึงสาเหตุการอนุมัติงบประมาณก่อสร้างคันกั้นน้ำแนวคลองเชียงรากน้อยที่เหลืออีก 4 กม. ล่าช้า ประธานที่ปรึกษารมว.กษ. เปิดเผยว่า ตนได้เสนอเรื่องเข้ากบอ. กว่า 3 เดือนแล้ว แต่คาดว่าคงได้รับการอนุมัติในเร็ววัน เพราะต้องเข้าใจว่ากบอ.มีภาระหน้าที่รับผิดชอบมาก จึงต้องเห็นใจ
เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น นายบรรหาร กล่าวว่า ประชาชนในหมู่บ้านสะเอียบคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวรุนแรง โดยปี 38 ที่ตนดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้นำเรื่องเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ สุดท้ายก็ทำไม่ได้ เพราะชาวบ้านนำพวงหรีดสีดำไปวางหน้าบ้าน 100 กว่าพวง เลยไม่มีใครกล้าอนุมัติ ส่วนกบอ. จะบรรจุเป็นโครงการสำคัญนั้นก็น่าจะเป็นไปได้
ขณะที่อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างว่า ระดับน้ำในลุ่มแม่น้ำท่าจีนเริ่มเข้าสู่ขาลง ขณะที่ลุ่มแม่น้ำแม่กลองในพื้นที่จ.กาญจนบุรีและราชบุรีได้เร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนแม่กลองแล้ว ซึ่งจะเข้าสู่สถานการณ์ปกติในเร็ว ๆ นี้
สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนภูมิพลอยู่ที่ 63% เขื่อนสิริกิติ์ 68% อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งได้ ดังนั้นกรมชลประทานจึงต้องแก้ปัญหาร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกระทรวงมหาดไทยในการทำความเข้าใจกับเกษตรกรว่าน้ำปีนี้จะน้อยมาก หากรวมปริมาณน้ำทั้งสองเขื่อนคาดว่าช่วงฤดูแล้งจะมีประมาณ 9,200 ล้านลบ.ม. ทั้งที่ปริมาณที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 10,000 ล้านลบ.ม. โดยจะจัดสรรไว้เพื่อเพาะปลูกฤดูแล้ง 8,000 ล้านลบ.ม. อีก 2,000 ล้านลบ.ม. ไว้ใช้ต้นฤดูฝน แต่เมื่อปริมาณน้ำไม่เพียงพออาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกลดน้อยลงจากเดิม 7 ล้านไร่ เหลือเพียง 5.5 ล้านไร่เท่านั้น อย่างไรก็ตามมั่นใจว่าจะมีน้ำกินน้ำใช้ 100% แน่นอน.
ที่มาภาพ : http://region7.prd.go.th