ถก18ภัยพิบัติคนไทย น้ำท่วมอันดับ1 รอบความเสี่ยงร่นจาก100เป็น4ปี
เวทีถก"18ภัยพิบัติ ที่คนไทยต้องเจอ” น้ำท่วมอันดับ1 ชี้รอบความเสี่ยงร่นจาก100เป็น4ปี จวกข้อมูลรัฐสับสนเน้นแก้กว่าป้องกัน แนะเกษตรกรทำใจรับน้ำแก้มลิง ชวนปชช.ตรวจสอบงบน้ำ3.5แสนล.
วันที่ 10 ต.ค. 55 ที่เคทีซีป๊อป ตึกสมัชชาวาณิช2 สุขุมวิท33 รายการเรื่องจริงผ่านจอร่วมกับสำนักข่าวไทยพับลิก้า จัดเสวนาในหัวข้อ “2012! 18 ภัยพิบัติความเสี่ยง...ที่คนไทยต้องเจอ” โดยนางสาววิไลพร ทวีลาภพันทอง จากบริษัทไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด เปิดเผยว่า จากสถิติการเกิดภัยพิบัติของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.)ในรอบ 10 ปี พบว่า18 ภัยพิบัติเสี่ยงที่คนไทยต้องเจอ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ภัยจากธรรมชาติที่ไม่อาจควบคุมได้ และภัยจากมนุษย์ โดยแจกแจงได้ดังนี้ 1.อุทกภัย(น้ำท่วม) ซึ่งเป็นภัยเสี่ยงอันดับ1ที่ระยะหลังมีความรุนแรงมากขึ้นและก่อให้เกิดมูลค่าความเสียหายทวีคูณ 2.ภัยจากดินโคลนถล่ม 3.วาตภัย 4.ภัยจากคลื่นสีนามิ 5.ภัยจากแผ่นดินไหวและอาคารถล่ม 6.ภัยแล้ง 7.ภัยหนาว 8.อัคคีภัย 9.ภัยจากไฟป่า
10.ภัยจากโรคระบาดในมนุษย์ 11.ภัยจากโรค แมลง สัตว์ ศัตรูพืชระบาด 12.ภัยจากโรคระบาดสัตว์และพืช 13.ภัยที่เกิดจากการรั่วไหลของสารเคมีและวัตถุอันตราย 14.ภัยจากเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นภัยรูปแบบใหม่ผ่านการสื่อสาร และการทำธุรกรรมในระบบอินเตอร์เน็ต 15.ภัยจากการคมนาคมและขนส่ง เช่น อุบัติเหตุต่างๆ 16.ภัยจากภาวะฉุกเฉินที่เป็นภัยร้ายแรงต่อประเทศ เช่น น้ำมันรั่วในทะเล 17.ภัยจากการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสี เช่นที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น และ18.ภัยจากการชุมนุมประท้วงและการก่อจลาจล เช่น เหตุการณ์ใน3จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอน แมเนจเมนท์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำกล่าวว่า ภายใน 90 ปี อุณหภูมิของโลกจะสูงขึ้น 2-4 องศา โดยกรุงเทพฯอาจมีอุณหภูมิสูงถึง 46 องศาเซลเซียส และมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นอีก 10-30 เซนติเมตร ซึ่งมีการวิเคราะห์ที่น่าเป็นห่วงว่าภัยธรรมชาติที่รุนแรงจะมีรอบความถี่เร็วยิ่งขึ้น เช่น น้ำท่วมในปี 54 เป็นภัยธรรมชาติที่มีความรุนแรงในรอบ 100 ปี แต่ต่อไปอาจเกิดถี่ขึ้นทุกๆ 4-6 ปีแทน ทั้งเนื่องมาจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้ปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นอีกร้อยละ 7 นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากการสร้างอาคารบ้านเรือนและนิคมอุตสาหกรรมขวางทางน้ำไหลผ่านในพื้นที่ลุ่ม เช่น บริเวณลาดกระบัง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการระบายน้ำด้วย อย่างไรก็ดีเมื่อเกิดภัยพิบัติภาครัฐควรมีระบบการแจ้งเตือนที่เข้าถึงประชาชนในพื้นที่ เช่น อาจมีการใช้ระบบเอสเอ็มเอสเตือนภัยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยตรง เป็นต้น
ทั้งนี้ประชาชนควรร่วมกันติดตามและตรวจสอบโครงการการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ งบประมาณ 3.5 แสนล้านของรัฐบาล ให้เป็นไปตามแผนที่ประกาศไว้ด้วย เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง
ด้านผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในการรับมือกับภัยพิบัติ หากประชาชนได้รับข้อมูลที่เพียงพอก็จะสามารถเตรียมการรับมืออย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยภาครัฐต้องส่งเสริมการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน ที่สำคัญคือต้องสื่อสารด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายสั้นและกระชับเพื่อป้องกันความสับสน ทั้งนี้ในการวางมาตรการรับมือกับภัยพิบัติ สังคมไทยควรตระหนักถึงปัจจัยทางวัฒนธรรมและความเชื่อของคนไทยด้วย เช่น เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมและประชาชนไม่ยอมอพยพไปยังศูนย์อพยพ รัฐบาลก็ควรปรับเปลี่ยนมาตรการให้ความช่วยเหลือให้เข้ากับทัศนคติของคน ขณะเดียวกันตัวประชาชนเองก็ต้องวางแผนการช่วยเหลือตนเองด้วย โดยควรเตรียมแผนรับมือไว้หลายๆแผนในกรณีที่ได้รับข้อมูลสองด้านซึ่งไม่ตรงกัน
ขณะที่นายมนตรี ชนะชัยวิบูลวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปภ. กล่าวว่า จากปัญหาภัยพิบัติที่ผ่านจะเห็นได้ว่าทรัพยากรและงบประมาณส่วนใหญ่ใช้ไปเพื่อการแก้ไขเยียวยาภายหลังเกิดเหตุการณ์เท่านั้นซึ่งทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณไปมาก จึงควรปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ด้วยการใช้งบประมาณเพื่อเตรียมการเพื่อป้องกันภัยพิบัติเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและนำเงินไปพัฒนาประเทศส่วนอื่นมากกว่า โดยขณะนี้ปภ.ได้เตรียมจัดตั้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแบบรวมศูนย์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภัยพิบัติได้โดยสะดวกและสามารถเตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายชวลิตให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการรับมือกับภาวะน้ำท่วมของเกษตรกรว่า เกษตรกรซึ่งอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมลุ่มต่ำซึ่งอาจเป็นพื้นที่แก้มลิง 2 ล้านไร่ ในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ภายในระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาลนั้นคงต้องยอมรับและเข้าใจถึงเหตุจำเป็นต่อการมีพื้นที่พักเก็บน้ำในยามที่เหมาะสม ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีมาตรการเยียวยาให้ โดยขณะนี้หลายจังหวัดอยู่ในระหว่างการกำหนดอย่างชัดเจนว่าพื้นที่ใดจำเป็นต้องเป็นพื้นที่แก้มลิง ซึ่งเกษตรกรควรติดตามข้อมูลข่าวสารและฟังคำแนะนำจากทางราชการอย่างต่อเนื่องเพื่อวางแผนการรับมือน้ำท่วมและปลูกพืชให้เหมาะสมตามระยะเวลาและการดำเนินนโยบายของรัฐต่อไป
ทั้งนี้พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในปัจจุบันนี้แบ่งเป็นระดับความเสี่ยงได้ 3 พื้นที่ คือ อันดับ 1 พื้นที่ลุ่มต่ำ(แก้มลิง) อันดับ 2 คือพื้นที่ที่นอกคันกั้นน้ำและอยู่บริเวณแม่น้ำสายหลักที่ใช้ในการระบายน้ำ และอันดับ3 พื้นที่เมืองใหญ่ซึ่งแม้ว่าจะมีระบบการป้องกันที่เข้มงวดจากรัฐบาล แต่ก็มักประสบกับปัญหาการระบายน้ำ ซึ่งหากฝนตกมา 60 มิลลิเมตร การระบายน้ำในเมืองใหญ่ต้องใช้เวลาถึง 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นต่อไป ทั้งนี้ประชาชนในเมืองสามารถมีส่วนช่วยได้ด้วยการไม่ทิ้งขยะลงท่อระบายน้ำ และใช้บ่อดักไขมันซึ่งราคาไม่แพงมากดักไขมันก่อนปล่อยน้ำทิ้งลงท่อ
ที่มาภาพ ::: http://bit.ly/Tg2V0I