‘วิชาญ อุ่นอก’: วิทยุชุมชน ท่ามกลางสงครามการเมือง และความหวังใหม่ กสทช.
บนเส้นทางสื่อภาคประชาชนปรากฏชื่อ ‘สหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ’ ซึ่ง ‘วิชาญ อุ่นอก’ เป็นทั้งผู้บุกเบิกและขับเคลื่อนจนถึงปัจจุบัน ผ่านสงครามแบ่งสีเหลือง-แดง กระทั่งยุค กสทช. ที่อนาคตวิทยุชุมชนยังสับสน
‘วิชาญ อุ่นอก’ เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.)วัย 36 ปี เป็นเอ็นจีโอที่เลือกใช้ชีวิตคลุกคลีกับชุมชนมาตั้งแต่ปี 2541 ช่วงแรก ๆ เขาทำงานร่วมกับชาวบ้านในการจัดการป่าชุมชนใน จ.สุรินทร์ การจัดการลุ่มน้ำใน จ.ชัยภูมิ และการจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี
และที่เมืองกาญจน์นี่เองที่ วิชาญ เริ่มต้นการทำงานปฏิรูปสื่อภาคชุมชน เพราะอดีตพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้มาก ชาวบ้านไม่มีที่พึ่งและโอกาสในการชี้แจง ไม่มีสื่อที่จะถ่ายทอดสภาพปัญหาสู่สังคมได้ จึงจุดประกายความคิดให้เขาชักชวนพี่น้องในเมืองกาญจน์ฯ ร่วมกันจัดตั้ง ‘สถานีวิทยุชุมชนต้นแบบ 100.75 จ.กาญจนบุรี’ ในปี 2544 โดยได้รับงบประมาณจากกองทุนเพื่อสังคม (SIF) พร้อมจัดตั้งสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติในปลายปี 2545 ขับเคลื่อนงานด้านวิทยุชุมชน จนปัจจุบันมีสมาชิก 150 สถานีทั่วประเทศ
‘กทช.’ ไร้กึ๋นพัฒนาวิทยุชุมชน – สื่อท้องถิ่นเสื่อมเพราะนักการเมือง
10 ปีที่ผ่านมาของการพัฒนาวิทยุชุมชนภายใต้การดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ระยะแรกมีเงื่อนไขห้ามโฆษณาชวนเชื่อ พอปี 47 กรมประชาสัมพันธ์อนุญาตให้โฆษณาหารายได้เข้าสถานี ส่งผลให้ภาพลักษณ์วิทยุชุมชนตกต่ำลง เพราะผู้ประกอบการหลายรายจับจ้องแต่จะโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภค จนลืมแก่นแท้ของการจัดตั้งสถานีเพื่อเป็นกระบอกเสียงชุมชน วิชาญบอกว่า…
“เราคาดหวังว่าบทบาทกทช. ยุคนั้นจะสามารถแบ่งแยกประเภทได้ชัดเจนระหว่างวิทยุชุมชนกับวิทยุธุรกิจ แต่กลับไม่ดำเนินการใด ๆ นอกจากขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ จึงนับว่า กทช. ไม่มีส่วนในการพัฒนาเลย”
เขาเล่าต่อว่า ล่วงเลยมาถึงปี 2549 วิทยุชุมชนยิ่งดิ่งลงสู่ยุคตกต่ำ เพราะวิกฤตทางการเมือง ‘รัฐประหาร’ ทำให้กลุ่มสนับสนุนทางการเมือง (เสื้อเหลือง-แดง) ที่ไม่มีสื่อในการขับเคลื่อนอุดมการณ์ประชาธิปไตยหันไปจับสื่อวิทยุชุมชนปลุกระดมแทน จึงกล้าพูดว่าวิทยุชุมชนเสื่อม เพราะฝีมือนักการเมือง แต่จะว่าชาวบ้านไม่มีความรู้จนโดนชักจูงได้ง่ายก็ไม่ถูกนัก เพราะหลายคนที่จบการศึกษาระดับสูงยังถูกครอบงำจากการเมือง
