ดร.อรพินท์ เอี่ยมศิริ นักวิจัยลุ่มน้ำยม เชื่อครั้งนี้ “แก่งเสือเต้น” คนต้องการ !
"เขื่อนแก่งเสือเต้น มีศักยภาพ-ให้ผลประโยชน์สุทธิมาก
แม้ไม่ช่วยน้ำท่วมเท่าที่ควร แต่จะช่วยน้ำแล้งได้"
ก่อนที่จะมีการประกาศผลการคัดเลือกกรอบแนวคิด (conceptual plan) ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบของประเทศ และเห็นรูปร่างหน้าตาของโครงการทั้งที่ใช้สิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ซึ่งหมายรวมถึง โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่อย่าง "เขื่อนแก่งเสือเต้น" เพื่อบริหารจัดการลุ่มน้ำยม ตามที่มีการกล่าวอ้างกันตลอดมาว่า
ความที่ไม่มีเขื่อน จึงเป็น "จุดบอด" ของลุ่มน้ำยม...
ล่าสุด ความเป็นไปได้ที่จะมีการก่อสร้างเกือบ 100% แล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยม ของมหาวิทยาลัยมหิดล ตามที่กระทรวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ พร้อมๆ กับที่ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ. ) ก็ออกมาประกาศว่าจะเดินหน้าสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ในพื้นที่แม่น้ำยม โดยจะเริ่มกระบวนการก่อสร้างต้นเดือนเมษายนปีหน้า
เมื่อผลการศึกษาฉบับดังกล่าว กำลังจะถูกหยิบยกขึ้นมาใช้
เหตุนี้เอง ศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา จึงบุกไปถึงถิ่น มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เพื่อพูดคุยท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเองกับ รศ.ดร.อรพินท์ เอี่ยมศิริ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะผู้ศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยม ถึงที่มาที่ไปของผลการศึกษา
- ก่อนจะมาเป็น "ผลการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการน้ำลุ่มน้ำยม"
เดิมทีทำงานบรรยายให้บริษัทที่ปรึกษาฟังเกี่ยวกับการวิเคราะห์ระบบและจัดการลุ่มน้ำ เมื่อ ครม.มีมติผ่านกรมชลประทานติดต่อมา อีกทั้ง โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นโครงการในพระราชดำริ จึงรับทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของนโยบายดังกล่าว ในนามมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับงบประมาณในการลงไปศึกษาทั้งระบบลุ่มน้ำ 30 ล้านบาท เริ่มทำการศึกษาในเดือนกรกฎาคม 2552 มาเสร็จสิ้น เดือนมีนาคม 2554 และเข้า ครม.ในวันที่ 28 สิงหาคม 2555
"เราพยายามตอบโจทย์เรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำและตอบโจทย์นี้ ช่วงที่ทำก็เลยค่อนข้างหนัก เรียกได้ว่าหัวฟู (หัวเราะ)"
เนื่องจากได้ไกด์ไลน์จากคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆ กว่า 25 คน ที่ว่าจ้าง ก็ลงไปรับฟังความคิดเห็น ก่อนทำการศึกษา โดยได้แบ่งข้อเสนอออกเป็นข้อๆ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ตอบโจทย์ว่า หากเลือกข้อเสนอในแบบต่างๆ จะมีผลกระทบต่อความยั่งยืนอย่างไรบ้าง
- ช่วยเล่าบรรยากาศการลงพื้นที่ให้ฟังหน่อย
