ทีวีดิจิทัล กสทช.หวั่นถูกผูกขาด-นักวิชาการชี้เป็นโอกาสผลิตเนื้อหาใหม่ๆ
กสทช.หวั่นคนกุมโครงข่ายทีวีดาวเทียม -ดิจิทัลเป็นคน ๆ เดียวกัน ผูกขาด ไม่แข่งขัน ปชช.เสียประโยชน์ ขณะที่อ.นิเทศฯ มองเห็นโอกาสสร้างงาน เด็กจบใหม่ร่วมสร้างสรรค์เนื้อหา ผลิตรายการเติมเต็มช่องที่เพิ่มขึ้น
วันที่ 9 ตุลาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการ “เปิดโลกลานเกียร์” โดยมีการเสวนาวิชาการเรื่อง “การเตรียมความพร้อมการแพร่ภาพโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดิน”
ผศ.ณาณัฏฐ์ธัญ วงศ์บ้านดู่ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่มีจำนวนถึง 48 ช่องจะเป็นโอกาสอันดีให้เด็กจบใหม่ได้สร้างสรรค์เนื้อหา (content) เพราะต้องใช้คนจำนวนมากขึ้นในการผลิตเนื้อหามาเติมเต็มช่องที่เพิ่มขึ้น และเด็กจบใหม่ไม่จำเป็นต้องเข้ามาหางานที่กรุงเทพฯอีกต่อไป แต่สามารถผลิตรายการที่มีเนื้อหาจากท้องถิ่นของตัวเอง ทำให้รายการโทรทัศน์โดยรวมมีความหลากหลายมากขึ้น ส่งผลต่อคนดูให้ต้องปรับตัวเลือกรับเนื้อหาใหม่ ๆ อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญคือเมื่อรายการมีปริมาณมากขึ้น สุดท้ายคุณภาพจะเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันกับช่องอื่น ๆ
ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงการกำกับดูแลด้านจริยธรรมและเนื้อหาของโทรทัศน์ระบบดิจิทัลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า การเกิดขึ้นของโทรทัศน์ระบบดิจิทัลภาคพื้นดินในอนาคตจะเป็นคู่แข่งโดยตรงกับโทรทัศน์ดาวเทียม ถ้า กสทช.วางรากฐานกระตุ้นการแข่งขันทีวีดิจิทัลภาคพื้นดินได้ดี ส่วนหนึ่งจะทำให้ทีวีดาวเทียมค่อย ๆ อ่อนตัวหรือลดความนิยมลงไปเอง เว้นแต่ว่าคนที่ใหญ่ในธุรกิจทีวีดาวเทียมจะมาลงทุนทำทีวีดิจิทัลด้วย
"นี่เป็นโจทย์ใหญ่ของ กสทช. เพราะคนที่เป็นผู้ให้เช่าโครงข่ายทีวีดาวเทียมของประเทศไทยขณะนี้มีอยู่เพียงรายเดียวที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ การแข่งขันจะเกิดขึ้น เว้นแต่ว่าคนที่กุมโครงข่ายทีวีดาวเทียม กับโครงข่ายทีวีดิจิทัลจะเป็นคน ๆ เดียวกัน"
กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ในทางธุรกิจเราก็เห็นเป็นข่าวอยู่แล้วว่ากลุ่มทุนที่สนใจจะมาประมูลโครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ส่วนหนึ่งคือกลุ่มทุนเดียวกันกับที่ตอนนี้ทำทีวีดาวเทียมอยู่ และที่กำลังจะประมูล 3G ในอาทิตย์หน้า เพราะฉะนั้นเป็นไปได้มากว่าแม้ กสทช. อาจจะออกกฎอ่อนอย่างไร คนที่มีอำนาจทุนมากกว่าก็จะได้เปรียบ ดังนั้นฉากในอนาคตอาจเป็นไปได้ว่ากลุ่มทุนที่ได้สิทธิ์ทำโครงข่ายทีวีดาวเทียม กับคนที่จะทำโครงข่าย 3G ในอนาคต กับคนที่จะวางโครงข่ายทีวิดิจิทัลอาจจะเป็นคน ๆ เดียวกันหรือไม่ ทีวีดิจิทัลจึงเป็นด่านสุดท้าย
"ในความเห็นส่วนตัวเราอาจจำเป็นต้องออกเกณฑ์จำกัดการผูกขาดควบรวมกิจการ แต่อีกด้านอาจเป็นการกีดกันสิทธิ์ในการลงทุนหรือไม่ หรือบริษัทใหญ่เหล่านี้อาจจะแยกเป็นบริษัทย่อย ๆ ให้ตรงกับเกณฑ์ที่ กสทช.จะกำหนดในอนาคตเพื่อมาลงทุนในกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เขาจะทำได้ การที่เจ้าของเป็นคน ๆ เดียวกันผิดหรือไม่ แต่สุดท้ายถ้าสาธารณะได้ประโยชน์ จากราคาถูก บริการดี อาจจะไม่เป็นไร แต่ถ้านำไปสู่การไม่แข่งขัน และผูกขาด ประชาชนจะเสียประโยชน์"
นางสาวสุภิญญา กล่าวอีกว่า ทีวีดิจิทัลเป็นจุดบรรจบของวิศวกรรมกับการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สุดท้ายโครงข่ายโทรคมนาคมจะเป็นกระดูกสันหลังของทีวีดิจิทัลในอนาคต คนที่สำคัญมากก็คือคนที่จะได้เป็นผู้ให้บริการโครงข่าย ดังนั้น กสทช.จะต้องกำหนดเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาให้ดีที่สุด ถ้ากฎเกณฑ์แย่ จะกลายเป็นการผูกขาดทั้งระบบ
สำหรับโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลนั้น คณะกรรมการ กสท.ที่เป็นส่วนงานรับผิดชอบด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ได้สรุปจำนวนช่องรายการให้มีจำนวนทั้งสิ้น 48 ช่อง แบ่งเป็นช่องทีวีสำหรับกิจการบริการชุมชน 12 ช่อง กิจการบริการสาธารณะ 12 ช่อง กิจการประเภทบริการธุรกิจ 20 ช่อง และช่องรายการคุณภาพความคมชัดสูง (HDTV) 4 ช่อง หาก กสทช.เห็นชอบตามที่ กสท.เสนอ มติก็จะมีผลในทางนโยบายที่นำไปสู่การปฏิบัติ
และประมาณกันว่าช่วงปลายปี 2555 จะเริ่มมีการออกใบอนุญาตแก่ผ้ประกอบกิจการโครงข่าย และผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ประเภทกิจการบริการสาธารณะก่อน จากนั้นประมาณต้นปี 2556 จะเป็นการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการช่องรายการในประเภทบริการธุรกิจ.
ที่มาภาพ : http://bit.ly/RMUJIk