“บางคนจบดร. ยังคลั่งสีใดสีหนึ่งจนแทบลืมตาไม่ขึ้น ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความรู้ความเท่าทัน แต่เป็นกระแสความแตกแยกของสังคมไทยมากกว่า วิทยุชุมชนเองก็เป็นคนต่างมีทัศนะความชอบ จึงไม่แปลกที่จะชอบฝั่งใดฝั่งหนึ่ง แม้แต่สื่อกระแสหลักยังเลือกข้าง แต่ต้องมาสรุปว่าพอเลือกแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร”
กสทช. เร่งปั้น 3 จี-ทีวีดิจิตอล ลอยแพวิทยุชุมชน
วิทยุชุมชนภายใต้บ้านหลังใหม่อย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นอกจากออกระเบียบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ล่าสุดคือหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และประกาศกสทช และหลักเกณฑ์การทดสอบมาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงสำหรับการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง เขาเห็นด้วยกับการแบ่งวิทยุชุมชนเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บริการสาธารณะ บริการชุมชน และบริการธุรกิจ ซึ่งคาดว่าประเภทบริการสาธารณะจะออกใบอนุญาตได้ภายใน ธ.ค. 55 ส่วนบริการชุมชนและธุรกิจ จะประมูลภายใน ก.พ. 56 แต่ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้า แม้จะมีหลายกลุ่มออกมาคัดค้าน
วิชาญ อธิบายสาเหตุที่มีผู้ประกอบการวิทยุธุรกิจออกมาคัดค้าน เกิดจากความไม่พอใจในมาตรฐานทางเทคนิคการปรับเงื่อนไขกำลังส่งวิทยุชุมชนจากเดิม 100 วัตต์ เป็น 500 วัตต์ เสาส่งสัญญาณสูงจากเดิม 40 ม. เป็น 60 ม. ครอบคลุมรัศมีจากเดิม 15 กม. เป็น 20 กม. ว่าหากกำลังส่งต่ำจะทำให้พื้นที่ออกอากาศน้อย ส่งผลให้มีโฆษณาน้อยด้วย จึงต้องการกำลังส่งที่สูงมากกว่านี้ แต่สำหรับเครือข่ายวิทยุชุมชนไม่ได้รับผลกระทบ เพราะคิดว่ายิ่งกำลังส่งต่ำมากเท่าไหร่ จะทำให้คลื่นไม่ทับซ้อนกันได้ หากให้สิทธิวิทยุธุรกิจขยายกำลังส่งมาก อาจทำให้คลื่นทับกันจนวิทยุชุมชนออกอากาศไม่ได้ ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการไม่ไปจดทะเบียนจนโดนตัดสิทธิ์ 726 สถานี
“เหตุผลมีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.การไม่เห็นด้วยกับระเบียบที่กสทช.ออกมา และเป็นกลุ่มใหญ่ของการไม่จดทะเบียน โดยเฉพาะวิทยุฝ่ายการเมืองและสายธุรกิจขนาดใหญ่ 2.ผู้ประกอบบางรายเคยจดมาแล้ว ซึ่งการจดแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง แต่กสทช. กลับไม่สร้างความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการระเบียบ จึงเบื่อหน่าย”
ทั้งนี้เครือข่ายวิทยุชุมชนวิงวอนให้กสทช. ตรวจสอบกำลังส่งของกลุ่มวิทยุธุรกิจขนาดใหญ่ควบคู่กับวิทยุขนาดเล็กด้วย เพราะหลายสถานีได้ปฏิบัติผิดกฎหมายทั้งสิ้น เช่น จากเดิมสถานีธุรกิจขอสัมปทานออกอากาศกำลังส่งไว้ 1 กิโลวัตต์ แต่ขณะนี้ได้ลักลอบขยายเป็น 2 กิโลวัตต์แล้ว จึงต้องให้ กสทช. ดำเนินการปรับลดกำลังส่งที่ผิดกฎหมายด่วน
