ฟิลิปปินส์ใกล้จบปัญหามินดาเนา แต่ไฟใต้ของเรายังไม่นับหนึ่ง
ข่าวรัฐบาลฟิลิปปินส์บรรลุข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้นกับกลุ่มแนวร่วมปลดปล่อยอิสลามิกโมโร หรือ "เอ็มไอแอลเอฟ" ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธเพื่อเรียกร้องสิทธิ "ปกครองตนเอง" ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานเกือบครึ่งศตวรรษ มีผู้คนต้องล้มตายนับแสนนั้น ถือเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ประเทศไทยถูก "เร่งแซง" จากชาติสมาชิกอาเซียนด้วยกัน และครั้งนี้เป็นเรื่องทางความมั่นคง
เพราะปัญหาชายแดนใต้ของไทยยังไปไม่ถึงไหน ฝ่ายความมั่นคงไทยยังสาละวนแก้เกม "ข่มขู่ให้หยุดงานวันศุกร์" กันอยู่เลย ทั้งๆ ที่เคยเกิดมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2548
ในช่วงที่มีกระแส "ประชาคมอาเซียน" รัฐบาลฟิลิปปินส์ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะต้องผลักดันการเจรจาสันติภาพให้บังเกิดผลโดยเร็วที่สุดก่อนการมาถึงของ "ประชาคมอาเซียน" ในปี 2558 เพื่อ "เปลี่ยนศัตรูให้เป็นมิตร" และใช้ศักยภาพของประเทศจากคนทุกกลุ่ม ทุกชาติพันธุ์ ทุกศาสนา เพื่อสร้างความแข็งแกร่งท่ามกลางกระแสการแข่งขันอันเชี่ยวกรากของโลกยุคปัจจุบัน
และ "ความมั่นคง" ก็เป็นหนึ่งในสามเสาหลักภายใต้กรอบความร่วมมือของประชาคมอาเซียน...
ข้อตกลงสันติภาพจะนำไปสู่การจัดตั้ง "เขตกึ่งปกครองตนเอง" ชื่อ "บังซาโมโร" บนเกาะมินดาเนาทางตอนใต้ของประเทศ แทนเขตปกครองตนเองเดิมที่ล้มเหลว ในขณะที่ "มินดาเนา" เป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรแร่ ทั้งทองคำ ทองแดง และเป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญที่สุดของประเทศ
การหยุดยิงเพื่อจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นธรรมเพื่อประชาชนและประเทศชาติ แล้วก้าวสู่ "ประชาคมอาเซียน" ไปด้วยกัน ย่อมดีกว่าการไล่ยิง ไล่ฆ่า หรือลอบวางระเบิดกันเป็นไหนๆ
นายมาร์วิก เลโอเนน นักเจรจาหัวหน้าคณะของรัฐบาลฟิลิปปินส์ กล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้ถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะมุ่งสู่สันติภาพว่า "เรามองไปข้างหน้าในทางที่ดีและอย่างระมัดระวัง เราหวังจะได้สัญญาสันติภาพในเร็ววันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะยิ่งเรามีสันติภาพเร็วเท่าไร ก็จะยิ่งเป็นผลดีแก่ประเทศชาติของเรามากขึ้นเท่านั้น"
แทบไม่เคยได้ยินคำพูดที่ส่อแสดงถึง "ความมุ่งมั่น" หรือการประกาศ "เป้าหมาย" ที่ผ่านการวางแผนมาเป็นอย่างดีเช่นนี้จากนักการเมืองไทย นอกจากชี้นิ้วด่ากันว่า "เอ็งนั่นแหละที่เลว"
ปัญหาชายแดนใต้ของเราจะว่าไปก็คล้ายคลึงกับทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ ระยะหลังผู้รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงมักชอบพูดว่าปัญหาแบบนี้ต้องใช้เวลา พร้อมกับอ้างว่าหลายประเทศต้องรอถึง 30-40 ปีหรือ 50 ปีกว่าจะแก้ได้ ขณะที่ปัญหาบ้านเรายังไม่ถึง 10 ปีเลย...ทำนองว่าจะรีบไปไหน
