"มาร์ค"ถามหาเงินขายข้าว 8ล้านตันล่องหน รอยเตอร์ชี้ "ยิ่งลักษณ์"ไม่ถอยจำนำข้าว
“มารค์”ถามหาเงินขายข้าว 8 ล้านตัน ระบุจีทูจีไม่ใช่ลับสุดยอด ไม่แปลกใจ บ.ส่งออกอันดับ 1 ซี้ปึ๊ก รบ. “รอยเตอร์”แจงยิบข้อเสียจำนำข้าว-ไทยหลุดส่งออก เชื่อ “ยิ่งลักษณ์”เดินหน้าต่อหวังฐานเสียงชาวบ้าน
วันที่ 10 ต.ค.55 ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กรณีที่รัฐบาลออกมาชี้แจงโครงการจำนำข้าวว่า โดยนายอภิสิทธิ์กล่าวว่าว่าจากที่เคยบอกจะส่งออกได้ในปีนี้ก็เลื่อนไปถึงปีหน้า ถ้าโครงการไม่มีปัญหาจริงก็คงไม่มีแนวคิดเอาค่ายทหารหรือดอนเมืองมาเก็บข้าว และการซื้อขายแบบรัฐต่อรัฐก็ไม่ใช่เรื่องลับสุดยอด ถ้ามีการส่งออกจะต้องมีรายชื่อประเทศและเงินที่ขายได้ต้องกลับคืนมาแต่จนบัดนี้ขอถามว่าที่นายกรัฐมนตรีบอกขายไป 8 ล้านตันจะได้เงินเมื่อไหร่ และตั้งคำถามว่าถ้าแต่ละปีต้องใช้เงิน 1.5 แสนล้านบาทช่วยชาวนาทำไมไม่เอาเงินนี้เฉลี่ยแจกชาวนาไปเลยจะได้ไม่ต้องสร้างความเสียหายให้ประเทศในด้านอื่น ซึ่งที่ทำอยู่ในขณะนี้ชาวนาได้เงินไม่ถึงครึ่ง
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยคำร้องของนักวิชาการ ว่าถือเป็นการพยายามใช้สิทธิของนักวิชาการ แต่พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันทำหน้าที่ในสภาฯในการบอกรัฐบาลให้ช่วยชาวนาในวิธีอื่นเพื่อให้เงินถึงชาวนาทั้งหมด ไม่ใช่ตกหล่นถึง 60 -70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนกรณี ส่วนที่มีข่าวว่าบริษัทที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทยจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนหรือไม่นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่าการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยากทำให้ระบบข้าวอยู่ในมือรัฐเพียงผู้เดียว สุดท้ายก็หมายความว่าตัวเองเป็นคนเลือกว่าใครจะเป็นคนมาค้าข้าว ซึ่งถือเป็นเจตนา ไม่ใช่เหตุบังเอิญ
ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่านโยบายรับจำนำข้าวให้กับชาวนาที่อัตรา 15,000 บาทต่อตันของรัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังทำให้บรรดาผู้ส่งออกข้าวไทยหมดปัญญาหาผู้รับซื้อในต่างประเทศ และส่งผลให้ข้าวไทยปริมาณกว่า 12 ล้านตันต้องตกค้างอยู่ในโกดังของรัฐ กระทบการส่งออกอย่างเลวร้าย
ขณะที่บรรดานักวิชาการและนักวิเคราะห์ต่างระบุว่าการกำหนดราคาข้าวที่ตันละ 10,000-12,000 บาท น่าจะเหมาะสมสอดคล้องกับความเป็นจริงและมีความยั่งยืนมากกว่า แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยซึ่งประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งจากการชูนโยบายดังกล่าว ที่ได้รับแรงสนับสนุนแรงงานภาคเกษตรที่มีสัดส่วนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งประเทศ ดูเหมือนจะไม่สามารถหาทางถอยหลังกลับได้ง่ายนักในกรณีนี้ แม้จะเป็นเป็นที่ทราบกันดีว่า นโยบายประกันราคาข้าวที่สูงลิ่วนี้เป็นไปเพราะแรงกระตุ้นทางการเมืองมากกว่า ความเป็นเหตุเป็นผลทางเศรษฐกิจ