เลขาฯ สหพันธุ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ยังบอกว่า การดำเนินงานด้านวิทยุชุมชนหลายอย่างยังล่าช้า สาเหตุเนื่องจาก กสทช. ให้ความสำคัญกับการดูแลโครงการที่มีงบประมาณมหาศาลแฝงอยู่มากกว่า เช่น การประมูลคลื่น 3 จี หรือการปรับให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ส่วนวิทยุชุมชนนั้นเป็นสื่อเล็ก ๆ ขณะที่มีมวลชนเยอะ หากสิ่งใดดำเนินการผิดเจตนารมณ์ อาจโดนต่อต้านได้ กสทช. จึงเลือกที่จะไม่ดำเนินการใด ๆ เลย นอกจากออกระเบียบ เพียงเพราะหวั่นว่าจะเกิดความขัดแย้งกับมวลชน เลยพยายามซื้อเวลามาตลอด
ชี้กสทช.ไม่มีระบบติดตามตรวจสอบ- เสนอแก้เกณฑ์อุดหนุนสื่อ
เมื่อถามถึงความกังวลในการใช้หลักเกณฑ์ต่าง ๆ วิชาญ เปิดเผยว่ารู้สึกเป็นห่วงการบังคับใช้หลักเกณฑ์ให้ถูกต้องของผู้ประกอบการสถานีวิทยุชุมชน เพราะปัจจุบันมีผู้ขึ้นทะเบียน 6,638 สถานี ยังไม่รวมรายที่ไม่ลงทะเบียนอีกกว่า 1,000 สถานี อนาคตหากมีการละเมิดกฎกติกา ใครจะเป็นผู้ควบคุมติดตามและประเมินผล เพราะเจ้าหน้าที่กสทช. มีไม่เพียงพอ จึงคาดว่าวิทยุชุมชนอาจถูกคลื่นวิทยุขนาดใหญ่รบกวนได้อีก ดังนั้นจึงต้องเร่งหาบุคลากรในการติดตามประเมินผล
นอกจากนี้เงินทุนในการขับเคลื่อนสถานีวิทยุชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญ ซึ่งเลขาฯ สวชช. อธิบายว่า ปัจจุบันหลายสถานีไม่มีเงินบริหารจัดการ ทำให้เกิดความยากลำบาก ที่ผ่านมาวิทยุชุมชนอยู่ได้ด้วยการระดมทุนในท้องถิ่น ซึ่งช่วงแรกประสบความสำเร็จ แต่เมื่อเหตุการณ์ทางการเมืองร้อนระอุ ประกอบกับมีการโฆษณามากขึ้น ทำให้ผู้คนเอือมระอาและไม่อยากควักกระเป๋าให้เหมือนเดิม การระดมทุนจึงเริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ
ฉะนั้นหากต้องการให้วิทยุชุมชนยังดำรงอยู่และเติบโตทำหน้าที่สื่อท้องถิ่นที่เป็นกระบอกเสียงให้ชาวบ้านแล้ว กสทช. จำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กองทุน กสทช.) สนับสนุน เช่นเดียวกับช่อง 11 ที่ไม่มีโฆษณา แต่ใช้เงินบริหารจัดการจากภาครัฐ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ไม่รวมค่าครองชีพผู้จัดรายการ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยการใช้จ่ายเงินแต่ละสถานีอยู่
“ค่าใช้จ่ายแต่ละสถานีมีความแตกต่างกัน แต่ภาพรวมสถานีติดเครื่องปรับอากาศเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท สถานีไม่ติดเครื่องปรับอากาศเฉลี่ยเดือนละ 7,000 บาท”