ตลอดระยะเวลา 2 เดือน ลงพื้นที่กว่า 20 เวที ตลอดต้นน้ำยันปลายน้ำของลุ่มน้ำยม ทั้งอธิบายและแจกเอกสาร ในวันแรกก็โดนด่า หาว่า เป็นมือปืนรับจ้างของกรมชลประทาน แต่ก็แก้ปัญหาโดยการนัดแกนนำมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน ให้คนทั้งลุ่มน้ำมีส่วนในการตัดสินใจ
หลังจากนั้นการพูดคุยก็ง่ายขึ้น คนในพื้นที่กว่า 90% เห็นด้วยให้คณะทำงานดำเนินการต่อ แต่ขอให้ทำอย่างรวดเร็ว จะได้แก้ปัญหา จึงได้ใช้กระบวนการตัดสินใจแบบเปรียบเทียบลำดับความสำคัญ เพื่อเลือกข้อเสนอทั้ง 4 แนวทาง ที่ใช้ได้ดีกว่าการโหวตเพียงอย่างเดียว
ท้ายที่สุด ผลการศึกษาสรุปออกมาเป็นข้อมูลและคะแนนตัวเลขทางวิชาการล้วนๆ ในแต่ละทางเลือกมีผลกระทบที่แตกต่างกันไป ซึ่งผลการศึกษาระบุไว้ชัดว่า หากลุ่มน้ำยมจะพัฒนาต่อไป ประเด็นสำคัญอยู่ที่ภาพรวมของความอยู่รอดทั้งหมด โดยต้องกำหนดประชากรที่อาศัยอยู่ว่าควรจะมีได้เท่าไหร่ โดยสอดคล้องกับทรัพยากรที่จะใช้และส่งออกด้วย
- บทสรุปของการศึกษา ออกมาเป็นอย่างไร กี่แนวทาง
ผลการศึกษา ที่ได้จากการลงไปในพื้นที่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม แบ่งออกเป็น 4 ทางเลือก ได้แก่
ทางเลือกที่ 1 การพัฒนาเฉพาะมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและการปรับปรุงประสิทธิภาพการชลประทาน เช่น การขุดลอก และกำจัดวัชพืช
ทางเลือกที่ 2 การพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง และมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง โดยพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ทั้งอ่างเก็บน้ำและฝาย/ประตูระบายน้ำตามลำน้ำยม รวมถึงการพัฒนาและจัดสรรน้ำโครงการขนาดเล็กในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก
ทางเลือกที่ 3 การพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแม่น้ำยม และเขื่อนแม่น้ำยมตอนบน
ทางเลือกที่ 4 มีการพัฒนาในมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและมาตรการใช้สิ่งก่อสร้าง ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางและแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนแก่งเสือเต้น
"แนวทางในทางเลือกที่ 4 เป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจที่สุด มีศักยภาพมากที่สุดและให้ผลประโยชน์สุทธิมากกว่าทางเลือกอื่นๆ ในส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่าสร้างเขื่อนเสือเต้นก็ไม่ได้อะไร ไม่ช่วยน้ำท่วมนั้น ก็มีส่วนจริง หากฝนตกตกด้านล่างก็เก็บน้ำไม่ได้ แต่ถ้าไม่สร้าง ช่วงหน้าแล้งก็จะไม่มีน้ำ ฉะนั้น แม้อาจไม่ได้ช่วยน้ำท่วมสักเท่าไหร่ แต่จะช่วยน้ำแล้งได้"
- ปัญหาที่แท้จริงของลุ่มน้ำยม และความจำเป็นในการมี "เขื่อน"
ที่ผ่านมาการศึกษาลุ่มน้ำยมยืดเยื้อมา 20-30 ปี ใช้เงินเป็นพันๆ ล้านบาท ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวมีคนอยู่เพียงไม่มาก และคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่โดยบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งผิดกฎหมายแต่แรก เรื่องนี้จะต้องพิจารณาให้ชัดเจน
