แนะ สื่อ หยุดหยิบปมเกลียดชัง ‘โลกออนไลน์’ กระพือต่อ
อาจารย์ ม.สยาม แนะตัดตอน 'ความเกลียดชัง' ได้เฉพาะช่วงสถานการณ์ส่อเค้ารุนแรง ระบุปิดปากห้ามพูด 'สีเทา' หวั่นทำคนเก็บกด สร้างความเสียหายหนัก
วันที่ 11 ตุลาคม มีเดียมอนิเตอร์ จัดเสวนา “การสื่อสารความเกลียดชัง (Hate Speech) กับผลกระทบต่อสังคม” ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มี รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และที่ปรึกษากรรมการวิชาการมีเดียมอนิเตอร์ร่วมเสวนา (อ่านผลการวิจัย: ‘สื่อมีสี’ ดับเครื่องชน! ใช้ “Hate Speech” เพาะปมเกลียดชัง-ชี้นำความรุนแรง)
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวว่า การใช้ Hate Speech เพื่อสร้างความเกลียดชังในสังคมไทย มีโจทย์ที่ต้องคิดว่าการส่งต่อ Hate Speech กันไปมานั้น มีนัยทางการเมือง หรือเป็นประโยชน์ต่อสังคม สาธารณชนหรือไม่ และหากพบว่าไม่เกิดประโยชน์ จะสามารถระงับหรือจบเรื่องนี้ได้อย่างไร ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่า น่าจะมีกลไกที่จะเข้ามาทำหน้าที่กำกับให้ Hate Speech ที่มีนัยยะแอบแฝง ไม่ได้เป็นประโยชน์สาธารณะ ระงับความรุนแรงลง หรือไม่ขยายตัวนำไปสู่การทำร้ายซึ่งกันและกัน
“ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้มีทำหน้าที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนา กำกับดูแลการใช้พื้นที่สาธารณะดังกล่าว จะต้องตระหนักคือ 1.ต้องไม่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. ต้องไม่กำจัดคนบางกลุ่มออกไป เพราะสังคมไทยขณะนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเดินไปสู่สังคมแห่งการอยู่ร่วมกัน และ 3.กลไกการกำกับต้องนำไปสู่การเคารพซึ่งกันและกันของคนกลุ่มต่างๆ”
รศ.ดร.วิลาสินี กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างที่ประเทศไทยยังไม่มีแนวทางกำกับดูแล Hate Speech ที่ชัดเจน ตนเห็นว่าควรมีการเปิดพื้นที่สาธารณะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้ให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันในสถานการณ์ปัจจุบัน หรือลดปัญหาให้น้อยลง ขณะเดียวกันสื่อมวลชนจะต้องไม่ส่งผ่าน Hate Speech โดยเฉพาะที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ เพราะไม่เช่นนั้นจะเป็นการเข้าทาง และสร้างความพึ่งพอใจให้กับคนที่ชอบสร้างความเกลียดชังเหล่านี้
ด้น รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า การสื่อสารในลักษณะที่สร้างความเกลียดชัง ให้ร้ายกันนี้ แม้จะเป็นคำพูดแบบสีเทาๆ แต่ในทางอาชญาวิทยา เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องปล่อยให้มีการเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นความรู้สึกภายในที่ซ่อนอยู่ อาจระเบิดออกมาและสร้างผลกระทบที่รุนแรง เปรียบได้กับกรณีนักโทษในคุก ถ้าเราไม่ปล่อยให้มีการระบายออก เล่นกีฬาที่มีการปะทะ ต่อยมวยกันบ้าง นักโทษอาจเกิดความเกลียดชังและถึงขั้นฆ่ากันเองก็เป็นได้
“ดังนั้นเห็นว่า จำเป็นต้องปล่อยให้มี Hate Speech เกิดขึ้น เพียงแต่จะต้องการควบคุมไม่ให้ Hate Speech นั้นๆ เกิดผลกระทบหรือสร้างความรุนแรง โดยการดำเนินการคือ หากเห็นว่ามีการปลุกปั่น ยั่วยุ จนกระทั่งสถานการณ์ใกล้สุกงอมและมีแนวโน้มนำไปสู่ความรุนแรง จะต้องมีการตัดตอนทันที เช่น หากมีการสื่อสาร กล่าวอ้างผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์ ในลักษณะที่ส่อเค้าจะก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรงอย่างฉับพลัน ต้องตัดทิ้งทันที ในทางกลับกัน หากสถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นสุกงอม การระงับหรือตัดตอนใดๆ นั้นจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก ไม่เช่นนั้นอาจสร้างความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมและยิ่งจะทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น” รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าว
ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นสาธารณะนั้น รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในเรื่องดังกล่าว มีแต่กฎหมายหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นระดับปัจเจกเท่านั้น แต่หากมีการใส่ความ พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูดในลักษณะที่เป็นการกระทำต่อสาธารณะ และก่อให้เกิดการดูถูก เสื่อมเสียชื่อเสียง การทำมาหาได้ ก่อให้เกิดความเกลียดชังแล้ว ก็อาจอ้างอิงแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่มีคำตัดสินคล้ายคลึงกันมาเทียบเคียงได้ แต่หากเกิดกรณีที่การกระทำเป็นผลสืบเนื่องจากการใช้ Hate Speech เช่น บอกให้ฆ่าคนนั้นคนนี้ และมีการไปฆ่ากันจริง ผู้ที่ใช้ Hate Speech จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ในฐานะปลุกปั่น ยั่วยุด้วย