ซึ่งขณะนี้ กสทช. ได้เร่งจัดทำระเบียบกองทุนกสทช. ในการสนับสนุนวิทยุชุมชนแล้ว และเตรียมประกาศใช้ แต่หากต้องการสนับสนุนสื่อชุมชนจริงน่าจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วนด้วย เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง และจะทำให้เกิดความอิสระในการเข้าถึงกองทุนเงินดังกล่าว ส่วนปัญหางบประมาณที่ส่วนใหญ่จะได้รับการจัดสรรมาจากการอุดหนุนเงินทุนของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ดกทค.) โดยอ้างว่าบอร์ดกสท.ไม่มีเงินทุนอุดหนุนให้ เพราะยังไม่เปิดประมูลคลื่นนั้น วิชาญบอกว่าไม่สนใจว่าจะนำเงินจากแหล่งใด แต่เสนอว่าเมื่อมีเงินในกองทุนจะต้องจัดสรรให้กลุ่มวิทยุชุมชนอย่างน้อย 20% ของจำนวนเงินทั้งหมดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่
“มีเงิน 100 บาท ต้องจัดตั้งเป็นกองทุนวิทยุชุมชน 20 บาท ตามจำนวนคลื่นที่กสทช. จัดสรรมา ไม่ใช่จัดสรรเงินมาน้อย แล้วใช้ส่วนต่างที่เหลือไปทำเรื่องอื่น”
วอน กสทช.เปิดใจกว้าง- เลิกยึดติดราชการ ปิดกั้นสื่อ
เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาโฆษณาเกินจริงในวิทยุชุมชน วิชาญกล่าวว่า เครือข่ายเคยเสนออาสาทำงานร่วมกันติดตามกับกสทช. แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับ เพราะคิดว่าเราเป็นผู้ประกอบการ ไม่สมควรมาทำหน้าที่ตรวจสอบ ทั้งที่ สวชช. ได้ดำเนินการจับผิดวิทยุที่โฆษณาเกินจริงมาอย่างต่อเนื่อง โดยโทรไปแจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
เขายังวิจารณ์กรณีที่ 1 ใน 11 อรหันต์ คณะกรรมการกสทช. ถูกสั่งห้ามเปิดเผยข้อมูลองค์กรสู่สาธารณะว่า อยากให้หันกลับไปมองบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ว่าแท้จริงคือการสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีเสรีภาพในการสื่อสาร หากปิดกั้นเสรีภาพในองค์กรตนเอง แล้วจะพัฒนาวงการสื่อสารมวลชนไทยให้เติบโตได้อย่างไร
“สมมติว่ามติที่ประชุมบอร์ดกสทช. ออกมาสู่สังคม แต่เชื่อว่าหลายคนอยากรับรู้ว่ามีเสียงส่วนน้อยไม่เห็นด้วยหรือไม่ หากพยายามปิดบังรายละเอียด เปิดเผยเพียงข้อสรุป โดยอ้างเอกภาพ สังคมก็จะบอดในข้อมูล”
จึงเสนอให้ปฏิรูปการทำงานในองค์กรให้ฟังเสียงประชาชนมากขึ้น ไม่ยึดติดกับระบบราชการ เช่น การเปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่ผ่านมาของ กสทช. กลับไม่ให้ความสำคัญกับการนำข้อเสนอภาคประชาชนบรรจุในกฎหมาย เสมือนว่าการดำเนินการดังกล่าวเพียงเพื่อให้ครบองค์ประกอบทางกฎหมายเท่านั้น เลยตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง
…………………….
อย่างไรก็ตาม “วิชาญ อุ่นอก : เลขาธิการสหพันธุ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวด้วยความมั่นใจว่าวิทยุชุมชนไม่มีวันตายไปจากสังคมไทย แม้ปัจจุบันจะเกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารที่รุกหน้ามากขึ้น แต่ตราบใดที่คนวิทยุชุมชนยังคงคุณภาพ ตอบโจทย์ชาวบ้านในชุมชน จะสามารถเป็นสื่อทางเลือกหนึ่งได้ แต่เขาบอกว่า
“แต่เราไม่อยากให้วิทยุชุมชนอยู่ เพราะต้องอยู่ แต่ต้องอยู่อย่างมีคุณภาพ” และหากกสทช. ยังลอยตัวเช่นนี้ อนาคตของวิทยุชุมชนพันธุ์แท้ ก็น่าเป็นห่วง.