ในทางกลับกัน พื้นที่ลุ่มน้ำยม คนด้านบนไม่มีน้ำใช้ แต่คนด้านล่างน้ำท่วมและน้ำแล้ง จึงเห็นควรว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นควรเกิดขึ้น
ปัจจุบันลุ่มน้ำยมมีความสามารถในการเก็บน้ำได้เพียง 10% เท่านั้น นอกนั้นปล่อยทิ้งและกลายเป็นปัญหา ทั้งนี้ ตลอด 2-3 ปีที่ทำการศึกษา พบว่า จำนวนผู้บุกรุกมาอาศัยเพิ่มขึ้น จาก 800 กว่า เป็น 1,000 กว่าครัวเรือน โดยไม่สามารถควบคุมอะไรได้ ประเทศชาติก็จะมีแต่สูญเสียไปเรื่อยๆ จึงควรมีการตัดสินใจอย่างยิ่ง
"ป่านนี้ถ้าเมืองไทยไม่มีเขื่อนเลย ถามว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร การพัฒนาแหล่งน้ำเป็นเรื่องจำเป็นของโลก ถ้าปล่อยน้ำทิ้งลงทะเลหมดก็จะไม่เหลือให้ทำอะไรได้ การมีเขื่อนก็เท่ากับได้น้ำ ซึ่งการได้น้ำย่อมดีกว่าได้ถนนอย่างแน่นอน"
- ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย ปชช.ยอมรับกว่าเขื่อนหรือไม่
เรื่องการบริหารจัดการน้ำ และการเก็บน้ำ จะทำอะไรได้มากและทำได้ดีไปกว่าการสร้างเขื่อน เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นได้คงจะเป็นเรื่องความปลอดภัย และการออกแบบให้ทันสมัยขึ้น รองรับรอยเลื่อนได้ แต่ไม่มีวิธีการเก็บน้ำวิธีไหนที่ดีไปกว่าเขื่อนอย่างแน่นอน
- บทบาทเอ็นจีโอ กับเสียงคัดค้าน
ในการลงพื้นที่ทำการสำรวจครั้งนี้ มีส่วนที่วิเคราะห์ถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ที่พบว่า ประชาชนในพื้นที่ให้ความสำคัญกับเอ็นจีโอน้อยลง ความเข้าใจเกี่ยวกับเอ็นจีโอยังมีน้อย โดยเมื่อนำคะแนนความสำคัญของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียไปคำนวณกับผลที่สรุปได้ บ่งชี้ว่า เอ็นจีโอแทบจะไม่มีความสำคัญกับคนในพื้นที่ในขณะนี้ (เน้นเสียง)
- ระบบบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานรัฐบาลไทยในขณะนี้สอดรับกับแผนบริหารจัดการน้ำหรือไม่ อย่างไร
การบริหารจัดการน้ำในปัจจุบันในภาพรวมปรับตัวดีขึ้น หน่วยงานต่างๆ จากเดิมที่แยกส่วน ขณะนี้เริ่มรวมหน่วยงานกันแล้ว คนของกรมชลประทานก็มีประสิทธิภาพดี ทั้งนี้ อยากให้กระบวนการสร้างนโยบายของรัฐบาลทุกนโยบายมีกระบวนการในการจัดทำเช่นเดียวกับโครงการนี้ ที่มาจากความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อให้จับต้องได้ เป็นที่ยอมรับและนักการเมืองล้วงลูกไม่ได้
- ผลการศึกษาฉบับนี้ ตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างไร
แม้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะมีดัชนีชี้วัดเรื่องความความสุขของประชาชนอยู่แล้ว แต่คนจะมีความสุขที่ยั่งยืนได้นั้น ต้องมีกินอย่างพอเพียง มีการผลิตที่สอดคล้องกับการบริโภค รู้จำนวนประชาชน พื้นที่ในการผลิตอาหาร เพื่อจะควบคุมทรัพยากรที่มีอยู่และตอบโจทย์ความยั่งยืนของลุ่มน้ำยมได้
ซึ่งตัวเลขก็บ่งชี้ว่า ปัจจุบันนี้ขาดน้ำ การประมงลดน้อยลง อาหารปลามีน้อย หมายความว่า เมื่อสิ่งแวดล้อมไม่ดี สภาพสังคมและเศรษฐกิจของคนก็ไม่เกิด ดังนั้น จากนี้ไปมีความจำเป็นที่ต้องสร้างระบบให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง เพราะหากต้องนำเข้าหรือใช้เงินเพียงอย่างเดียวไทยก็อาจซ้ำรอยกรีซได้