ด้านนักวิชาการไทยมองว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์กำลังผลาญเงินภาษีชาวไทยให้หมดไปกับการซื้อคะแนนเสียงทางการเมืองให้กับกลุ่มทางการเมืองของตน มากกว่าที่จะใส่ใจชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของชาวนาไทย และนโยบายดังกล่าวถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเลือกตั้งโดยเฉพาะ แม้ทางด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขุนคลังของรัฐบาลไทยชุดปัจจุบันจะพยายามออกมาแก้ต่างว่า นโยบายข้าวของรัฐบาลจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในภาวะที่ภาคอุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาจากความซบเซาในตลาดโลก
รอยเตอร์ ยังระบุว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เคยเตือนรัฐบาลไทยผ่านรายงานเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่าโครงการประกันราคาข้าวที่สูงลิ่วจำเป็นต้องถูกจับตาตรวจสอบและปรับปรุงใหม่ โดยเฉพาะกรณีต้นทุนและความเสียหายทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เพิกเฉยต่อคำเตือน โดยต้นทุนการแทรกแซงบิดเบือนกลไกราคาข้าวของรัฐบาลในปีงบประมาณและปีการเก็บเกี่ยวผลผลิตนับจากเดือนตุลาคม 2011 อยู่ที่ 80,000 ล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 5 ของเป้าการขาดดุลงบประมาณของประเทศ ขณะที่ยอดหนี้สาธารณะไทยสูงถึงระดับ 43 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีแล้วจากการเปิดเผยของธนาคารแห่งประเทศไทยล่าสุด
ยิ่งไปกว่านั้นดูเหมือนโครงการประกันราคาข้าวจะเอื้อประโยชน์ให้ผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้ง พ่อค้าคนกลาง บริษัทรับประกัน เจ้าของโกดัง เจ้าของโรงสี และพวกที่รับจ้างตรวจสอบข้าว ที่ต่างมีการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และทุจริตในแทบทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ชาวนาไทยซึ่งควรจะเป็นผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง กลับต้องยอมขายข้าวต่ำกว่าราคาประกันกว่าครึ่ง และแทบไม่ได้รับอานิสงส์ใดๆจากโครงการนี้
ส่วนผลผลิตข้าวที่ควรจะถูกส่งออกไปจำหน่ายเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ กลับต้องถูกเก็บแช่อยู่ตามโกดังต่างๆเพราะขายไม่ออก เนื่องจากไม่มีผู้ซื้อรายใดในตลาดโลกยอมจ่ายเงินที่แพงกว่าเพื่อซื้อข้าวไทยที่ราคาสูงเกินความเป็นจริง ส่งผลให้รัฐบาลต้องประสบปัญหาหาสถานที่เก็บข้าวเพิ่ม ถึงขั้นต้องขอความร่วมมือจากกองทัพให้ช่วยหาสถานที่รองรับข้าว
สำนักข่าวรอยเตอร์ ยังระบุว่า เป็นที่คาดกันว่าการเปลี่ยนแปลงใดๆต่อโครงการดังกล่าว อาจนำมาซึ่งสิ่งที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยไม่พึงปรารถนานั่นก็คือความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ดังนั้นจึงแทบมองไม่เห็นความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะล้มเลิกหรือถอยหลังกลับ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรจะต้องเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปเพื่อรักษาคะแนนเสียงทางการเมือง แต่ต้องแลกมาด้วยสิ่งที่บรรดานักวิเคราะห์อิสระทั้งหลายลงความเห็นว่าเป็นความไม่ยั่งยืนทางเศรษฐกิจ .
ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com