แต่ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ให้ดีจะพบว่า แท้ที่จริงแล้วปัญหาภาคใต้ของเราเกิดมาร่วมร้อยปี เอาแค่ "กบฏดุซงญอ" เมื่อปี 2491 ก็ผ่านมากว่า 64 ปีแล้ว หากนับอายุของขบวนการที่ตั้งขึ้นมาต่อสู้กับรัฐไทย แต่ละขบวนการก็มีอายุหลายสิบปี ผู้นำบางคนเสียชีวิตไปแล้ว (ด้วยโรคชรา) ฉะนั้นการไปมองตัดตอนเฉพาะตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อปี 2547 จึงเป็นแค่หลักคิดประเภท "ปลอบใจตัวเอง"
แต่หากเลือกนับเฉพาะปี 2547 ถึงปัจจุบัน ก็จะพบข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่า เราผ่านการแก้ปัญหามาแล้ว 9 ปีงบประมาณ ใช้เม็ดเงินไปร่วม 2 แสนล้านบาท ส่งกำลังพลลงพื้นที่กว่า 6 หมื่นนาย และยังมีกองกำลังประชาชนที่รัฐไปจัดตั้งไว้อีกหลายหมื่นนาย เราทุ่มเททรัพยากรต่างๆ ลงไปมากมาย แต่วันนี้ปัญหาการข่มขู่ให้หยุดทำงานวันศุกร์ ชาวบ้านยังเชื่อ "ผู้ก่อความไม่สงบ" มากกว่า "รัฐ" หวาดกลัวกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงมากกว่าจะเชื่อมั่นในความปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่รัฐจัดให้
ทั้งๆ ที่ความเชื่อมั่นคือก้าวแรกของการจัดการทุกปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความขัดแย้ง...
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตลอดเกือบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐไทยไม่เคยมี "นวัตกรรมทางนโยบาย" ใหม่ๆ อะไรเลยที่จะใช้ดึงมวลชนให้หันกลับมาสนับสนุนรัฐ นอกจากใช้กฎหมายพิเศษส่งกำลังพลลงไปเฝ้าสถานที่และอารักขาบุคคล อันเป็นยุทธวิธี "สงครามตามแบบ (เก่า)" เพื่อแย่งยึดพื้นที่ทางกายภาพ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามช่วงชิงพื้นที่ทางจิตใจของมวลชนไปหมดแล้ว แม้จะชิงไปโดยใช้ความหวาดกลัวเป็นเครื่องมือก็ตาม
ส่วนการพูดคยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐก็ดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่ต่อเนื่อง หลายเรื่องหลายกรณีถูกมองว่าเป็นการจัดฉากหรือช่วงชิงผลงานระหว่างหน่วยงานรัฐด้วยกันเองมากกว่าที่จะส่งสัญญาณสันติภาพ
หากลองถอดบทเรียนจากฟิลิปปินส์ดูก็จะรู้ว่าสิ่งที่ไทยทำในวันนี้ (ประกาศภาวะฉุกเฉิน และใช้กำลังทหาร) เพื่อนบ้านร่วมอาเซียนเขาทำมาหมดแล้ว และล้มเหลวไปหมดแล้วเช่นกัน ขณะที่การพูดคุยหรือเจรจาสันติภาพก็ล้มๆ ลุกๆ มาหลายรอบ กว่าจะเป็นรูปเป็นร่างในรอบนี้
ฉะนั้นเมื่อวันนี้ฟิลิปปินส์เปลี่ยนวิธีคิดใหม่แล้วประสบความสำเร็จ ก็ได้เวลาที่รัฐไทยต้องนับหนึ่งอย่างแท้จริงบ้างเพื่อแก้ปัญหาภาคใต้ ก่อนจะต้องรั้งท้ายในอาเซียนเพราะเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์ http://www.stks.or.th/blog/?p=15743
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์แกะรอย หน้าโฟกัส หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 ต.ค.2555 ด้วย