"แม้ว่าทางเลือกที่ 4 โครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะเป็นที่สนใจมากที่สุด แต่ยอมรับว่าก็ส่งผลกระทบต่อปัจจัยทางระบบนิเวศมากที่สุดในบรรดา 4 ทางเลือก เนื่องจากกินพื้นที่ป่าไม้มาก
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทางเลือกนี้ไม่ควรใช้ หรือไม่ควรจะสร้าง เพราะหากนำดัชนีตัวนี้ไปลิงค์กับความยั่งยืน กลับพบว่า ไม่ได้ทำให้ระบบนิเวศของลุ่มน้ำยมเสียหาย ความสามารถในการรองรับกิจกรรมทั้งหมดของมนุษย์ ก็ยังพอเพียง มีทรัพยากรที่พอจะเลี้ยงดูคนได้ เรื่องผลกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อมจึงถูกตัดออกไป ในทางกลับกัน ถ้าเรามีน้ำเพิ่มขึ้น จะช่วยทำให้ขยายพื้นที่ป่า และเพิ่มอาหารได้"
- คิดอย่างไรกับสูญเสีย "ไม้สักทองผืนสุดท้าย" เพื่อแลกกับ "เขื่อน"
(ตอบทันที) "อาจารย์ไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อมประเภท สายลม แสงแดด นะ"
อาจารย์บอกเด็กที่เข้ามาเรียนเสมอว่า จบที่นี่ไปแล้วอย่าไปเป็นหัวหน้าม็อบ ทุกอย่างมีเหตุผล การแก้ปัญหาต้อง on table ดังนั้น อาจารย์จึงมองที่ความอยู่รอดของสังคมโดยรวมเป็นหลัก อย่าโทษป่าและอย่าโทษว่าเขื่อนไม่ดี สร้างเขื่อนแล้วมีการตัดป่ามากขึ้น อาจารย์มองว่าทุกอย่างอยู่ที่การบริหารจัดการ
ส่วนเรื่องป่าไม้ คณะทำงานก็ให้น้ำหนักสูงเมื่อเทียบกับทรัพยากรอื่นๆ แต่ก็มั่นใจว่า ไม่ได้ทำให้ระบบเสีย อาจารย์เองก็นักสิ่งแวดล้อม ก็อยากกลับเหมือนกันว่า ป่านี่ปลูกใหม่ไม่ได้หรือยังไง??
"เรื่องการชดเชยก็เป็นกรรมวิธีหนึ่งของการเยียวยาและบรรเทาปัญหา ในพื้นที่ที่ปล่อยให้ต้นไม้ตายไปหรือปล่อยให้ใครลักลอบเข้ามาตัดไม่เห็นมีใครพูดถึง สำหรับป่าสักทองผืนสุดท้าย ก็คงไม่ใช่ผืนสุดท้าย เราสามารถขนย้ายไปปลูกที่อื่นได้"
- ท้ายที่สุด "เขื่อนแก่งเสือเต้น" จะเข้าสู่วงเวียนเดิม ที่ยืดเยื้อหรือไม่ หรือจะแตกต่างอย่างไร
(ตอบทันที ) ครั้งนี้จะต้องแตกต่าง ครั้งนี้จะต้องได้สร้างอะไรสักอย่าง ค่อนข้างมั่นใจว่า จะเป็นการศึกษาครั้งสุดท้ายของลุ่มน้ำยม และเขื่อนแก่งเสือเต้นน่าจะเกิดขึ้นได้...
"รัฐบาลควรฟันธง ควรตัดสินใจได้แล้ว ไม่ใช่เพียงรับทราบ ประเทศชาติเสียหายมาเยอะแล้ว หากทางเลือกนี้ประชาชนและหลายฝ่ายก็เห็นด้วย เนื่องจากใช้งบประมาณน้อยกว่าและคุ้มค่ากว่าแนวทางเลือกอื่นๆ ส่วนกลุ่มผู้ต่อต้านหรือม็อบ ต้องบอกว่าเรายอมให้คนพวกนี้อยู่แบบใช้อำนาจมารอนสิทธิ์ผู้อื่น ปล่อยให้น้ำท่วม น้ำแล้งมานาน และสิ่งเหล่าต้องแก้ด้วยการบริหารจัดการน้ำ"
- ดูจากวงในแล้ว ผู้หลัก-ผู้ใหญ่ ที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจกับทางเลือกข้อใดเป็นพิเศษ
ค่อนข้างชัดเจนว่า แนวโน้มข้อ 4 "เขื่อนแก่งเสือเต้น" มีแต่คนต้องการ !!!
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : หวั่นเงินละลายไปกับน้ำท่วม-น้ำแล้ง นักวิชาการ เร่งรัฐทุบโต๊ะตัดสินใจ ลุ่มน้ำยม